เดินหน้าหาแนวทาง บริหารจัดการป่าพรุโต๊ะแดงเพื่อความยั่งยืน

ข่าวทั่วไป Wednesday May 23, 2018 10:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 พ.ค.--สำนักงาน กปร. พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงห่วงใยปัญหาทรัพยากรธรรมชาติซึ่งแต่ละพื้นที่มีปัญหาที่แตกต่างกัน "ป่าพรุโต๊ะแดง" เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ซึ่งเป็นป่าพรุผืนใหญ่ที่ยังความสมบูรณ์ด้วยความหลากหลายทางชีวภาพโดยเฉพาะเป็นแหล่งพันธุกรรมของพรรณไม้ต่างๆ รวมทั้งยังเป็นที่อาศัยของสัตว์ป่านานาชนิด และที่สำคัญยังอำนวยประโยชน์ให้กับมนุษย์ในการหล่อเลี้ยงชีวิต ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผืนป่าพรุถูกบุกรุกและทำลายลง ปัญหาต่างๆ จึงตามมาโดยเฉพาะการเกิดไฟป่า ด้วยเหตุนี้จึงได้พระราชทานพระราชดำริในหลายวโรกาสเกี่ยวกับการดูแลรักษาป่าพรุโต๊ะแดง และแนวทางแก้ไขปัญหาต่างๆ เพื่อรักษาความสมบูรณ์ของผืนป่าพรุให้คงอยู่และสร้างประโยชน์ให้กับราษฎรต่อไป ดังนั้นเพื่อสืบสาน รักษา ต่อยอด การพัฒนาตามแนวพระราชดำริให้เกิดความยั่งยืน สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) จึงร่วมกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส จัดประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ การบริหารจัดการป่าพรุโต๊ะแดง ครั้งที่ 1 ขึ้น ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส ที่ผ่านมา โอกาสนี้ นายลลิต ถนอมสิงห์ รองเลขาธิการ กปร. เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดการสัมมนาครั้งนี้ว่า โครงการป่าพรุโต๊ะแดงนั้นก่อเกิดจากที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 มีพระราชกระแสรับสั่งกับส่วนงานที่เกี่ยวข้องให้ดูแล รักษาป่าพรุแห่งนี้เอาไว้ เพราะเป็นผืนป่าที่สำคัญของจังหวัดนราธิวาส และเป็นป่ารูปแบบหนึ่งที่ปัจจุบันมีจำนวนน้อยในประเทศไทย พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณที่จะให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาป่าและใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่า ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปีที่พระองค์ทรงสนพระทัยและดูแล ตลอดจนถึงการพระราชทานคำแนะนำในการพัฒนาป่าพรุแห่งนี้แก่หน่วยงานต่างๆ สืบมาและสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ได้พระราชทานพระราโชบายเกี่ยวกับการดำเนินงานในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 ในเรื่องการสืบสาน รักษา และต่อยอดในงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งโครงการป่าพรุโต๊ะแดงก็เป็นโครงการหนึ่งซึ่งจะต้องดำเนินการในการสืบสานเอาไว้ ด้วยการดำเนินงานที่ยังค้างอยู่ให้แล้วเสร็จ โดยเฉพาะการอนุรักษ์ปกป้องผืนป่า ซึ่งมีหลายประเด็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้กำหนดเป็นแผนงานและนโยบายในการดำเนินงาน ซึ่งจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จ เพื่อประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติโดยภาครวมสืบไป ซึ่งกว่า 30 ปีของการดูแลและพัฒนาป่าพรุโต๊ะแดงมีความคืบหน้าได้ดีมาอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญทำให้ประชาชนในพื้นที่มีความเข้าใจในความสำคัญของการมีป่าพรุ และในการจัดงานสัมนาครั้งนี้ก็มีวัตุประสงค์ในเรื่องการบริหารจัดการป่าพรุในระยะต่อไปที่จะเน้นการให้ความสำคัญต่อความร่วมมือจากชุมชน โดยให้ประชาชนที่อยู่โดยรอบพื้นที่ป่าพรุเข้ามามีส่วนร่วมในการดูแลปกป้องรักษาให้ป่ามีความสมบูรณ์สืบต่อไป ในการสัมนามีบุคลากรจากภาคส่วนต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ตลอดถึงประชาชนในพื้นที่ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินงานเข้าร่วมสัมมนา โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่ที่จะได้มีโอกาสในการแสดงความคิดเห็น และเสนอแนะแนวทางในการดำเนินการ เพื่อแก้ไขปัญหาในการบริหารจัดการพื้นที่ป่า พร้อมร่วมปกป้องรักษาป่าผืนนี้ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ "การจัดสัมนากำหนดจัดขึ้น 3 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 เกี่ยวกับเรื่องบทบาทของส่วนราชการ ซึ่งแต่ละส่วนงานที่เกี่ยวข้องจะชี้แจงว่าได้ทำอะไรไปบ้าง ผลสำเร็จเป็นอย่างไร และแนวทางในการบริหารจัดการต่อไปเป็นอย่างไร ครั้งที่ 2 เป็นเรื่องการแสดงความเห็นของประชาชน ต่อแนวทางในการพัฒนาพื้นที่ป่าพรุ แบบประชาชนมีส่วนร่วม และได้รับประโยชน์ โดยที่ไม่ก่อเกิดความเสียหายต่อพื้นที่ป่า ก็จะเป็นการรับฟังความคิดเห็นพร้อมข้อเสนอแนะจากประชาชนผู้มีส่วนได้ ส่วนเสีย และครั้งที่ 3 จะเป็นการหาแนวทางร่วมกันระหว่างส่วนงานราชการที่เกี่ยวข้องกับประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการพัฒนาป่าพรุแห่งนี้ และผลที่ออกมาก็จะเป็นฉันทานุมัติ ในแนวทางและวิธีการ ตลอดถึงนโยบายในการดูแลรักษา และพัฒนาป่าพรุโต๊ะแดงแบบบูรณาการ ที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมตามวัตถุประสงค์ของการสัมมนาต่อไป" นายลลิต ถนอมสิงห์ รองเลขาธิการ กปร. กล่าวทางด้าน นายมาเณศ บุณยานันต์ หัวหน้าศูนวิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสรินธร เปิดเผยว่า ศูนย์ฯมีหน้าที่ดูแลและสร้างจิตสำนึกกับพี่น้องประชาชน ให้รักและหวงแหนในป่าพรุแห่งนี้ โดยใช้วิธีตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริให้ทำงานร่วมกันกับส่วนต่างๆ ในเชิงบูรณาการ ซึ่งทำให้เกิดผลสำเร็จทำให้ง่ายต่อการดูแลป่าพรุโต๊ะแดง ในหลากหลายมิติในส่วนที่ทางศูนย์ฯ รับผิดชอบคือการสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชนให้เกิดความรักและหวงแหนในทรัพยากรของป่าพรุที่มีเพียงหนึ่งเดียวของประเทศไทย ตามข้อบัญญัติที่ว่า "พรุโต๊ะแดง ป่าเดียว น้ำเดียวในแดนดิน" นายมาเณศ บุณยานันต์ กล่าว ป่าพรุโต๊ะแดง จังหวัดนราธิวาส เป็นป่าพรุที่มีเนื้อที่มากที่สุดที่ยังคงเหลืออยู่ในประเทศไทย เนื้อที่ของป่ามีความกว้างประมาณ 8 กิโลเมตร ยาวประมาณ 28 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ อำเภอตากใบ อำเภอสุไหงปาดีอำเภอสุไหงโก-ลก อำเภอเจาะไอร้อง และอำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาส คิดเป็นเนื้อที่กว่า 125,625 ไร่ มีแหล่งน้ำสำคัญ 3 สายไหลผ่าน คือ แม่น้ำบางนรา คลองสุไหงปาดี และคลองโต๊ะแดง ป่าแห่งนี้เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์ป่าหลากหลายชนิด ซึ่งหลายชนิดปัจจุบันอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์ และพื้นที่รอบๆ ป่าก็เป็นพื้นที่เพาะปลูกข้าว ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และผลไม้ประจำถิ่นต่างๆ มากมาย ศูนย์วิจัยและศึกษาธรรมชาติป่าพรุสิรินธร ตั้งอยู่ที่ตำบลปาเสมัส อำเภอสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ที่ทำหน้าที่ศึกษา ค้นคว้า ทดลอง วิจัย และสำรวจหาข้อมูลทางวิชาการเกี่ยวกับป่าพรุมาใช้ในการอนุรักษ์ ฟื้นฟูรวมทั้งสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรป่าพรุให้เกิดความยั่งยืนต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ