การตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ณ ระดับโรงสี

ข่าวทั่วไป Monday October 15, 2007 10:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ต.ค.--คต. ปัจจุบันแนวคิดเกี่ยวกับการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) สำหรับสินค้าเกษตรในเวทีการค้าระหว่างประเทศ ได้ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวาง ทั้งนี้ เพราะประเทศผู้นำเข้าต่างคำนึงถึงผู้บริโภคของตนต้องบริโภคอาหารที่มีความปลอดภัย (food safety) และมีคุณภาพมาตรฐาน (standards) ตามที่กำหนด นอกจากนี้มาตรฐานระดับภูมิภาคและมาตรฐานระดับโลกต่างก็ยอมรับแนวคิดดังกล่าว และไม่เว้นแม้แต่กลุ่มผู้ค้าปลีกขนาดใหญ่อย่าง Wal-mart ของสหรัฐอเมริกา และกลุ่มผู้ค้าปลีกในยุโรป ที่นำ EurepGAP มาเป็นเงื่อนไขในการซื้อขายกับคู่ค้า ซึ่งเรื่องนี้สอดคล้องกับแนวคิดการบริหารจัดการสมัยใหม่ที่เรียกว่า “ห่วงโซ่คุณค่า” (Value Chain) ในส่วนของกรมการค้าต่างประเทศ ซึ่งรับผิดชอบโดยตรงเกี่ยวกับการส่งออกข้าวหอมมะลิไทย จึงเล็งเห็นว่า มาตรการหนึ่งของการกระตุ้นส่งเสริมการส่งออกข้าวหอมมะลิไทยให้ยั่งยืน (sustainable) ก็คือ จะต้องเน้นเรื่องคุณภาพมาตรฐานสินค้าและเสริมด้วยกิจกรรมส่งเสริมการตลาด (promotion) อื่น ๆ คู่ควบกันไปในด้านคุณภาพมาตรฐานสินค้า สำนักงานมาตรฐานสินค้าได้มีมาตรการต่าง ๆ ในการกำกับดูแลการตรวจสอบข้าวหอมมะลิไทยของเซอร์เวย์เยอร์อย่างเข้มงวด และเพื่อให้การกำกับดูแลคุณภาพมาตรฐานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตั้งแต่ระดับต้นน้ำ (โรงสี) สำนักงานมาตรฐานสินค้า จึงได้นำมาตรการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) มาใช้ โดยทางกรมฯ มีโครงการความร่วมมือกับจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งเป็นแหล่งผลิตข้าวหอมมะลิไทยโดยให้การสนับสนุนรับรองคุณภาพมาตรฐานข้าวหอมมะลิไทยตั้งแต่ระดับโรงสีในพื้นที่ ให้เป็นผู้ผลิตข้าวที่ได้คุณภาพมาตรฐานส่งออก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ซื้อทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยมีโรงสีในพื้นที่ซึ่งสมัครใจเข้าร่วมในโครงการ จำนวน 80 ราย ใน 8 จังหวัด ได้แก่บุรีรัมย์ สุรินทร์ อำนาจเจริญ ร้อยเอ็ด ยโสธร อุบลราชธานี ศรีษะเกษ และมหาสารคาม ทั้งนี้ ได้มีการเก็บตัวอย่างข้าวจากโรงสีเพื่อส่งตรวจเอกลักษณ์พันธุกรรม (DNA) และมีการติดตามตรวจสอบคุณภาพเป็นระยะ ๆ ซึ่งได้รับผลเป็นที่น่าพอใจ (ดูตารางประกอบ) กล่าวคือ ผลวิเคราะห์เอกลักษณ์พันธุกรรม (DNA) คุณภาพมาตรฐานข้าวหอมมะลิไทยของโรงสีในพื้นที่ มีปริมาณหรือความบริสุทธิ์ของข้าวหอมมะลิไทย ในระดับร้อยละ 96-100 มีจำนวน 75 โรงสี หรือคิดเป็นร้อยละ 94 จากในจำนวนโรงสีที่เข้าร่วมโครงการ และมีค่าเฉลี่ยปริมาณหรือความบริสุทธิ์ของข้าวหอมมะลิไทยสูง ในระดับร้อยละ 97 - 99 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าโรงสีในพื้นที่สามารถจัดหาสินค้าข้าวหอมมะลิไทยที่มีปริมาณหรือความบริสุทธิ์ของข้าวขาวดอกมะลิ 105 และ กข. 15 ได้สูงและสูงกว่ามาตรฐานกำหนด ซึ่งแสดงให้เห็นว่าส่วนใหญ่โรงสีจะรับซื้อจากเกษตรกร สมาชิกสหกรณ์ และพ่อค้าคนกลางในพื้นที่ หรือจากพื้นที่ในจังหวัดใกล้เคียง ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงเกษตรกรผู้ปลูกในพื้นที่ ถ้าปลูกด้วยเมล็ดพันธ์ที่มีความบริสุทธิ์สูงย่อมสามารถผลิตและขายข้าวหอมมะลิไทยที่มีคุณภาพมาตรฐานสูงให้กับโรงสีและได้ราคาขายสูงตามไปด้วย สำหรับรายชื่อของโรงสีที่ได้การรับรองแล้วจะถูกนำไปเผยแพร่ทาง internet และผ่านสื่อต่างๆ เพื่อให้ผู้ส่งออกและผู้ซื้อภายในและต่างประเทศได้มีโอกาสติดต่อซื้อขายกันโดยตรง อีกทั้งสนับสนุนให้สามารถเป็นผู้ส่งออกรายใหม่ นอกจากนี้ ยังมีโอกาสเข้าร่วมในกิจกรรมเจรจาจับคู่ทำธุรกิจร่วมกัน (business matching) ระหว่างกลุ่มร้านอาหาร/ภัตตาคาร ห้างสรรพสินค้า และสนับสนุนให้สร้างแบรนด์ในระดับจังหวัด โดยให้สามารถสร้างตราข้าวหอมมะลิไทยของตนเอง (private brand) หรือสร้าง สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์(Geographical Identity-GI) ระบุสินค้านั้น ๆ มาจากแหล่งผลิตซึ่งเป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น เช่นข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ จังหวัดร้อยเอ็ด ข้าวหอมมะลิสุรินทร์ เป็นต้น นอกจากนั้นยังสามารถขอใช้เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทยของกรมการค้าต่างประเทศได้ อันเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับผู้ซื้อ ผู้ขาย และผู้บริโภค มีการติดต่อซื้อข้าวจากแหล่งใหญ่ๆ ทำให้โรงสีมีช่องทางการจำหน่ายเพิ่มขึ้น เช่น สยามพารากอน เดอะมอลกรุ๊ป ท๊อปซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าในเครือเซ็นทรัลกรุ๊ป เป็นต้น เป็นการส่งเสริมให้โรงสีมีมาตรฐานในการผลิตสินค้าและเพิ่มความระมัดระวังในการรับซื้อข้าวเปลือกวัตถุดิบ ในขณะเดียวกันหลาย ๆ จังหวัดได้มีการสอดส่องและตรวจจับการขนข้าวจากภาคกลางขึ้นไปปลอมปนกับข้าวหอมมะลิไทยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อีกทั้งประสานในบรรดาโรงสีในพื้นที่ให้ตื่นตัวเฝ้าระวังและไม่รับซื้อข้าวเปลือกที่สงสัยขนขึ้นไปขาย ซึ่งเป็นมาตรการที่ต้องมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องตลอดไปกิจกรรมด้านส่งเสริมความรู้การตรวจสอบเอกลักษณ์พันธุกรรม (DNA) สำนักงานมาตรฐานสินค้าได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการเร่งเตรียมความพร้อมให้กับบุคลากรให้มีความรู้เกี่ยวกับการตรวจเอกลักษณ์พันธุกรรม (DNA) ให้กระจายไปสู่แหล่งภูมิภาคโดยการดำเนินการฝึกอบรม ถ่ายทอดเทคโนโลยีการตรวจวิเคราะห์เอกลักษณ์พันธุกรรม (DNA) ให้กับนักวิทยาศาสตร์ในสถานศึกษาที่มีความพร้อมในท้องถิ่นแหล่งการเพาะปลูกข้าวหอมมะลิไทย เพื่อให้มีความรู้ ความเข้าใจ เทคนิคและวิธีการตรวจวิเคราะห์ให้เป็นบรรทัดฐานเดียวกัน โดยหวังให้ นักวิทยาศาสตร์เมื่อผ่านการฝึกอบรมแล้วสามารถนำความรู้ไปใช้ในการตรวจสอบและการตรวจวิเคราะห์คุณภาพข้าวหอมมะลิไทยในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในอนาคตอันใกล้หากจะนำระบบตรวจสอบย้อนกลับ (traceability) คุณภาพข้าวตั้งแต่ต้นทางมาใช้ สถาบันการศึกษาในพื้นที่ที่เป็นแหล่งเพาะปลูกได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยสุรินทร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีร้อยเอ็ด จึงน่าจะเป็นแหล่งที่พร้อมจะให้บริการแก่ผู้ประกอบการในพื้นที่ในการตรวจสอบและการตรวจวิเคราะห์คุณภาพมาตรฐานข้าวหอมมะลิไทยได้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

แท็ก AFET  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ