กรุงเทพฯ--24 ก.ย.--โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ สถาบันอาหาร ชี้ตลาดอุตสาหกรรมอาหาร ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และสหพันธ-รัฐรัสเซีย มีการขยายตัวและเติบโตสูง แนวโน้มส่งออกอาหารไทยสดใส ระบุรัสเซียเป็นตลาดใหม่ของสินค้าอาหารแปรรูป ชูจุดแข็งประเทศไทยได้เปรียบคู่แข่งหลายด้าน ทั้งศักยภาพของผู้ผลิต คุณภาพ สินค้า โดยเฉพาะการที่รัสเซียมุ่งใช้ไทยเป็นฐานเข้าสู่อาเซียน เอื้อศักยภาพการทำตลาดของผู้ประกอบการไทยยิ่งขึ้น พร้อมแนะผู้ประกอบไทยเร่งปรับตัวศึกษาข้อมูลด้านการตลาดรอบด้าน ทั้งพฤติกรรม ผู้บริโภค แนวโน้มตลาดของสินค้าต่างๆ และกฎระเบียบการนำเข้า ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยถึงการจัดเสวนาเรื่อง “เปิดมุมมองใหม่ ธุรกิจอาหารในตลาด UAE และ รัสเซีย” ว่า สถาบันอาหารมีหน้าที่สร้างระบบชี้นำเสนอแนะมาตรการรองรับ และให้ข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหาร ตลอดจนเสริมสร้างความเข้มแข็งของภาคอุตสาหกรรม และตระหนักถึงความจำเป็นของการส่งออกและขยายตัวการผลิตอุตสาหกรรมอาหารไทย จึงได้จัดงานเสวนานี้ขึ้น เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และมุมมองในการผลิตให้สอดคล้องต่อความต้องการของผู้บริโภค การปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ โดยเฉพาะการผลิตให้ได้มาตรฐานสากล โดยในการเสวนาครั้งนี้จะเป็นการเผยแพร่ข้อมูลเชิงลึกที่เป็นประโยชน์ต่อการขยายตลาดอุตสาหกรรมอาหารของไทยในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และ รัสเซีย ทั้งในเรื่องความต้องการสินค้าและแนวโน้มสินค้าอาหารของตลาด รวมถึงช่องทางการค้าและโอกาสของสินค้าไทยในตลาดทั้ง 2 ประเทศ “จากข้อมูลของศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร สถาบันอาหาร พบว่าการค้าอาหารในกลุ่ม UAE มีการนำเข้ามากกว่าการส่งออก และยังคงมีแนวโน้มความต้องการสินค้าอาหารเพิ่มสูงขึ้นเป็นทวีคูณในปี 2543-2547 โดยสินค้าอาหารประมาณ 75 - 80% ยังคงพึ่งพาการนำเข้า ส่วนใหญ่มาจากยุโรป เอเชีย และสหรัฐอเมริกา โดยในปี 2549 ประเทศไทยส่งออกสินค้าอาหารไปยัง UAE มีมูลค่าประมาณ 3,276 ล้านบาท สำหรับในช่วง 7 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ค.) ของปี 2550 นี้การส่งออกสินค้าอาหารจากไทยไป UAE มีมูลค่าประมาณ 2,748 ล้านบาท โดยสินค้า 3 อันดับแรกที่ไทยส่งออกสูงสุดคือ น้ำตาลทรายบริสุทธิ์, ปลาทูน่าบรรจุภาชนะที่อากาศผ่านเข้าออกไม่ได้ และข้าวเจ้าขาวหอมมะลิไทย 100% ตามลำดับ ในขณะที่ประเทศรัสเซีย เป็นตลาดที่เปิดการค้าแบบเสรี และเป็นตลาดใหม่ของสินค้าอาหารแปรรูปที่มีอนาคตสดใส เนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคชาวรัสเซีย หันมานิยมซื้อสินค้าที่สะดวกต่อการบริโภคมากขึ้น ประเภทอาหารพร้อมบริโภคที่วางขายมีตั้งแต่กลุ่มอาหารแช่เย็นแช่แข็ง อาหารพร้อมปรุงที่จัดเป็นชุด ซึ่งส่วนใหญ่จะวางขายในโมเดิร์นเทรด ต่างๆ ทั้งซูเปอร์มาร์เก็ต, ไฮเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อ ซึ่งส่งผลดีกับการกระจายสินค้าเข้าไปขายในรัสเซีย โดยเน้นเรื่องของความสะอาด และบรรจุภัณฑ์อาหาร สำหรับในภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารของรัสเซียมีการใช้วัตถุดิบนำเข้าถึง 46% ได้แก่ เนื้อสัตว์, ผลิตภัณฑ์นม, ผลไม้, ผัก, ถั่ว, น้ำตาล, ปลา และน้ำมันพืช เป็นต้น มีมูลค่านำเข้ามากกว่า 6 พันล้านเหรียญสหรัฐต่อปี โดยรัสเซียมีสัดส่วนการนำเข้าสินค้าอาหารจากประเทศไทยเพียง 1% สำหรับในปี 2549 ไทยส่งออกสินค้าอาหารไปยังรัสเซียมูลค่าราว 5,223 ล้านบาท สำหรับในช่วง 7 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ค.) ของปี 2550 นี้การส่งออกสินค้าอาหารจากไทยไปรัสเซีย มีมูลค่าประมาณ 3,936 ล้านบาท และสินค้า 3 อันดับแรกที่ไทยส่งออกสูงสุดคือ น้ำตาลที่ได้จากอ้อย, กุ้งขาวแช่เย็นจนแข็ง และสับปะรดบรรจุภาชนะที่อากาศผ่านเข้าออกไม่ได้ ตามลำดับ” ดร.ยุทธศักดิ์ กล่าว ตลาดสินค้าอาหารของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือตลาดในประเทศมี สัดส่วนประมาณ 25-30% ที่เหลือเป็นตลาดส่งออกต่อ (Re-export) มีรัฐดูไบเป็นศูนย์กลางการค้าและกระจาย สินค้า มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 15 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี (จากมูลค่าการนำเข้า 43.3 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ) และมูลค่าการส่งออกต่อปี 2548 ประมาณ 63 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่กำลังเติบโตส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่ม ผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ คาดการณ์ว่าการบริโภคอาหารของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จะเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยว และประชากรของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยในปี 2549 สหรัฐอาหรับ เอมิเรตส์ มีประชากรประมาณ 4.83 ล้านคน และในปี 2554 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 6.88 ล้านคน และที่สำคัญ รายได้ของประเทศมีการเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้การเข้ามาลงทุนของต่างชาติเพิ่มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ทำให้แนวโน้มตลาดอาหารและเครื่องดื่มของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นไปในทิศทางที่ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไปในอนาคต และเป็นไปในทิศทางที่หลากหลายมากขึ้น พร้อมทั้งการพัฒนาสินค้าอาหารและเครื่องดื่มในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จะเป็นสินค้าที่มีมูลค่าและคุณภาพในระดับพรีเมี่ยม อย่างไรก็ตาม สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ยังคงพึ่งพาการนำเข้าสินค้าอาหารและเครื่องดื่มจากต่างประเทศเป็นสำคัญ เนื่องจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีปริมาณผลิตผลทางการเกษตรไม่มากนัก จะมีมากเฉพาะ อุตสาหกรรมที่รัฐบาลได้ให้การสนับสนุนเพื่อรองรับความต้องการภายในประเทศ ในส่วนของอุตสาหกรรมอาหารในรัสเซียมีอัตราการเติบโต โดยเฉลี่ยร้อยละ 15 - 20 ต่อปี มูลค่าการขายสินค้าอาหารในรัสเซีย พบว่าสินค้าอาหารทุกชนิดมีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มที่มีแนวโน้มเติบโตสูง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ทดแทนอาหาร, กลุ่มอาหารแปรรูปแช่เย็น, อาหารพร้อมบริโภค และอาหารเด็กจากตัวเลขยอดขายปลีกสินค้าอาหารในรัสเซีย พบว่าสินค้าอาหารที่มียอดขายมากที่สุด คือ อาหาร แปรรูปแช่เย็น มียอดขายถึง 348 พันล้านรูเบิล รองลงมาได้แก่ ผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ และผลิตภัณฑ์ขนมหวานประเภทลูกกวาด มียอดขาย 211 และ 202 พันล้านรูเบิลตามลำดับ สำหรับสินค้าอาหารที่มีอัตราการเติบโตสูง ได้แก่ สินค้าประเภทขนมคบเคี้ยว, ของทานเล่นชนิดแท่ง และอาหารพร้อมรับประทาน นอกจากนี้ยังพบว่า ผลิตภัณฑ์ประมงประเภท Fish snack กำลังได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในกลุ่มคนรุ่นใหม่ เนื่องจากภาพลักษณ์ความเป็นอาหารเพื่อสุขภาพของผลิตภัณฑ์ประมง รูปแบบผลิตภัณฑ์ที่ดึงดูดใจผู้บริโภค โดยราคา Fish snack ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับขนมขบเคี้ยวประเภทอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเรื่องราคาไม่ใช่อุปสรรคสำหรับผู้บริโภค รัสเซีย เนื่องจากผู้บริโภครัสเซียมีกำลังซื้อและให้ความสำคัญกับเรื่องคุณภาพมากกว่า นายมโนรถ กุศลศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูนิแม็กซ์เน็ต จำกัด เผยว่า ประเทศรัสเซียนับเป็นประเทศที่มีกำลังซื้อสูงและมีทรัพยากรเป็นอันดับ 1 ของโลก ขณะที่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ก็เป็นศูนย์กลางในการกระจายสินค้าไปยังประเทศอื่นๆ ดร.รมย์ ภิรมนตรี ผู้อำนวยการโครงการรัสเซียศึกษา คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่าปัจจุบันการไปเปิดตลาดของนักธุรกิจไทยในรัสเซียเริ่มมากขึ้น โดยแยกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ ที่ใช้วิธีการเข้าไปลงทุนในพื้นที่ และนักธุรกิจรายย่อยที่ใช้วิธีส่งออก ซึ่งต้องหาคู่ค้าที่ดีและสร้างความเชื่อมั่นได้ ธุรกิจที่มีอนาคตสูงในรัสเซียเป็นธุรกิจบริการ โดยเฉพาะหากทำครบวงจร นวด สปา อาหาร ซึ่งปัจจุบันได้รับความนิยมมากและไม่มีคู่แข่ง นับว่าเป็นโอกาสดีของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหาร ที่ได้มีการเตรียมพร้อมสำหรับการแข่งขัน มีมุมมองในการผลิตให้สอดคล้องต่อความต้องการของผู้บริโภค โดยเฉพาะการผลิตให้ได้มาตรฐานสากล และมี ลู่ทางในการทำตลาดใหม่ๆ ที่มีอนาคต ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน รายละเอียดเพิ่มเติม : บริษัท โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด สุขกมล งามสม โทร. 0 2691 6302-4, 0 2274 4961-2, 0 89484 9894