วธ.หนุนพัฒนาแหล่งโบราณสถาน-พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นในกลุ่มภาคเหนือตอนล่าง 2 สร้างแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ดันเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ผลักดัน "อุทัยธานี-นครสวรรค์-พิจิตร" เป็นเมืองแห่งลิเก

ข่าวทั่วไป Monday June 11, 2018 15:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 มิ.ย.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) เปิดเผยว่า กลุ่มภาคเหนือตอนล่าง 2 ซึ่งประกอบด้วย 4 จังหวัด คือ นครสวรรค์ อุทัยธานี พิจิตรและกำแพงเพชร มีแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่โดดเด่น ได้แก่ แหล่งท่องเที่ยวมรดกโลกห้วยขาแข้ง และอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร อีกทั้งมีวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่โดดเด่นหลากหลาย เช่น เมืองเก่าพิจิตร ชุมชนลิเก วิถีชีวิตลุ่มน้ำ กลุ่มชาติพันธุ์และเทศกาลประเพณี ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) ได้ขับเคลื่อนงานเพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้แก่ชุมชน ในกลุ่มภาคเหนือตอนล่าง 2 มาอย่างต่อเนื่อง โดยการพัฒนาแหล่งศิลปวัฒนธรรมเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว ได้แก่ อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติกำแพงเพชร เมืองเก่าพิจิตร วัดโพธิ์ประทับช้าง และประกาศต้นไม้สำคัญเป็นรุกขมรดกของแผ่นดิน รวม 6 ต้น ได้แก่ ต้นศรีมหาโพธิ์ จ.กำแพงเพชร ต้นมะขามไทยทรงดำ จ.นครสวรรค์ ต้นตะเคียนนางไม้ จ.พิจิตร ต้นผึ้งยักษ์ ต้นมะค่ายักษ์ ต้นพระเจ้าห้าองค์ จ.อุทัยธานี รวมทั้งส่งเสริมตลาดประชารัฐ ตลาดวัฒนธรรม ถนนสายวัฒนธรรม ชุมชนวัฒนธรรม และแหล่งเรียนรู้ชุมชน รวม 42 แห่ง อาทิ ย่านเก่าวังกรด พิจิตร เมืองสี่แคว นครสวรรค์ เป็นต้น เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ การท่องเที่ยวและสร้างรายได้สู่ชุมชน นอกจากนี้ วธ.ได้ส่งเสริมเทศกาลประเพณี เพื่อสืบสานวัฒนธรรม และส่งเสริมการท่องเที่ยว อาทิ ตรุษจีนปากน้ำโพ งานนมัสการหลวงพ่อเพชร แข่งเรือยาว เป็นต้น รวมถึงส่งเสริมศิลปิน การแสดงพื้นบ้านและมรดกภูมิปัญญา ได้แก่ ลิเก เพลงพื้นบ้าน และได้ประกาศขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม 12 รายการ อาทิ แข่งเรือ ภาษาก๋อง รำโทน วงมังคละ ลิเกป่า เพลงฉ่อง ตำนานชาละวันและผ้าทอไทยครั่ง เป็นต้น อีกทั้งส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม "พอเพียง วินัย สุจริต จิตอาสา" ให้เกิดขึ้นในจังหวัด โรงเรียน องค์กรและชุมชนคุณธรรม รวม 304 แห่ง ซึ่งผลจากการดำเนินการข้างต้น ทำให้ในปี 2560 มีนักท่องเที่ยวชาวไทยกว่า 4 ล้านคน และชาวต่างชาติกว่า 7.5 หมื่นคน และมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 7,685 ล้านบาท รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ (ครม.สัญจร) ครั้งที่ 4/2561 ระหว่างวันที่ 11-12 มิถุนายน 2561 ณ จังหวัดนครสวรรค์ โดยในวันที่ 10-11 มิถุนายน 2561 ได้ลงพื้นที่เยี่ยมชมและติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต้นไม้ใหญ่ในโครงการ "รุกขมรดกแห่งแผ่นดิน ใต้ร่มพระบารมี" โดยได้ไปเยี่ยมชมต้นเซียงหรือต้นผึ้งยักษ์ที่ อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี และเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดหนองโพ(วัดหลวงพ่อเดิม) อ.ตาคลี จ.นครสวรรค์ ซึ่งหลวงพ่อเดิม พุทธสโร อดีตเจ้าอาวาสวัดหนองโพธิ์ เป็นที่เคารพศรัทธาของพุทธศาสนิกชนในจังหวัดนครสวรรค์และจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งได้รับการยกย่องว่าเทพเจ้าแห่งนครสวรรค์ และเป็นผู้สร้างมีดหมอที่โด่งดังมากที่สุดในไทย ทั้งนี้ วธ.ได้ให้การสนับสนุนพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นวัดหนองโพ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่น นายวีระ กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ได้ไปเยี่ยมชมโบราณสถานและติดตามการดำเนินงานพัฒนาศักยภาพโบราณสถานใน จ.พิจิตร 2 แห่ง ได้แก่ วัดโพธิ์ประทับช้าง ซึ่งวัดแห่งนี้ได้รับการบูรณะซ่อมแซมจากกรมศิลปากรและขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมื่อปี 2478 สร้างขึ้นระหว่างปีพ.ศ. 2242 – 2244 ในสมัยสมเด็จพระสุริเยนทราธิบดี เพื่อเป็นอนุสรณ์สถาน ณ สถานที่ประสูติของพระองค์ ภายในอุโบสถมีพระพุทธรูปหลวงพ่อโต เป็นพระพุทธรูปปูนปั้น อายุ 300 ปีเศษ และเยี่ยมชมอุทยานเมืองเก่าพิจิตร สร้างขึ้นในสมัยพระยาโคตรบอง ประมาณปี พ.ศ. 1601 ขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมื่อปี พ.ศ. 2475 มีลักษณะเป็นเมืองโบราณ ประกอบด้วย กำแพงเมือง คูเมือง เจดีย์เก่า ฯลฯ ภายในอุทยานฯยังมีแหล่งท่องเที่ยว อาทิ ศาลหลักเมือง เจดีย์มหาธาตุ เกาะศรีมาลา ถ้ำไกรทอง-ชาละวัน นอกจากนี้ ยังได้เยี่ยมชมตลาดประชารัฐ ตลาดวัฒนธรรม ถนนสายวัฒนธรรมเมืองสี่แคว บริเวณต้นน้ำเจ้าพระยา เพื่อพัฒนาและเชื่อมโยงเส้นทางท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมในชุมชนท้องถิ่น รวมทั้งสินค้า ผลิตภัณฑ์ของฝากของที่ระลึกชุมชน นอกจากนี้ ยังได้เปิดงานมหกรรมลิเก ซึ่งวธ. มีนโยบายในการส่งเสริมศิลปินพื้นบ้าน โดยเสนอให้ จ.พิจิตร จ.อุทัยธานีและจ.นครสวรรค์ เป็นเมืองแห่งลิเก รวมทั้งส่งเสริมชุมชนลิเกให้เป็นชุมชนท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นและสร้างรายได้ให้แก่ศิลปินพื้นบ้านตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ