ปภ.แนะประชาชนใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าถูกวิธี...ลดเสี่ยงอันตรายจากไฟฟ้าดูดในช่วงฤดูฝน

ข่าวทั่วไป Thursday May 31, 2018 11:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 พ.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แนะประชาชนเรียนรู้ข้อควรปฏิบัติ ในการใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างถูกวิธี โดยตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าที่อยู่ภายนอกอาคารให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ห้ามใช้หรือสัมผัสเครื่องใช้ไฟฟ้าในขณะที่ร่างกายเปียกชื้น หรือยืนบนพื้นที่ชื้นแฉะ เพิ่มความระมัดระวังการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่เกี่ยวข้องกับน้ำ และอยู่บริเวณที่ชื้นแฉะเป็นพิเศษ หากไม่มีความรู้ไม่ควรซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้าด้วยตัวเอง กรณีน้ำท่วมบ้าน ให้ตัดกระแสไฟฟ้า และไม่นำเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมมาใช้งาน รวมถึง เลือกใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้มาตรฐาน พร้อมติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันไฟฟ้าดูด โค่นต้นไม้และกิ่งไม้ที่พาดแนวสายไฟฟ้า จะช่วยป้องกันอันตราย และลดความเสี่ยงต่อการถูกไฟฟ้าดูด ทำให้การดำเนินชัวิตในช่วงฤดูฝนเป็นไปด้วยความปลอดภัย นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า อุบัติภัยจากไฟฟ้ามีสถิติเกิดสูงในช่วงฤดูฝน โดยส่วนใหญ่มีสาเหตุจากอุปกรณ์ไฟฟ้าชำรุด ความชื้นจากฝน ประกอบกับน้ำเป็นตัวนำกระแสไฟฟ้า เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ขอแนะประชาชนเรียนรู้การใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างถูกวิธี ดังนี้ ตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าที่อยู่ภายนอกอาคารให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานเช่น กริ่ง โคมไฟ เป็นต้น ควรเลือกใช้อุปกรณ์ชนิดกันน้ำ รวมถึงติดตั้งสายดิน และเครื่องตัดกระแสไฟฟ้ารั่ว เพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร ทำให้ถูกไฟฟ้าดูด ห้ามใช้หรือสัมผัสเครื่องใช้ไฟฟ้าในขณะที่ร่างกายเปียกชื้น หรือยืนบนที่ชื้นแฉะ เพราะหากมีกระแสไฟฟ้ารั่ว จะได้รับอันตรายจากไฟฟ้าดูด เพิ่มความระมัดระวังในการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำ และอยู่บริเวณพื้นที่ชื้นแฉะเป็นพิเศษ เช่น ปั๊มน้ำ เครื่องซักผ้า เครื่องทำน้ำอุ่น เป็นต้น เพราะหากมีกระแสไฟฟ้ารั่ว จะทำให้ได้รับอันตราย เพื่อความปลอดภัย ควรสวมรองเท้าทุกครั้งที่ใช้งานเครื่องใช้ไฟฟ้าในบริเวณที่ชื้นแฉะ จะช่วยป้องกันไฟฟ้าดูด ไม่ซ่อมแซมเครื่องใช้ไฟฟ้าด้วยตัวเอง เนื่องจากความไม่ชำนาญ และความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ กรณีน้ำท่วมบ้าน ให้ตัดกระแสไฟฟ้า ปิดสวิตช์ไฟ ขนย้ายเครื่องใช้ไฟฟ้าขึ้นที่สูง พ้นจากระดับที่น้ำท่วมถึง เพื่อป้องกันไฟฟ้าดูด และเครื่องใช้ไฟฟ้าได้รับความเสียหาย ไม่นำเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมมาใช้งาน เพราะเสี่ยงต่อการได้รับอันตราย การป้องกันอุบัติภัยจากไฟฟ้า เลือกใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้มาตรฐาน มีเครื่องหมายรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าที่อยู่ภายนอกอาคาร ควรเลือกใช้แบบกันน้ำและมีฝาครอบปิด เพื่อป้องกันฝนสาดและน้ำรั่วซึม ติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันไฟฟ้าดูด อาทิ เครื่องตัดกระแสไฟฟ้าอัตโนมัติ เบรกเกอร์ควบคุมไฟ โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีโครงหรือวัสดุหุ้มเป็นโลหะ เช่น ตู้เย็น เครื่องทำน้ำอุ่น ไมโครเวฟ ตู้น้ำดื่ม เป็นต้น ควรติดตั้งสายดิน หากกระแสไฟฟ้ารั่ว ไฟฟ้าจะไหลลงสู่พื้นดิน จึงช่วยป้องกันอันตรายจากไฟฟ้าดูด โค่นต้นไม้และตัดแต่งกิ่งไม้ ที่พาดแนวสายไฟฟ้า เพื่อป้องกันพายุลมแรงพัดต้นไม้ล้มทับ หรือเกี่ยวสายไฟขาด ก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ที่อยู่บริเวณดังกล่าว การช่วยเหลือและปฐมพยาบาลผู้ที่ถูกไฟฟ้าดูด รีบตัดกระแสไฟฟ้า โดยปิดสวิตช์ ปลดปลั๊กไฟ และสับคัตเอาท์ หากไม่สามารถ ตัดกระแสไฟฟ้าได้ ให้นำวัสดุที่เป็นฉนวนไฟฟ้า เช่น ผ้าแห้ง หนังสือพิมพ์ เป็นต้น เขี่ยสายไฟให้หลุดจากตัวผู้ถูกไฟฟ้าดูด หรือใช้เชือกคล้องและดันตัวผู้ถูกไฟฟ้าดูดให้หลุดจากบริเวณที่มีกระแสไฟฟ้ารั่ว โดยผู้เข้าช่วยเหลือต้องยืนบนพื้นแห้ง และสวมรองเท้ายาง ห้ามใช้มือหรืออวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายสัมผัสผู้ถูกไฟฟ้าดูด ในขณะที่ยังไม่ตัดกระแสไฟฟ้า รวมถึงห้ามช่วยเหลือผู้ถูกไฟฟ้าดูดในขณะที่ร่างกายเปียกชื้น หรือยืนบนพื้นที่ชื้นแฉะเพราะจะได้รับอันตรายจากไฟฟ้าดูด ปฐมพยาบาลผู้ถูกไฟฟ้าดูด ด้วยการปั๊มหัวใจ โดยจัดให้ผู้ถูกไฟฟ้าดูดนอนบนพื้นราบ จากนั้นทำการผายปอดและนวดหัวใจ จนกว่าผู้ถูกไฟฟ้าดูดจะหายใจเองได้ พร้อมรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด ทั้งนี้ การเลือกใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ได้มาตรฐาน และการเรียนรู้วิธีใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างถูกวิธี จะช่วยป้องกันอุบัติภัยจากไฟฟ้า ทำให้การดำเนินชีวิตในช่วงฤดูฝนเป็นไปด้วยความปลอดภัย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ