ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ชี้การล็อบบี้ในไทย “ควรสร้างความเข้าใจ-พัฒนากฎหมายรองรับ”

ข่าวทั่วไป Monday May 28, 2018 15:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 พ.ค.--มหาวิทยาลัยรามคำแหง อดีตรองนายกรัฐมนตรี ชี้การล็อบบี้ในประเทศไทย ควรสร้างความเข้าใจและพัฒนากฎหมายรองรับ ขณะที่อธิการบดีม.รามคำแหง หวังพัฒนาหลักสูตรการเจรจาต่อรองและการล็อบบี้ เพื่อสร้างทักษะการเจรจาต่อรองให้แก่บุคคลที่ต้องปฏิบัติหน้าที่ด้านการประสานงาน มุ่งสู่มิติใหม่ของสังคมไทยที่โปร่งใสอย่างแท้จริง ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ประธานคณะมนตรีเพื่อสันติภาพและความปรองดองแห่งเอเชีย ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "การล็อบบี้กับกระบวนการสร้างนโยบาย" ในพิธีเปิดการอบรมหลักสูตร "การเจรจาต่อรองและการล็อบบี้" รุ่นที่ 1 จัดโดยศูนย์ศึกษาสิทธิมนุษยชน ความขัดแย้งและสันติภาพ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นประธานเปิดงาน และมีผู้เข้าร่วมอบรมทั้งสิ้น จำนวน 80 คน เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2561 ณ ห้องประชุมชั้น 12 อาคารศรีศรัทธา มหาวิทยาลัยรามคำแหง หัวหมาก โอกาสนี้ ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย กล่าวว่า หลายประเทศที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย การล็อบบี้ คือการเจรจาโน้มน้าว ต่อรอง เพื่อให้มีผลต่อการกำหนดนโยบาย ลดความขัดแย้ง สร้างความเข้าใจ และก่อให้เกิดสันติภาพ ด้วยกระบวนการโดยชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งสังคมไทยปัจจุบันมีความตื่นรู้เกี่ยวกับสังคมบ้านเมืองมากขึ้น ขณะที่รัฐธรรมนูญก็ได้เปิดกว้างสำหรับการแสดงความคิดเห็นของทุกฝ่ายที่มีความเกี่ยวข้องถึงผู้กำหนดนโยบาย "เมื่อสังคมไทยมีกรอบกฎหมายรองรับการล็อบบี้ เราทุกคนในฐานะพลเมืองต้องช่วยกันคนละไม้ คนละมือในการพัฒนาระบบกฎหมายให้การล็อบบี้เป็นไปในทางที่ถูกต้อง มีการบันทึกทางวิทยาศาสตร์ถึงผลลัพธ์จากการล็อบบี้ทั้งเห็นด้วย และไม่เห็นด้วยกับการเจรจาต่อรอง และควรมีการตีพิมพ์เพื่อเผยแพร่ให้สาธารณชนสามารถตรวจสอบได้" ด้าน ผศ.วุฒิศักดิ์ ลาภเจริญทรัพย์ อธิการบดี ม.ร. กล่าวว่า มหาวิทยาลัยรามคำแหง มุ่งหวังให้หลักสูตร "การเจรจาต่อรองและการล็อบบี้" เป็นหลักสูตรที่เปิดมิติใหม่ให้กับสังคมไทย เพราะการล็อบบี้ถือเป็นสิ่งปกติที่เกิดขึ้นทุกวัน ทั้งในชีวิตประจำวัน กิจการสาธารณะ และปัญหาต่างๆระหว่างประเทศ โดยในต่างประเทศการล็อบบี้ มีกฎหมายกำกับดูแล เพื่อให้ทุกสิ่งอย่างในการล็อบบี้เป็นไปในทางบวกและลดการคอรัปชั่น แต่ในประเทศไทย ยังคงมองว่าเป็นการติดสินบนและไม่ถูกกฎหมาย ฉะนั้น หลักสูตรที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง เปิดอบรมในครั้งนี้ เพื่อต้องการให้คนในสังคมไทยได้ตระหนักถึงเรื่องการเจรจาต่อรองและการล็อบบี้ว่าควรทำกันอย่างเปิดเผยและยอมรับในความจริงที่ว่า "การพูดคุย เจรจาต่อรอง และการโน้มน้าวใจ เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทุกวัน" "หลักสูตรนี้จะช่วยฝึกอบรมถึงกระบวนการและวิธีต่างๆ ที่จะทำให้การเจรจาต่อรองไปสู่ข้อตกลงที่เป็นประโยชน์สำหรับตนเอง สังคม และประเทศชาติโดยส่วนรวม และหวังอย่างยิ่งว่าการเจรจาต่อรองต่างๆ จะมีกระบวนการที่ชัดเจน มีกฎหมายเข้ามารองรับ เพื่อทำให้ทุกส่วนได้มีส่วนร่วมทำให้เกิดกลไกที่ดี ซึ่งจะทำให้สังคมไทยมีสันติสุขและสามารถนำไปสู่ความโปร่งใสได้อย่างแท้จริง" รศ.อนงค์ทิพย์ เอกแสงศรี คณบดีคณะรัฐศาสตร์ ม.ร. กล่าวว่า คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เห็นความสำคัญในการสร้างความเข้าใจในหลักการและบทบาทที่แท้จริงของการล็อบบี้ ทั้งในกระบวนการทางการเมือง นโยบายสาธารณะ และการกำหนดทิศทางสำหรับการบริหารงานภาครัฐ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ปรากฏโดยทั่วไปในต่างประเทศ แต่ในประเทศไทยกลับมีมุมมองเชิงลบต่อการล็อบบี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อหลักการแท้จริงของการล็อบบี้ จึงได้จัดการอบรมหลักสูตรนี้ขึ้นทั้งในเชิงทฤษฎีแลการปฏิบัติ โดยเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ของผู้ดำเนินการจริงในสาขาต่างๆ เพื่อให้ผู้เข้าอบรมเกิดทักษะในการเจรจาต่อรองและการล็อบบี้ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในบริบทของการปฏิบัติงานในด้านต่างๆ และพร้อมเผชิญหน้ากับการแข่งขันและการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นมากมายในโลกปัจจุบัน "หลักสูตร "การเจรจาต่อรองและการล็อบบี้" รุ่นที่ 1 ได้รับความสนใจจากศิษย์เก่า นักศึกษาปัจจุบัน และทุกภาคส่วนสมัครเข้าร่วมอบรมเป็นจำนวนมาก ทางคณะรัฐศาสตร์จึงได้ตัดสินใจเปิดการอบรมรุ่นที่ 2 ในเดือน พฤศจิกายน 2561 โดยจะนำผลสัมฤทธิ์จากการอบรมรุ่นที่1 มาปรับหลักสูตรให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ต่างๆ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อผู้เข้าอบรมมากขึ้น จึงขอเชิญชวนผู้สนใจที่พลาดการอบรมในรุ่นนี้เตรียมพร้อมสมัครเข้าอบรมรุ่นที่ 2 ช่วงเดือนพฤศจิกายนต่อไป"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ