โมเดลใหม่หนุนเสริมการทำงานให้ภาคประชาสังคม โครงการผู้นำแห่งอนาคต คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ข่าวทั่วไป Wednesday June 6, 2018 13:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 มิ.ย.--มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ "การเข้าถึงเครือมือใหม่ ๆ อย่างนวัตกรรมทางสังคมที่ยังไม่คุ้นชิน การขาดแคลนพลังของคนรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาร่วมคิดและสานต่อการทำงาน เป็นข้อจำกัดส่วนหนึ่งที่ทำให้การดำเนินงานของภาคประชาสังคมยังเดินไปไม่ถึงฝั่ง" สิ่งเหล่านี้เป็นข้อค้นพบจากการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์หลัก 3 ด้านของโครงการ ของ "โครงการผู้นำแห่งอนาคต" คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มธ. โดยการสนับสนุนของ สสส. ทางโครงการผู้นำ ฯ จึงร่วมกับ "School of Changemakers (SOC)" คิดค้นโมเดลในการทำงานใหม่ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพการทำงานของภาคประชาสังคม จนเกิดเป็นโมเดลการเสริมศักยภาพรูปแบบใหม่ที่เน้นให้ 'ผู้นำภาคประชาสังคมสามารถสร้างสรรค์การทำงานเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมได้อย่างยั่งยืน' ในปีนี้ได้มีการทดสอบโมเดลร่วมกับเครือข่ายภาคประชาสังคม 4 องค์กร คือ สมาคมประชาสังคมพังงาแห่งความสุข จ.พังงา, สถาบันไทยเบิ้งโคกสลุงเพื่อการพัฒนา จ.ลพบุรี, มูลนิธิบ้านครูน้ำ จ.เชียงราย และขอนแก่นนิวสปิริต จ.ขอนแก่น โครงสร้างหลักของโมเดลการทำงานนี้ คือ การสนับสนุนงบประมาณจำนวนหนึ่งในการพัฒนาการทำงาน แล้วใช้ "เวทีพัฒนาศักยภาพเครือข่ายด้วยเครื่องมือสนับสนุนความยั่งยืนการขับเคลื่อนทางสังคม" เป็นเวทีหลักในการขับเคลื่อนงาน ตั้งแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2560 จนถึงช่วงเดือนพฤษภาคม 2561 ซึ่งแต่ละองค์กรจะได้ออกแบบและทดลองการทำงานโดยอาศัยองค์ความรู้และทักษะที่ได้รับจากการเข้าร่วมอบรม การอบรมเชิงปฏิบัติการจะมีทั้งหมด 3 ครั้ง เว้นระยะครั้งละประมาณ 2 เดือน โดยแต่ละครั้งของการอบรมจะมีการเสริมทักษะแตกต่างกันออกไป 3 ด้าน ครั้งที่ 1 คือ 'การสร้างกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนสังคม' ทบทวนความสำคัญของการทำงาน เป้าหมาย และวิสัยทัศน์ ซึ่งจะส่งผลไปถึงการออกแบบและพัฒนากลยุทธ์ให้สอดคล้องต่อการทำงานให้บรรลุเป้าหมายอย่างยั่งยืน, ครั้งที่ 2 คือ 'การคิดและวางแผนการเงินแบบผู้ประกอบการสังคม' วิเคราะห์การสร้างผลกระทบต่อสังคมและรายละเอียดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น (Impact unit cost) เพื่อนำผลลัพธ์ที่ได้ไปปรับแผนงาน รวมถึงใช้สื่อสารเพื่อสร้างความตระหนักถึงความสำคัญในการดำเนินงานขององค์กร ครั้งที่ 3 คือ 'การจัดการและพัฒนาทีมในช่วงเปลี่ยนผ่าน' การบริหารการทำงานให้มีประสิทธิภาพ รวมถึงการพัฒนาให้คนทำงานมีส่วนร่วมในการพัฒนาองค์กรและเติบโตไปด้วยกัน ในระหว่างการจัดกิจกรรมเชิงปฏิบัติการ นอกจากทั้ง 4 พื้นที่จะได้มารวมตัวเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเติมพลังให้แก่กันในเวทีแล้ว ยังมี "การนำกลยุทธ์ซึ่งช่วยกันพัฒนาในแต่ละเวทีไปทดลองใช้จริง" โดยมี "โคชติดตามพื้นที่ (Intrapreneur)" ซึ่งเป็นอาสาสมัครคนรุ่นใหม่ ที่มีความคิดสร้างสรรค์และมีประสบการณ์การทำงานขับเคลื่อนองค์กรซึ่งผ่านการคัดเลือกมาจาก SOC มาทำงานร่วมกับผู้นำหลักของแต่ละองค์กรอย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยมองหาลู่ทางในการพัฒนา 'จากความต้องการของคนในพื้นที่อย่างแท้จริง' ปรับแผนกลยุทธ์ ทดลองการทำงาน รวมถึงการแลกเปลี่ยนและเติมเต็มองค์ความรู้ ทั้งนี้การมีโคชติดตามพื้นที่มาทำงานร่วม เกิดขึ้นจากแนวคิดว่า การที่แกนนำภาคประชาสังคมมีคู่คิดซึ่งมีมุมมองและความถนัดเฉพาะทางแตกต่างออกไป มาช่วยมองปัญหาและทดลองการทำงานใหม่ อาจช่วยหนุนเสริมการทำงานของผู้นำให้เข้มแข็งและรอบคอบขึ้นได้ อีกกิจกรรมหนึ่งที่จะเข้ามาเสริมการทำงาน คือ การอบรมเชิงปฏิบัติการ "การพัฒนาศักยภาพเรื่องการสื่อสาร" เพื่อให้ภาคประชาสังคมสามารถสื่อสารการทำงานของตนได้มีประสิทธิภาพ ตรงประเด็น เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และทำให้คนทั่วไปเห็นถึง 'คุณค่าของการทำงาน (Impact Value)' เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการเข้ามาสนับสนุนการทำงาน และยังทำให้คนภายนอกได้เรียนรู้จากการทำงานของพื้นที่อีกด้วย นอกจากการดำเนินงานข้างต้นแล้ว ส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ของการทดสอบโมเดลคือ การมี "ทีมวิจัย" ดำเนินการถอดบทเรียนทั้ง 4 พื้นที่อย่างใกล้ชิด เพื่อถอดกระบวนการทำงาน การสร้างองค์ความรู้ รวมถึงการวิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงและผลที่เกิดขึ้นในระดับปัจเจกและเครือข่าย เพื่อนำเอาบทเรียนที่เกิดขึ้นไปใช้ในการพัฒนาโมเดลต่อไป จากการทดสอบโมเดลนี้ในระยะเวลากว่า 7 เดือน ได้สิ้นสุดเป็นที่เรียบร้อยแล้วในช่วงเดือน พ.ค. 2561 โดยได้มีการนำเสนอแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันใน 'เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในพื้นที่จังหวัดพังงาแห่งความสุข' เมื่อวันที่ 12 - 13 พ.ค. ที่ผ่านมา การพูดคุยร่วมกันของผู้นำจากทั้ง 4 พื้นที่ โคชติดตามพื้นที่ นักวิจัย วิทยากร และผู้ทรงคุณวุฒิ ได้สะท้อนให้เห็นว่าการทำงานรูปแบบใหม่นี้ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกโดยเฉพาะทางด้าน 'สุขภาวะทางปัญญา' ผู้มีส่วนร่วมในโมเดลเกิดการพัฒนาภายในตัวเอง โดยเฉพาะการเป็นผู้นำเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง (Transformative leadership) และผู้นำร่วม (Collective leadership) รวมถึงการพัฒนากลไกการทำงาน แม้ผลลัพธ์และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว ยังไม่ปรากฏชัดด้วยระยะเวลาที่จำกัด แต่ผลจากการดำเนินงานที่ผ่านมาก็ถือได้ว่าเป็นหนึ่งใน "โมเดลการทำงานร่วมระหว่างภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และคนทำงานรุ่นใหม่ ในการมุ่งแก้ไขปัญหาและพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน" ทั้งนี้งานวิจัยที่วิเคราะห์และบันทึกทั้งประสบการณ์ วิธีการดำเนินงาน และการแก้ไขปัญหา ซึ่งมีทั้งอุปสรรคและความสำเร็จ จะมีการตีพิมพ์เป็นหนังสือและมีให้ดาวน์โหลดทางเว็บไซต์ของโครงการผู้นำแห่งอนาคตในช่วงปลายปีนี้ เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาและนำไปปรับใช้ในบริบทตามความเหมาะสม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ