รมว.ดิจิทัลฯ ลงพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างขับเคลื่อนโครงการสำคัญ หนุนไปรษณีย์ไทยเร่งระบบ POS ดันสินค้าชุมชนทั่วประเทศขายออนไลน์ ชูวิทยุ-แอปกรมอุตุฯ ใช้โครงข่ายเน็ตประชารัฐสร้างความรู้และบริการข้อมูลแก่ประชาชน

ข่าวเทคโนโลยี Monday June 11, 2018 15:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 มิ.ย.--กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม รมว.ดิจิทัลฯ ลงพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างขับเคลื่อนโครงการสำคัญ หนุนไปรษณีย์ไทยเร่งระบบ POS ดันสินค้าชุมชนทั่วประเทศขายออนไลน์ ชูวิทยุ-แอปกรมอุตุฯ ใช้โครงข่ายเน็ตประชารัฐสร้างความรู้และบริการข้อมูลแก่ประชาชน รมว.กระทรวงดิจิทัลฯ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานโครงการต่างๆ ในเขตจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง เผยโครงการ "ดิจิทัลชุมชนด้าน e-Commerce" ติดตั้งระบบ POS ครบ 200 จุดนำร่อง สินค้าชุมชนเข้าระบบออนไลน์แล้วกว่า 1,500 รายการ เดินหน้าติดตั้งเพิ่มตามเป้าหมาย พร้อมหนุนสถานีอุตุนิยมวิทยา จ.นครสวรรค์และพิษณุโลก ใช้ประโยชน์จากโครงข่าย "เน็ตประชารัฐ" เสริมจุดแข็งการพยากรณ์อากาศ พัฒนาแอปพลิเคชั่น สร้างการเข้าถึงข่าวสารและบริการภาครัฐแก่ประชาชน ด้านโครงการ "เน็ตประชารัฐ" เร่งถ่ายทอดความรู้การใช้ประโยชน์ สร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจและสังคมระดับฐานราก ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยถึงการ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงานโครงการต่างๆ ของกระทรวงฯ ในกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ว่า ตามภารกิจการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลนั้น กระทรวงฯ ได้มอบให้บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) ที่มีความเชี่ยวชาญในภารกิจด้านการขนส่ง โดยมีเครือข่ายที่ทำการไปรษณีย์ครอบคลุมอยู่ทั่วประเทศ ผลักดันโครงการ "ดิจิทัลชุมชนด้าน e-Commerce" โดย ปณท ได้ติดตั้งระบบบริหารงาน ณ จุดขาย หรือ Point of Sale : POS ณ ที่ทำการไปรษณีย์อนุญาต ร้านค้าโชห่วย ร้านค้าชุมชน และศูนย์สินค้าโอทอป จำนวน 200 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งได้สอนให้ชาวบ้านกลุ่มวิสาหกิจชุมชนได้เรียนรู้วิธีการใช้งานโปรแกรม POS จนสามารถขึ้นทะเบียนสินค้าเข้าสู่ระบบออนไลน์แล้วมากกว่า 1,500 รายการ ซึ่ง ปณท ได้วางแผนขยายจุดติดตั้งระบบ POS ให้ถึง 5,000 แห่ง ทั่วประเทศ ในปี 2561 พร้อมผลักดันการจำหน่ายสินค้าชุมผ่านร้านค้าออนไลน์บน www.thailandpostmart.com สู่การเป็น e-Market Place ระดับประเทศ เพื่อเป็นตลาดออนไลน์ให้ชุมชนได้ศึกษาเรียนรู้และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในการจำหน่ายสินค้าและบริการ ตลอดจนเป็นการสร้างโอกาส สร้างงาน สร้างอาชีพเพิ่มรายได้จากการจำหน่ายสินค้าและบริการ ยกระดับเศรษฐกิจระดับฐานรากให้มีความเข้มแข็งต่อไป นอกจากนั้น ปณท ยังได้พัฒนาระบบงาน 3 ส่วน เพื่อสนับสนุนอีคอมเมิร์ซชุมชนแบบครบวงจร ได้แก่ 1) ระบบร้านค้าออนไลน์ e-Market Place บนเว็บไซต์ thailandpostmart.com เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงและสั่งซื้อสินค้าได้โดยง่าย ซึ่งปัจจุบันมีสินค้าที่อยู่ในระบบแล้วกว่า 1,500 รายการ 2) ระบบชำระเงิน e-Payment ระบบการชำระเงินออนไลน์ผ่านบัตรเดบิต เครดิต หักผ่านบัญชีธนาคาร เครื่อง ATM รวมถึงบริการเก็บเงิน ณ ที่อยู่ผู้รับ (Cash on Delivery : COD) และ 3) ระบบตรวจสอบควบคุมการขนส่งที่ทันสมัย (e-Logistic) ระบบการจัดทำฉลากล่วงหน้า ผนึกบนห่อซองและทำการจัดส่งเข้าสู่ระบบงานขนส่งด้วยระบบ Prompt Post รวมถึงเทคโนโลยีตรวจสอบสถานะ การจัดส่งสินค้าผ่านระบบออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง ในวันเดียวกัน รมว.กระทรวงดิจิทัลฯ ยังได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของสถานีอุตุนิยมวิทยา ตำบลหนองกรด อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นหน่วยปฏิบัติงานในระดับพื้นที่ของกรมอุตุนิยมวิทยา หน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัลฯ ที่มีภารกิจด้านการบริหารจัดการด้านอุตุนิยมวิทยา การตรวจ เฝ้าระวัง ติดตาม รายงานสภาวะอากาศ อากาศการบิน และปรากฏการณ์ธรรมชาติ รวมทั้งให้ความรู้ และบริการด้านอุตุนิยมวิทยาด้วยความถูกต้อง รวดเร็ว แม่นยำ และทันเหตุการณ์ นอกจากนั้นสถานีอุตุนิยมวิทยา จังหวัดนครสวรรค์ และจังหวัดพิษณุโลก ยังทำหน้าที่เผยแพร่ข่าวสารด้านการพยากรณ์อากาศและการเตือนภัยธรรมชาติผ่านเครือข่ายวิทยุกระจายเสียงกรมอุตุนิยมวิทยาให้กับประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางตอนบน ยิ่งไปกว่านั้นยังมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการสร้างเครือข่ายของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งไม่เพียงแต่เครือข่ายด้านการเตือนภัยพิบัติทางธรรมชาติ แต่ครอบคลุมถึงเครือข่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชน เช่น เครือข่ายเกษตรกรผู้ใช้ข้อมูลอุตุนิยมวิทยา เป็นต้น นอกจากนี้ กรมอุตุนิยมวิทยายังได้ให้ความสำคัญกับการให้บริการภาครัฐในยุคดิจิทัลที่จะต้องสะดวก รวดเร็ว และมีข้อมูลที่ทันสมัยตลอดเวลา รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนใช้ประโยชน์จากโครงข่าย "เน็ตประชารัฐ" ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จึงได้พัฒนาแอปพลิเคชั่นบนโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Application) ขึ้น เพื่อบริการข้อมูลอุตุนิยมวิทยาให้กับประชาชนโดยสามารถพยากรณ์สภาพอากาศได้ละเอียดถึงระดับตำบล และคาดการณ์สภาพอากาศล่วงหน้าได้ถึง 4 เดือน อีกทั้งประชาชนที่อาศัยอยู่นอกพื้นที่สัญญาณวิทยุกรมอุตุนิยมวิทยา ยังสามารถเข้ารับฟังรายการวิทยุและประกาศเตือนภัยของกรมอุตุนิยมวิทยา ผ่าน Mobile Application และ Facebook ของสถานีวิทยุกรมอุตุนิยมวิทยาได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งถือเป็นตัวอย่างการดำเนินงานของกรมอุตุนิยมวิทยาในระดับพื้นที่ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม สร้างโอกาสการเข้าถึงบริการภาครัฐ โดยมีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นฟันเฟืองหลักในการผลักดันการพัฒนาของเศรษฐกิจและสังคมไทย จากนั้น ดร.พิเชฐฯ และคณะผู้บริหารกระทรวงดิจิทัลฯ ได้ตรวจเยี่ยมจุดติดตั้งเน็ตประชารัฐเฟส 1 หมู่ที่ 7 บ้านใหม่ ตำบลหนองกรด อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ โดยกระทรวงดิจิทัลฯ ได้ให้ความสำคัญเรื่องการใช้ประโยชน์จากโครงการ "เน็ตประชารัฐ" ซึ่งทำให้ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงบริการของภาครัฐ การบริการสาธารณสุข และส่งเสริมการสร้างอาชีพสร้างรายได้ให้กับประชาชน โดยเฉพาะภาคการเกษตรซึ่งถือเป็นภาคการผลิตที่สำคัญของไทย จะสามารถพัฒนาไปสู่การเกษตรแบบทันสมัย ด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งกระทรวงฯ ได้เร่งสร้างความรู้การใช้ประโยชน์จากเน็ตประชารัฐ และการรู้เท่าทันเทคโนโลยีดิจิทัล โดยได้จัดทำคู่มือพร้อมกับการฝึกอบรมครูจากสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ให้เป็นวิทยากรแกนนำกว่า 1,000 คน และปัจจุบันได้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่กลุ่มผู้นำชุมชนไปแล้ว จำนวน 100,000 คน นอกจากนี้กระทรวงฯ ยังได้สนับสนุนองค์ความรู้ให้กับครู กศน. เพื่อร่วมเป็นทีมงานระดับตำบล จัดทำคู่มือสำหรับใช้ในการถ่ายทอดความรู้ไปสู่ประชาชนตามแผนโครงการฯ และจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพิ่มเติมในเชิงลึกให้แก่ผู้ที่สนใจ และกลุ่มอาชีพในหมู่บ้านเน็ตประชารัฐที่มีความพร้อมด้วย ทั้งนี้ การติดตั้งโครงข่ายเน็ตประชารัฐเฟสแรก เสร็จตามเป้าหมาย 24,700 หมู่บ้าน เมื่อปลายปี 2560 ที่ผ่านมา และในปี 2561 นี้ รัฐบาลจะขยายโครงข่ายเน็ตประชารัฐเฟส 2 เพิ่มขึ้นอีก 15,732 หมู่บ้าน โดยใช้งบประมาณที่ประหยัดได้จากการดำเนินการโครงการในเฟสแรก ซึ่งจะทำให้โครงข่ายเน็ตประชารัฐเชื่อมต่อเป็นโครงข่ายเดียวกันทั้งประเทศ โดยเมื่อนำโครงการเน็ตประชารัฐทั้ง 2 เฟส มารวมกับหมู่บ้านที่มีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงเข้าถึงอยู่แล้ว 30,632 หมู่บ้าน และโครงการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในหมู่บ้านพื้นที่ชายขอบอีกจำนวน 3,920 ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ดำเนินการคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2561 จะถือได้ว่าประเทศไทยจะมีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงครอบคลุมครบ 74,987 หมู่บ้าน ทั่วประเทศ ส่งผลดีต่อการเข้าถึงระบบไอซีทีของประชาชนไทยได้เป็นอย่างดี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ