กรมควบคุมโรคลงพื้นที่กาฬสินธุ์ ดูพื้นที่ตัวอย่างการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์

ข่าวทั่วไป Tuesday June 12, 2018 14:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 มิ.ย.--กรมควบคุมโรค กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและศึกษาการดำเนินงานแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม กรณีขยะอิเล็กทรอนิกส์ ในพื้นที่ ต.โคกสะอาด อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ ชี้ อ.ฆ้องชัย เป็นตัวอย่างการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอแบบรูปธรรม ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เน้นการบูรณาการจัดการปัญหาแบบครบวงจรทุกภาคส่วน ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต แก้ปัญหาทั้งด้านคน สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจครัวเรือน โดยภาครัฐที่เกี่ยวข้องสนับสนุน ร่วมวางแผน มีการเฝ้าระวังและตรวจสุขภาพประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และในเดือนกรกฎาคมนี้ จะมีการเฝ้าระวังสารโลหะหนักในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์และกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี วันนี้ (12 มิถุนายน 2561) ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมนายสนั่น พงษ์อักษร รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ นายแพทย์ธีรวัฒน์ วลัยเสถียร ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น และนายแพทย์ประวิตร ศรีบุญรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ นำคณะสื่อมวลชนลงพื้นที่ศึกษาการดำเนินงานแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม กรณีขยะอิเล็กทรอนิกส์ ในพื้นที่ ต.โคกสะอาด อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์ คือ ซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ ที่ไม่ใช้แล้วในชีวิตประจำวัน เช่น โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ และโทรศัพท์มือถือ เป็นต้น สำหรับการคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ในพื้นที่ดังกล่าว พบว่าประชาชนมีการประกอบอาชีพคัดแยกขยะและซากอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมู่บ้าน โดยทำเป็นอาชีพเสริมจากการทำนา มาเป็นระยะเวลากว่า 20 ปีแล้ว และเนื่องจากขยะนี้มีสารอันตรายและโลหะหนักหลายชนิด อาทิ ตะกั่ว ปรอท แคดเมียม รวมทั้งโลหะมีค่าและแร่ธาตุที่หายากหลายชนิด จึงต้องจัดการอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันผลต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ผ่านมาได้มีหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ดำเนินการเฝ้าระวังและตรวจคัดกรองสุขภาพประชาชนในพื้นที่ รวมถึงเฝ้าระวังการปนเปื้อนของสารเคมีอันตรายในดินและแหล่งน้ำอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ เป็นตัวอย่างการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภออย่างแบบรูปธรรม โดยมีนายอำเภอ และองค์การบริหารส่วนตำบล เป็นผู้นำในการช่วยแก้ไขปัญหาทั้งด้านคน สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจชุมชน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต โดยที่นี่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพราะทำอาชีพนี้เกือบหมดทุกครัวเรือน และให้ภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้ามาสนับสนุนและร่วมวางแผนเชิงระบบ เพื่อจัดการด้านเฝ้าระวัง ป้องกัน ดูแลรักษา โดยในระยะยาวภาครัฐจะร่วมวางแผนกับภาคประชาชนเพื่อแก้ไขปัญหาโดยใช้ พ.ร.บ.โรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม สนับสนุนต่อไป จากข้อมูลล่าสุดในปี 2559 ของสำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค ในการคัดกรองสุขภาพผู้ประกอบอาชีพคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ในพื้นที่ ต.โคกสะอาด จำนวน 194 ราย พบว่า มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อเนื่องจากการยกของหนัก มากที่สุด ร้อยละ 71.1 รองลงมาคือมีอาการผื่นคันผิวหนัง/คัดจมูกเนื่องจากสัมผัสฝุ่น ร้อยละ 47.9 มีการบาดเจ็บเล็กน้อยเนื่องจากอุบัติเหตุจากการถอดแยกชิ้นส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์ ร้อยละ 38.7 ตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีการเก็บตัวอย่างปัสสาวะกลุ่มผู้ประกอบอาชีพคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะบ้านที่มีการคัดแยกชิ้นส่วนจอทีวี คอมพิวเตอร์ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์มาเป็นเวลานาน จำนวน 173 ราย เพื่อตรวจหาสารแคดเมี่ยมในร่างกาย พบว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติทุกราย ส่วนการดำเนินงานในปี 2560 ที่ผ่านมา กรมควบคุมโรค โดยสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 จังหวัดขอนแก่น ร่วมกับเครือข่ายกระทรวงศึกษาธิการ ได้ร่วมกันผลิตหน่วยการเรียนรู้เรื่องการป้องกันโรคและภัยสุขภาพจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อนำไปทดลองใช้สำหรับสอนนักเรียนในโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวทั้ง 8 แห่ง และในปี 2561 นี้ จะได้มีการดำเนินการเฝ้าระวังสารโลหะหนักในกลุ่มผู้ประกอบอาชีพคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์และกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ ด้านนายสนั่น พงษ์อักษร รองผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้มีการสนับสนุนให้มีการคัดแยกขยะที่ต้นทางตามโครงการจังหวัดสะอาด ทั้งในหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน รวม 4,469 แห่ง โดยมีหมู่บ้าน/ชุมชนต้นแบบการจัดการขยะ 159 แห่ง และเริ่มให้มีจุดรวบรวมขยะอันตรายหมู่บ้านละ 1 แห่ง ซึ่งที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน จังหวัดกาฬสินธุ์มีการจัดการปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ในพื้นที่แบบครบวงจรและบูรณาการทุกภาคส่วน ขับเคลื่อนผ่านกลไกของคณะกรรมการสาธารณสุขระดับจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน และมีศูนย์วิชาการระดับเขต เครือข่ายคณาจารย์จากภาคสถาบันการศึกษาต่างๆ ร่วมเป็นที่ปรึกษาด้านวิชาการ โดยกำหนดยุทธศาสตร์ในการแก้ไขปัญหา 7 ยุทธศาสตร์ ดังนี้ 1) พัฒนาระบบการดูแลเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชาชน 2) พัฒนาระบบเฝ้าระวัง ป้องกัน แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากปัญหามลพิษขยะอิเล็กทรอนิกส์ 3) สร้างความรู้ ทักษะที่ถูกต้องนำสู่การเกิดจิตสำนึกและวินัยของประชาชนและผู้ประกอบการในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ 4) พัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมและรูปแบบการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ 5) สร้างความเข้มแข็งขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์และมาตรการทางกฎหมาย 6) สร้างกลไกการบูรณาการความร่วมมือทุกภาคส่วนในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยใช้พื้นที่เป็นฐาน และ 7) ส่งเสริมอาชีพเสริมและอาชีพทางเลือกที่มั่นคงทั้งผู้ประกอบการและประชาชน ซึ่งยุทธศาสตร์ทั้งหมดมีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดี สิ่งแวดล้อมในชุมชนปลอดภัยและเป็นศูนย์เรียนรู้ในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศต่อไปในอนาคต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ