สยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ เผย “คนไทย 69.35% เชื่อมีเจ้าหน้าที่รู้เห็นเป็นใจกับการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์”

ข่าวทั่วไป Monday June 18, 2018 10:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 มิ.ย.--วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม ศ. ดร.ศรีศักดิ์ จามรมาน ประธานกรรมการอาวุโสสำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม(STC) แถลงผลการสำรวจ "ความรับรู้และความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อปัญหาการทำลายขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย" สำรวจระหว่างวันที่ 10 ถึง 15 มิถุนายน พ.ศ. 2561 จากกลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 1,168 คน หลังจากที่มีการเผยแพร่ข่าวการเข้าตรวจสอบจับกุมขบวนการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศอย่างต่อเนื่องในรอบหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ทำให้ผู้คนในสังคมเริ่มตื่นตัวและให้ความสำคัญเกี่ยวกับปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ทั้งนี้ ขยะอิเล็กทรอนิกส์จำพวกเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ของเล่นประเภทเกมกด จัดเป็นขยะที่ก่อมลพิษกับสิ่งแวดล้อมและเป็นอันตรายกับสุขภาพมนุษย์ แต่ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ก็ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทยในช่วงปี พ.ศ. 2556 ถึง 2559 ประเทศไทยมีปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์จากชุมชนโดยเฉลี่ย 380,605 ตันต่อปี หรือเพิ่มขึ้นราวร้อยละ 2.2 ต่อปี โดยขยะอิเล็กทรอนิกส์คิดเป็นสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 64.8 ของปริมาณของเสียอันตรายที่เกิดขึ้นในชุมชนทั้งหมด ขณะที่ปัจจุบันในหลายประเทศได้ออกกฎหมายควบคุมปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ และกำหนดหลักเกณฑ์ในการทำลายขยะอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงห้ามการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ แต่ประเทศไทยกลับเป็นแหล่งที่มีการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากประเทศต่างๆเพื่อมาทำลายมากที่สุดประเทศหนึ่ง ด้วยเหตุดังกล่าวนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อมรวมถึงผู้คนทั่วไปโดยเฉพาะประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้โรงงานแปรรูปขยะอิเล็กทรอนิกส์จึงเริ่มออกมาเรียกร้องและเสนอแนวทางให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ปัญหาการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างจริงจังมากขึ้น จากประเด็นดังกล่าว สำนักวิจัยสยามเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตโพลล์ได้ทำการสำรวจความรับรู้และความคิดเห็นของประชาชนทั่วไปต่อปัญหาการทำลายขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดซึ่งเป็นเพศหญิงร้อยละ 50.34 เพศชายร้อยละ 49.66 อายุ 18 ปีขึ้นไป สามารถสรุปผลได้ดังนี้ ในด้านความรับรู้เกี่ยวกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งคิดเป็นร้อยละ 55.31 ทราบว่า "ขยะอิเล็กทรอนิกส์" หมายถึงขยะจำพวกอุปกรณ์ไฟฟ้า อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์เคลื่อนที่ และของเล่นที่ต้องใช้ไฟฟ้าหรือแบตเตอรี่ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 44.69 ยอมรับว่าตนเองไม่เคยทราบมาก่อน อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่แต่ไม่ถึงครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 48.89 ยอมรับว่าตนเองไม่รู้สึกกังวลว่าปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นปัญหาที่ใกล้ตัวและกำลังสร้างผลกระทบในการดำรงชีวิตประจำวันให้กับตนเอง โดยที่มีกลุ่มตัวอย่างเกือบหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 32.45 ระบุว่าตนเองรู้สึกกังวล ส่วนกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 18.66 ไม่แน่ใจ นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างมากกว่าครึ่งหนึ่งซึ่งคิดเป็นร้อยละ 52.91 ทราบคร่าวๆ ว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นขยะประเภทที่ก่อมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมและสร้างอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 18.49 ระบุว่าตนเองทราบโดยละเอียด อย่างไรก็ตาม มีกลุ่มตัวอย่างถึงร้อยละ 28.6 ยอมรับว่าไม่เคยทราบเลย ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 80.48 ไม่ทราบว่าในปัจจุบันประเทศไทยเป็นแหล่งนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากประเทศต่างๆ มากกว่าสามสิบประเทศ ทั้งนี้กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 73.03 มีความคิดเห็นว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเพิ่มการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายจากขยะอิเล็กทรอนิกส์สู่สาธารณะให้มากขึ้นกว่าในปัจจุบัน ในด้านความสนใจต่อข่าวการจับกุมโรงงานที่ลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดเป็นร้อยละ 47.86 ระบุว่าตนเองให้ความสนใจติดตามข่าวการเข้าจับกุมโรงงานที่ลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศมาทำลายในประเทศไทยบ้าง ขณะที่กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 20.38 ระบุว่าให้ความสนใจติดตามโดยละเอียด แต่มีกลุ่มตัวอย่างถึงเกือบหนึ่งในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 31.76 ยอมรับว่าตนเองไม่ได้ให้ความสนใจติดตามเลย ในด้านความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศนั้น กลุ่มตัวอย่างมากกว่าสองในสามหรือคิดเป็นร้อยละ 69.35 เชื่อว่ามีเจ้าหน้าที่รู้เห็นเป็นใจกับการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศมาทำลายในประเทศไทย ขณะเดียวกันกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 72.52 ร้อยละ 70.21 และร้อยละ 69.78 มีความคิดเห็นว่าหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบควบคุมสินค้าต่างๆ ที่นำเข้ามาในประเทศ มีการเพิ่มบทลงโทษกับโรงงานที่ลักลอบทำลายขยะอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจตราโรงงานที่ประกอบกิจการแปรรูปขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างต่อเนื่องจะมีส่วนช่วยลดปัญหาการลักลอบนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศมาทำลายในประเทศไทยได้ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 63.01 มีความคิดเห็นว่าการอนุญาตให้มีการจัดตั้งโรงงานแปรรูปขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศจะไม่มีส่วนช่วยลดปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ภายในประเทศได้จริง และกลุ่มตัวอย่างเกือบสามในสี่หรือคิดเป็นร้อยละ 74.06 มีความคิดเห็นว่ารัฐบาลจำเป็นต้องออกกฎหมายห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศในทุกกรณีเลย (อ่านข่าวต่อ : https://bit.ly/2lbC7Xl)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ