กนอ. ปลื้มนักลงทุนไทย-ต่างชาติเตรียมลงทุน “สมาร์ทปาร์ค” กว่าหมื่นล้าน เดินหน้าโชว์ศักยภาพพื้นที่ “อีอีซี” แก่คณะทูตกว่า 300 ราย

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday June 7, 2018 11:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 มิ.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ร่วมกับ ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) นำเสนอโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก แก่คณะผู้แทนทางการทูตและกงสุลที่ประจำการในประเทศไทย กว่า 300 ราย โดยมีเป้าหมายสร้างการรับรู้และความเชื่อมั่นแก่นักการทูต นักลงทุน นักธุรกิจ ทั้งนี้ กนอ. ได้ประชาสัมพันธ์ศักยภาพ และโอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่มและการใช้ประโยชน์ทางอุตสาหกรรมจากโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ซึ่งคาดว่าจะมีการประกาศรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนได้ในปลายเดือน มิ.ย. นี้ พร้อมด้วยโครงการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรม Smart Park ซึ่งในปัจจุบันมีบริษัทเอกชนสนใจขอร่วมทุนในด้านต่างๆ แล้วมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาท นายอัฐพล จิรวัฒน์จรรยา รักษาการผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ความคืบหน้า โครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม Smart Park ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำแบบรายละเอียดโครงการ ซึ่งมีความคืบหน้าแล้วกว่า 80 % โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือน กรกฎาคม 2561 และจะก่อสร้างแล้วเสร็จภายในปี 2564 ซึ่งขณะนี้ได้มีบริษัทเอกชน สนใจขอร่วมทุนในด้านต่างๆ รวมมูลค่าการลงทุนกว่า 10,000 ล้านบาท อาทิ การทำระบบทำความเย็นแบบรวมศูนย์ (District Cooling) ระบบรถรับส่งพลังงานไฟฟ้าภายในนิคมฯ อาคารจอดรถอัตโนมัติด้วยโรโบติกส์รองรับปริมาณรถได้มากกว่า 4,000 คัน การก่อสร้างอาคารศูนย์ประชุม และศูนย์การค้าบนพื้นที่ 52 ไร่ ฯลฯ นอกจากนี้ ในเดือนมิถุนายน กนอ.คาดว่า จะมีการประกาศรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 และประมาณช่วงปลายปีจะมีการลงนามสัญญาร่วมกับภาคธุรกิจที่ได้รับคัดเลือกร่วมลงทุน นายอัฐพล กล่าวต่อว่า กนอ. ได้ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) จัดการบรรยายสรุปเกี่ยวกับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกในหัวข้อ "The Eastern Economic Corridor (EEC) : Taking Off" ให้แก่คณะผู้แทนทางการทูตและกงสุลที่ประจำการในประเทศไทย รวมกว่า 300 คน โดยข้อมูลที่เผยแพร่ ได้แก่ ข้อมูลโครงการสำคัญ ๆ ที่จะเปิดให้นักลงทุนต่างชาติร่วมลงทุน โอกาสในการสร้างมูลค่าเพิ่มและการใช้ประโยชน์ทางอุตสาหกรรม ฯลฯ รวมถึงยังได้เชิญชวนให้ชาติต่างๆส่งเสริมให้ภาคเอกชนของตนเองลงทุนในบนพื้นที่อีอีซี ทั้งนี้ กนอ.ได้นำเสนอความน่าสนใจจากผลการดำเนินงานของท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีอัตราการเติบโตของปริมาณการขนถ่ายสินค้าผ่านท่าเรือฯ ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มากกว่า 5 เปอร์เซ็นต์ต่อปี พร้อมด้วยศักยภาพในการเป็นฐานการผลิตอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประสิทธิภาพด้านการเชื่อมโยงการขนส่งทั้งในและต่างประเทศได้อย่างดีเยี่ยม ส่วนการนำเสนอข้อมูลโครงการพัฒนาท่าเรือฯ ระยะที่ 3 ที่ขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการกำหนดรูปแบบร่วมลงทุนนั้น กนอ.ได้ชี้ให้เห็นถึงศักยภาพในอนาคตของท่าเรือฯ ที่จะสามารถรองรับการขนถ่ายสินค้าจำพวกน้ำมัน แก๊ส ของเหลว ปิโตรเคมี หรืออื่นๆที่เกี่ยวข้อง ได้เพิ่มมากอีกประมาณ 20ล้านตันต่อปี โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและระบบการจัดการภายใน พื้นที่ในการใช้ประโยชน์ รวมถึงสิทธิประโยชน์ – สิทธิพิเศษที่จะได้รับหลังเข้าร่วมลงทุน ด้านจัดตั้งโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม Smart Park กนอ.ได้ชูจุดเด่นของนิคมฯ ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่ที่รองรับการลงทุนในธุรกิจอุตสาหกรรมด้านดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบ รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีอันทันสมัย พร้อมตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้ประกอบการ นักธุรกิจ นักลงทุน และบุคคลทั่วไป โดยเริ่มตั้งแต่การออกแบบและวางผังพื้นที่ การติดตั้งระบบความปลอดภัย การให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ดีที่สุด และศูนย์รวม Data Center ที่ใหญ่ที่สุดสำหรับนักลงทุน รวมถึงระบบคมนาคม การสื่อสาร สิ่งอำนวยความสะดวกภายใต้แนวคิดนิคมฯ 4.0 สำหรับอีอีซี ตลอดจนการรองรับการลงทุนใน 5 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร อุตสาหกรรมวิจัยและพัฒนา อุตสาหกรรมโลจิสติกส์ การบิน และอวกาศ อุตสาหกรรมอุปกรณ์อัจฉริยะ หุ่นยนต์และจักรกล อุตสาหกรรมดิจิทัลเทคโนโลยีอินเทอร์เนต เชื่อมต่อปัญญาประดิษฐ์ สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจรายละเอียด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองประชาสัมพันธ์ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ถนนนิคมมักกะสัน กรุงเทพฯ โทร. 02 2530561 หรืออีเมล investment.1@ieat.mail.go.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ