จบไปแล้ว..เทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ครั้งที่ 3 ตื่นใจกับ “Lotus Effect” กิจกรรมไฮไลท์ในงานที่ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพฯ

ข่าวทั่วไป Monday December 3, 2007 17:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ธ.ค.--สสวท.
เทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ ครั้งที่ 3 เพิ่งจัดฉายไปเมื่อวันที่ 13 - 23 พฤศจิกายน 2550 ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ท้องฟ้าจำลอง เอกมัย พิพิธภัณฑ์เด็กกรุงเทพมหานคร ที เค พาร์ค และองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ รังสิต คลอง 5 ซึ่งมีภาพยนตร์เข้าร่วมเทศกาลถึง 57 เรื่อง ทั้งจากประเทศไทย เยอรมนี ฝรั่งเศส ออสเตรีย ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร แคนาดา ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ และเบลเยี่ยม
การประกวดภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ในปีนี้ ได้แบ่งรางวัลออกเป็น 6 รางวัล ได้แก่ รางวัลภาพยนตร์เพื่อสิ่งแวดล้อม มอบแด่ภาพยนตร์ที่ช่วยทำให้เราตระหนักถึงความสำคัญของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เข้ากับธรรมชาติ ด้วยการให้ความรู้ด้านธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมด้วยกระบวนการการเรียนรู้และค้นพบที่เปี่ยมประสิทธิภาพ ได้แก่ ภาพยนตร์เรื่อง แม่น้ำเจ้าพระยา จากประเทศไทย
รางวัลภาพยนตร์เพื่อการศึกษา มอบแด่ภาพยนตร์สื่อการศึกษาที่นำเสนอการอธิบายความและให้ตัวอย่างที่เห็นและเข้าใจได้ง่ายในชีวิตประจำวันแก่เด็กๆ โดยนอกจากจะมีระดับการใช้ภาษา และการนำเสนอที่เหมาะสมแก่การทำความเข้าใจของเด็กในวัยเรียนแล้ว ยังช่วยส่งเสริมการเรียนการสอนในห้องเรียน ได้แก่ ภาพยนตร์เรื่อง ผจญภัยในโลก ตอน แมวกับสุนัข ใครฉลาดกว่ากัน จากประเทศเยอรมนี
รางวัลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ไบเออร์ มอบแด่ภาพยนตร์ที่เป็นสื่อสร้างสรรค์ในการให้ความรู้เรื่องร่างกายของเราและการดูแลรักษาร่างกายเพื่อสุขภาพและชีวิตที่ดีและยืนยาว ได้แก่ ภาพยนตร์เรื่อง สิทธิ์ในการมีชีวิต—ยาสำหรับผู้ป่วยเอดส์นับล้าน จากประเทศเยอรมนี
รางวัลภาพยอดเยี่ยม มอบแด่ภาพยนตร์ที่ถ่ายทอดความน่าหลงใหลของโลกและมนุษย์ลงในภาพยนตร์ได้อย่างงดงาม ด้วยฝีมือการถ่ายทำภาพยนตร์ของทีมงานที่ยอดเยี่ยมและเทคนิกอันทันสมัย ทั้งในด้านมุมกล้อง และการสร้างภาพด้วยเทคนิกแอนิเมชั่น ได้แก่ ภาพยนตร์เรื่อง ชัยชนะเหนือความเป็นไทได้ จากประเทศคานาดา
รางวัลภาพยนตร์สื่อวิทยาศาสตร์ยอดเยี่ยม มอบแด่ภาพยนตร์ที่เปี่ยมประสิทธิภาพในด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ โดยสามารถสื่อสารเนื้อหาวิทยาศาสตร์ที่มีความซับซ้อนให้เข้าใจได้อย่างง่ายดายด้วยแนวทางอันสร้างสรรค์และมีเสน่ห์ ได้แก่ ภาพยนตร์ เรื่อง จับมิติผ่านเลนส์ จากประเทศเยอรมนี
รางวัลพิเศษจากคณะกรรมการ มอบให้แด่ภาพยนตร์ที่ประทับใจคณะกรรมการและสมควรได้รับการยกย่องเป็นภาพยนตร์วิทยาศาสตร์ดีเด่นอีกเรื่องหนึ่ง ได้แก่ ภาพยนตร์เรื่อง ราชินีแห่งมวลไม้ จากประเทศอังกฤษ
เนื่องจากเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ในปีนี้ ชูประเด็นหลักเรื่อง “ไบโอนิค เรียนรู้จากธรรมชาติ” ไบโอนิคเป็นสาขาวิทยาศาสตร์ที่ค่อนข้างใหม่ ชื่อของมันเกิดจากการผสมคำระหว่าง Biology (ชีววิทยา) และ Technic (เทคนิค) เป็นการนำ การคิดค้นของธรรมชาติที่มีพัฒนาการมากว่าหลายล้านปี ออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้มีการนำหลักการไบโอนิคมาใช้แก้ปัญหาในศาสตร์ทุกสาขา โดยมีหลายสาขาที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง เช่น การบินและการลอยน้ำ จากการศึกษาวิจัยคุณสมบัติของนกกับปลา การวิ่งและการยึด จากการศึกษาวิจัยคุณสมบัติของแมลง การรับรู้ระบบสัมผัส ใช้ประโยชน์ในการสื่อสารใต้น้ำ ป้องกันอัคคีภัยหรือในการตรวจสอบวัสดุโดยไม่ทำให้เสียหาย
ในปีนี้ อาจารย์ราม ติวารี นักวิชาการ สาขาฟิสิกส์ สสวท. และทีมงานจาก สสวท. จึงได้ จัดกิจกรรมให้ความรู้แก่เยาวชนและผู้สนใจที่มาร่วมงานที่ท้องฟ้าจำลองกรุงเทพ ฯ โดยนำใบบัว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเทศกาล ฯ นี้ มาเป็นหลัก โดยจัดแสดงสระบัว และ Science Show
“กิจกรรมที่จัดเป็นพิเศษให้กับผู้เข้าชมภาพยนตร์ในเทศกาล ฯ ปีนี้ คือ ให้เด็ก ๆ หรือผู้ร่วมกิจกรรมวิเคราะห์ว่า บัวชนิดใดที่เกิดปรากฏการณ์โลตัสเอฟเฟค (Lotus Effect) หรือน้ำกลิ้งบนใบบัว ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นจากการที่ใบบัวมีปุ่มเล็ก ๆ และบนปุ่มมีขนระดับนาโน และมีสารเคลือบ ทำให้ หยดน้ำไม่สามารถซึมลงไปถึงใบบัวได้ จึงทำให้ใบไม่เปียก และผลจากความตึงผิวของน้ำ ทำให้น้ำรวม เป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน เราสามารถทำลายความตึงผิวนี้ได้ โดยหยดสารที่ช่วยลดแรงตึงผิวเช่น น้ำยาล้างจาน สบู่ ลงไป จะทำให้น้ำที่รวมตัวกันแตกกระจาย โลตัสเอฟเฟคนี้เกิดขึ้นกับบัวหลวงเท่านั้น ในกรณีของ บัวกระด้งหรือบัวสายจะไม่เกิด แต่สิ่งที่น่าสนใจของบัวกระด้ง คือ เนื่องจากใบมีพื้นที่มาก สามารถทำให้ รับน้ำหนักได้มาก เช่น เด็กสามารถขึ้นไปนั่งได้โดยไม่จม” อาจารย์รามอธิบาย
บัวขอบกระด้งหรือบัววิคตอเรีย ซึ่งมีถิ่นกำเนิดอยู่ในลุ่มน้ำอเมซอน ประเทศอเมริกาใต้ แล้วมีการค้นพบในสมัยราชวงศ์ของพระนางเจ้าวิคตอเรียแห่งอังกฤษ จึงให้นามวิทยาศาสตร์เพื่อเป็นเกียรติและแหล่งที่พบ สามารถรับน้ำหนักได้มาก อ. ราม จึงได้ทดลองนำเด็กชายวัย 4 ขวบครึ่ง หนัก 18 กิโลกรัม มานั่งบนในบัวเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง ปรากฏว่ารับน้ำหนักได้ ซึ่งเป็นคุณสมบัติพิเศษอย่างหนึ่งของใบบัวชนิดนี้ เหตุที่เด็กนั่งใบบัววิคตอเรียได้เพราะน้ำหนักของตัวคนกระจายไปตามขนาดใบนั่นเอง
ทั้งนี้ ปรากฏการณ์ Lotus Effect เป็นแรงบันดาลใจให้นักวิทยาศาสตร์คิดค้นวิธีการที่จะทำให้พื้นผิว มีความสามารถในการกันน้ำ เช่น วัสดุเคลือบกระจก เคลือบจานดาวเทียม สีทาบ้านที่สามารถไม่เปียกน้ำและสามารถทำความสะอาดตัวเองได้ เสื้อผ้ากันน้ำไร้รอยคราบสกปรก
ผลจากการทดลอง และเรียนรู้จากกิจกรรมที่จัด ทำให้เด็ก ๆ ได้รับความรู้แปลกใหม่และได้ความสนุกสนานกลับบ้านไปไม่น้อยเลยทีเดียว
ศ. ดร. สุรินทร์ พงศ์ศุภสมิทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) กล่าวว่า หลังจากเสร็จสิ้นงานนี้แล้ว สสวท. ได้ร่วมมือกับคณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยต่าง ๆ นำเอาภาพยนตร์ส่วนหนึ่งจากสถานทูตฝรั่งเศสไปฉายที่มหาวิทยาลัยต่างจังหวัด ซึ่งเป็นนโยบายหนึ่งของ สสวท. ที่จะทำให้เยาวชน คนในสังคม ได้เรียนรู้วิทยาศาสตร์จากภาพยนตร์ให้มากขึ้น เพื่อที่ประชาชน จะได้นำแนวคิดเหล่านี้ไปใช้อธิบายสิ่งที่เกิดรอบตัวอย่างเป็นวิทยาศาสตร์
ผู้ที่พลาดชมภาพยนตร์ในเทศกาลนี้ โปรดติดตามข่าวคราวความเคลื่อนไหวของเทศกาลภาพยนตร์วิทยาศาสตร์เพื่อการเรียนรู้ ครั้งที่ 4 จะจัดช่วงปลายปีหน้านี้แน่นอน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ