เรียนรู้ หัวใจ...ทำไมเต้นผิดจังหวะ

ข่าวทั่วไป Tuesday June 19, 2018 14:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 มิ.ย.--mascotcommunication โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ หลายคนอาจมองเป็นเรื่องไกลตัว ทั้งที่ความจริงแล้วโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกช่วงวัย โดยต้นเหตุที่ทำให้เกิดโรค มีทั้งจากการป่วยด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ โรคประจำตัว เช่น ไทรอยด์เป็นพิษ อีกทั้งพฤติกรรมการใช้ชีวิต ปัจจัยแวดล้อม และพันธุกรรมล้วนมีส่วนทำให้เกิดโรคนี้ได้เช่นกัน ซึ่งความรุนแรงของโรคอาจส่งผลให้เสียชีวิตแบบกะทันหันได้ ดังนั้นการรู้เท่าทันโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ควรใส่ใจ นายแพทย์ยศวีร์ อรรฆยากร อายุรแพทย์โรคหัวใจและแพทย์เฉพาะทางด้านไฟฟ้าหัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวถึง "ปัจจุบันคนไข้ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมักจะเจออาการหัวใจเต้นผิดจังหวะบ่อยที่สุดประมาณ 70% รวมทั้งกลุ่มที่มีโรคประจำตัวหรือรับประทานยาบางชนิด จากข้อมูลที่ผ่านมาพบว่า โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะในคนไทย 1,000 คน จะพบ 40 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนใหญ่มักเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป แต่ไม่ได้หมายความว่า เด็ก วัยรุ่น คนทำงานจะเป็นไม่ได้ ทุกคนมีสิทธิที่จะเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะได้" โดยปกติหัวใจของคนเราจะเต้นด้วยอัตรา 60-100 ครั้ง/นาที ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะจึงหมายถึง ภาวะห้องเต้นเร็วหรือช้ากว่าปกติ อาจเกิดจากความผิดปกติของกำเนิดกระแสไฟฟ้าหัวใจ การนำไฟฟ้าหัวใจ หรือทั้ง 2 อย่างรวมกัน โดยอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นจะส่งผลให้ผู้ที่ป่วยมีอาการดังนี้ 1.หัวใจเต้นช้าผิดปกติ คือน้อยกว่า 60 ครั้งต่อนาที 2.หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ คือเร็วกว่า 100 ครั้งต่อนาที 3.หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะสม่ำเสมอเช่น เต้นๆ หยุดๆ หรือเต้นเร็วสลับเต้นช้า สาเหตุหลักของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคผนังกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวผิดปกติ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด โรคความดันโลหิตสูง โรคลิ้นหัวใจผิดปกติ และโรคประจำตัวได้แก่ ไทรอยด์เป็นพิษ โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคไตวายเรื้อรัง เป็นต้น รวมถึงการใช้ยาแก้หวัดบางชนิดที่มีส่วนผสมของซูโดอีเฟดรีน ซึ่งมีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนผสม ได้แก่ ชา กาแฟ น้ำอัดลม เครื่องดื่มชูกำลัง แอลกอฮอล์ เป็นต้น ผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดปกติส่วนหนึ่งจะไม่มีอาการ ทำให้ไม่ได้ตระหนักถึงความสำคัญและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น มีได้ตั้งแต่เป็นอัมพาตจนถึงเสียชีวิต การสังเกตอาการเบื้องต้น หากมีอาการดังนี้ควรรีบไปพบแพทย์ทันทีคือ ใจสั่นผิดปกติ วูบ หน้ามืด เป็นลม จุกแน่นขึ้นคอ ลิ้นปี เจ็บแน่นหน้าอก อ่อนเพลีย ไม่มีแรง นอนราบไม่ได้ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะสามารถวินิจฉัยได้หลายรูปแบบ ได้แก่ 1)การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ECG (Electrocardiogram) เหมาะกับผู้ป่วยที่มีอาการตลอดเวลา 2)เครื่องบันทึกสัญญาณไฟฟ้า 24-48 ชั่วโมง (Holter Monitoring 24-48 hr.) เหมาะกับผู้ป่วยที่หัวใจเต้นผิดจังหวะในช่วงสั้นๆ แต่เป็นบ่อยเกือบทุกวัน 3)เครื่องบันทึกสัญญาณไฟฟ้าแบบพกพา (Event Recorder) เหมาะกับผู้ป่วยที่หัวใจเต้นผิดจังหวะไม่บ่อย อาจจะเดือนละ 1-2 ครั้ง โดยเครื่องจะบันทึกเป็นช่วงเวลาสั้น ๆ และกดปุ่มส่งบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจมาที่โรงพยาบาลได้ 4)เครื่องบันทึกสัญญาณไฟฟ้าชนิดฝังเครื่องใต้ผิวหนังบริเวณหน้าอก (Implantable Loop Recorder) เหมาะกับผู้ป่วยที่หัวใจเต้นผิดจังหวะไม่บ่อย จะใช้วิธีฝังบริเวณหน้าอกด้านซ้าย 5)การตรวจเช็กสัญญาณไฟฟ้าที่ผิดปกติในหัวใจโดยใช้สายสวนหัวใจ (EP Study) วิธีนี้จะใช้ในกรณีที่ไม่สามารถเจอภาวะหัวใจเต้นผิดปกติได้จากการตรวจต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น การรักษาโรคขึ้นอยู่กับผู้ป่วย ว่าเป็นโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะแบบใด โดยมีวิธีในการรักษาดังต่อไปนี้ การให้ยาต้านหัวใจเต้นผิดจังหวะ การช็อกไฟฟ้าหัวใจเพื่อให้หัวใจกลับมาเต้นปกติ การจี้ไฟฟ้าหัวใจด้วยสายสวนหัวใจชนิดพิเศษสวนเข้า ไปบริเวณเส้นเลือดดำที่ขาหนีบ การติดเครื่องกระตุ้นหัวใจ (Pacemaker) ใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยหัวใจเต้นช้ามากผิดปกติ มี 2 แบบคือ ชนิดกระตุ้นห้องเดียวและสองห้อง การเลือกฝังเครื่องขึ้นอยู่กับผู้ป่วยเป็นสำคัญ โดยแบตเตอรี่ใช้งานได้ 10 ปีขึ้นไปและเข้าเครื่อง MRI ได้ เครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติหรือเครื่องช็อกไฟฟ้าหัวใจอัตโนมัติ (AICD) ในกรณีที่ผู้ป่วยหัวใจห้องล่างเต้นเร็วผิดปกติ หากหัวใจไม่กลับมาเต้นตามปกติในเวลาที่รวดเร็วอาจเสียชีวิตได้ โดยแบตเตอรี่จะมีอายุใช้งาน 7-8 ปีขึ้นไป ข้อดีของเครื่องนี้คือ ถ้าอยู่บ้านแล้วหัวใจเต้นผิดจังหวะจนถึงขั้นมีอันตรายถึงชีวิต เครื่องจะกระตุกหัวใจจะทำงานอัตโนมัติเพื่อให้ผู้ป่วยฟื้น เราสามารถห่างไกลโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ได้แก่ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ 45 นาที/วัน 3-5 วัน/สัปดาห์ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ อย่ารับประทานอาหารที่มีรสหวาน มัน เค็มมาก นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 6-8 ชั่วโมง/วัน ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี หากมีโรคประจำตัวควรติดตามอาการกับแพทย์อย่างสม่ำเสมอ ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่จะไปกระตุ้นทำให้เกิดอาการหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ ได้แก่ ความเครียด วิตกกังวล พักผ่อนไม่เพียงพอ ออกกำลังกายหักโหม การสูบบุหรี่ นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่หัวใจเต้นผิดจังหวะควรมาพบแพทย์ตามนัดทุก 1-2 เดือน เพื่อติดตามผลการรักษาและอาการอย่างต่อเนื่อง สำหรับผู้ที่มีอาการแปลกๆ ตามที่กล่าวข้างต้น อย่านิ่งนอนใจ ควรรีบมาพบอายุรแพทย์โรคหัวใจ เพื่อจะได้คัดกรองกลุ่มอาการของโรคได้ถูกต้องและทำการรักษาอย่างเหมาะสม เพราะหัวใจเป็นอวัยวะสำคัญที่ทำงานต่อเนื่องตลอดเวลา อย่าละเลยที่จะดูแลหัวใจของคุณให้เต้นถูกจังหวะ สอบถามเพิ่มเติม คลินิกหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ โทร. 02-310-3000 หรือ โทร 1719

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ