ฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตของธนาคารกรุงไทย

ข่าวทั่วไป Friday November 30, 2007 14:16 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 พ.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ ได้ประกาศคงอันดับเครดิตของธนาคารกรุงไทย (KTB) เนื่องจากคาดว่าผลการดำเนินงานของธนาคารในปี 2551 จะปรับตัวดีขึ้น ถึงแม้ว่า KTB จะมีผลการดำเนินงานที่อ่อนแอในปี 2550 จากการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่ค่อนข้างสูง อันดับเครดิตของ KTB มีดังต่อไปนี้ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศ ระยะยาว Issuer Default Rating (IDR) ที่ ‘BBB+’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ ‘F2’ อันดับเครดิตความแข็งแกร่งทางการเงิน (Individual Rating) ที่ ‘C/D’ อันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘2’ อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ (Support Rating Floor) ที่ ‘BBB’ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ ‘BBB’ อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของตราสารหนี้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 (Hybrid Tier 1 Securities) ที่ ‘BBB-’ (BBB ลบ) อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘AA+(tha)’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’ อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่ ‘AA(tha)’ และอันดับเครดิตภายในประเทศของ Hybrid Tier 1 Securities ที่ ‘A+(tha)’
ฟิทช์กล่าวว่าอันดับเครดิตของ KTB มีพื้นฐานมาจากการถือหุ้นใหญ่และการสนับสนุนที่แข็งแกร่งของรัฐบาล KTB เป็นธนาคารที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 โดยมีส่วนแบ่งตลาด 18% โดยมีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินถือหุ้น 55.3% ในธนาคาร
KTB รายงานผลกำไรสุทธิ 5.8 พันล้านบาทสำหรับผลประกอบการ 9 เดือนแรกของปี 2550 ลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากปีก่อนหน้า เนื่องจากการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวนมากซึ่งเป็นผลมาจากหลักเกณฑ์การกันสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่เข้มงวดขึ้น และแนวโน้มของคุณภาพสินทรัพย์ที่อ่อนแอลง อัตราการเติบโตของสินเชื่อที่ลดลงและต้นทุนการปล่อยสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นทำให้อัตรากำไรส่วนต่างดอกเบี้ยปรับตัวลดลงเป็น 3.4% จาก 3.9% ธนาคารยังคงมีความเสี่ยงในการกันสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ เนื่องจากธนาคารมีอัตราส่วนของการกันสำรองหนี้สูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ค่อนข้างต่ำอยู่ที่ระดับประมาณ 40% นอกจากนี้ ในไตรมาส 4 ปี 2550 คาดว่าจะมีการตั้งสำรองเผื่อการด้อยค่าของเงินลงทุนในตราสารหนี้ประเภท Collateralized Debt Obligation หรือ CDO ซึ่งธนาคารมีเงินลงทุนใน CDO เป็นจำนวน 5.5 พันล้านบาท ระดับของหนี้สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ KTB เพิ่มขึ้นเป็น 1.014 แสนล้านบาท หรือ 11.6% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2550 จากระดับ 9 หมื่นล้านบาท (10%) ณ สิ้นปี 2549 เป็นผลมาจากสภาวะเศรษฐกิจที่อ่อนแอลง ซึ่งส่งผลทำให้มีสินเชื่อด้อยคุณภาพเกิดใหม่และการด้อยคุณภาพลงของสินเชื่อที่ผ่านการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ อย่างไรก็ตาม กำไรก่อนการกันสำรองและระดับเงินกองทุนของธนาคารยังคงแข็งแกร่ง โดย KTB มีอัตราเงินกองทุนขั้นที่ 1 อยู่ที่ 10.5% ซึ่งสามารถช่วยลดทอนความเสี่ยงในการกันสำรองได้ การคาดการณ์ว่าจะมีการฟื้นตัวของความต้องการในประเทศ และการขยายตัวของการลงทุนจากภาครัฐบาล น่าจะส่งผลให้ผลการดำเนินงานของธนาคารในปี 2551 มีการปรับตัวดีขึ้น
จากการที่อันคับเครดิตของธนาคารมีส่วนสนับสนุนมาจากการถือหุ้นใหญ่และการควบคุมโดยรัฐบาล การเปลี่ยน แปลงในอันดับเครดิตของประเทศไทยอาจมีผลต่ออันดับเครดิตระยะยาวและระยะสั้นของธนาคารได้ ในขณะที่อันดับเครดิตของ Hybrid Tier 1 Securities นั้นส่วนหนึ่งสะท้อนถึงการสนับสนุนจากรัฐบาลซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ KTB แต่โดยส่วนใหญ่ อันดับเครดิตของ Hybrid Tier 1 Securities ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความแข็งแกร่งทางการเงินของ ธนาคาร โดยพิจารณาถึงกำไรสะสมของธนาคาร ระดับของเงินกองทุนและผลกำไรจากการดำเนินงานที่แข็งแกร่งถึงแม้ว่าจะมีความเสี่ยงจากการตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญก็ตาม ในสถานการณ์ที่สถานะทางการเงินของธนาคารอ่อนแอลงอย่างมีนัยสำคัญ มีความเป็นไปได้ค่อนข้างต่ำที่การสนับสนุนจากภาครัฐบาลจะครอบคลุมถึง Hybrid Tier 1 Securities ของธนาคาร ซึ่งบ่งชี้ถึงความเสี่ยงในการปรับลดอันดับเครดิตของ Hybrid Securities ในขณะที่ อันดับเครดิตระยะยาวของธนาคารอาจยังคงไม่มีการเปลี่ยนแปลงเนื่องมาจากแนวโน้มการสนับสนุนจากรัฐบาล ดังนั้นหากเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวข้างต้น ความแตกต่างระหว่างอันดับเครดิตระยะยาวของธนาคารและอันดับเครดิตของ Hybrid Securities อาจเพิ่มขึ้นได้
ติดต่อ
Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4762/4759
David Marshall, ฮ่องกง +852 2263 9963
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ใช้วัดความน่าเชื่อถือของบริษัทในประเทศที่อันดับเครดิตของประเทศนั้นอยู่ในระดับต่ำกว่าอันดับเครดิตระดับเพื่อการลงทุน หรือมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับต่ำแม้จะอยู่ในระดับเพื่อการลงทุน อันดับเครดิตของบริษัทที่ดีที่สุดของประเทศจะอยู่ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับบริษัทที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นถูกออกแบบมาเพื่อนักลงทุนภายในประเทศในแต่ละประเทศนั้นๆ และมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับแต่ละประเทศ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย อันดับเครดิตภายในประเทศนั้นไม่สามารถนำไปใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ