ไปรษณีย์ไทย ย้ำมาตรการ 'สิ่งของต้องห้ามฝากส่ง’ ผ่านเส้นทางไปรษณีย์ ชี้ 'สิ่งมีชีวิต’ ห้ามส่ง หากตรวจพบดำเนินคดีแน่นอน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 21, 2018 10:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 มิ.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) แจ้งทำความเข้าใจผู้ใช้บริการถึงสิ่งของต้องห้ามฝากส่งทางไปรษณีย์ หลังพบมีการลักลอบส่งงูเข้าสู่เส้นทางกระบวนการทำงาน ประกาศย้ำห้ามฝากส่ง "สิ่งมีชีวิต" ผ่านเส้นทางไปรษณีย์เป็นสิ่งผิดกฎหมาย ไม่สามารถทำได้ และหากเกิดกรณีตรวจการส่งสิ่งของผิดกฎหมายนั้น สามารถติดตามหาผู้กระทำผิดผ่านการตรวจสอบไปยังเลขที่บัตรประชาชนของผู้ฝากส่ง และตรวจสอบภาพของผู้ฝากส่งด้วยภาพบันทึกกล้องวงจรปิด (CCTV) ณ ที่ทำการไปรษณีย์ทั่วประเทศ เพื่อส่งต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดำเนินคดีทางกฎหมายต่อไป นางสมร เทิดธรรมพิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) กล่าวว่า การฝากส่ง "สิ่งมีชีวิต" ถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากเป็นหนึ่งในสิ่งของต้องห้ามฝากส่งในเส้นทางไปรษณีย์ ตามพระราชบัญญัติไปรษณีย์ พ.ศ.2477 และผู้กระทำผิดจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งไปรษณีย์ไทยมีมาตรการความปลอดภัยและป้องกันการลักลอบฝากส่งสิ่งมีชีวิตอย่างเคร่งครัด ประกอบด้วย การขอความร่วมมือให้ผู้ใช้บริการแสดงบัตรประจำตัวประชาชนแก่เจ้าหน้าที่ทุกครั้งของการฝากส่ง การติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) ภายในที่ทำการไปรษณีย์ทั่วประเทศ เพื่อให้สามารถตรวจสอบถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการฝากส่งสิ่งของผิดกฎหมาย เพื่อส่งต่อไปยังเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินคดีต่อไป ตลอดจนการใช้เครื่องสแกนสิ่งของฝากส่งแบบเอ็กซเรย์ (X-ray) ณ ศูนย์ไปรษณีย์ทั่วประเทศ ก่อนทำการคัดแยกเพื่อส่งต่อสู่ระบบนำจ่าย สำหรับสิ่งของต้องห้ามฝากส่งทางไปรษณีย์นั้น มี 6 ประเภท ได้แก่ 1. สัตว์มีชีวิต 2. สิ่งเสพติด 3. วัตถุลามกอนาจาร 4. วัตถุระเบิดหรือวัตถุไวไฟทุกชนิด 5. วัตถุมีคมที่ไม่มีสิ่งหุ้มห่อ และ 6. ธนบัตร ทั้งนี้ ไปรษณีย์ไทย มุ่งเดินหน้าพัฒนาศักยภาพระบบงานไปรษณีย์ ที่ครอบคลุมและรอบด้านยิ่งขึ้น เพื่อรักษามาตรฐานการให้บริการ และสร้างความพึงพอใจแก่ผู้ใช้บริการสูงสุด เพื่อตอกย้ำศักยภาพการทำงานของไปรษณีย์ไทย ในฐานะ "เครือข่ายชีวิตและเศรษฐกิจไทย" อย่างแท้จริง สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ THP Contact Center 1545 เว็บไซต์ www.thailandpost.co.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ