ช.การช่าง หนุน “สตาร์ทอัพไทยแลนด์ 2018” ดันสตาร์ทอัพหน้าใหม่ยกระดับก่อสร้างไทยได้ทีม น.ศ.จุฬา คว้ารางวัลชนะเลิศ จากเทคโนโลยีดักเสียงในพื้นที่ก่อสร้าง

ข่าวอสังหา Monday June 25, 2018 11:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 มิ.ย.--โอกิลวี่ พับลิค รีเลชั่นส์ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ในประเทศไทยยังคงรุดหน้าอย่างต่อเนื่อง ในฐานะปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศ นวัตกรรมเพื่อการจัดการด้านการก่อสร้างหรือเทคโนโลยีที่จะช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อมและชุมชนจึงเป็นสิ่งสำคัญต่อการพัฒนาวงการก่อสร้างไทย และได้รับความสนใจจากนักพัฒนานวัตกรรมรุ่นใหม่ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ช.การช่าง ได้เข้าร่วมเป็น 1 ใน 5 ผู้สนับสนุนกิจกรรม Hackathonการแข่งขันสร้างสรรค์แนวคิดนวัตกรรมภายใต้โครงการ"สตาร์ทอัพ ไทยแลนด์ 2018" (Startup Thailand 2018) จัดโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) ซึ่ง ช.การช่าง ได้ร่วมสนับสนุนในส่วนนวัตกรรมที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง และได้ผู้ชนะจากผู้เข้าแข่งขัน 20 ทีม คือทีม "Petch Gap Good and Friend" กลุ่มนิสิตชั้นปีที่ 3 ภาควิชาสารสนเทศและการสื่อสาร คณะวิศวกรรมศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยคว้าเงินรางวัล 1 แสนบาทไปได้จากไอเดีย "Sa-Ngard" (สงัด) นวัตกรรมที่ประยุกต์ระบบ Active Noise Canceling การขจัดเสียงรบกวนที่เกิดจากพื้นที่ก่อสร้าง และ อีก 3 รางวัลชมเชย ได้แก่ ทีม MAT-E (แมท - อี) จากคอนกรีตมวลเบาอนามัย โดยคณะอาจารย์และนักศึกษาจากภาควิชาวิศวกรรมวัสดุ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทีม UB::SAVE (ยูบี เซฟ) จากเทคโนโลยีเครื่องบำบัดน้ำเสียประหยัดพลังงาน และทีม Loops (ลูปส์) จากแอพลิเคชั่นรถตู้โดยสารสำหรับงานคอนเสิร์ต สุภามาส ตรีวิศวเวทย์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงการร่วมสนับสนุนโครงการนี้ว่า "เราให้ความสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อนำมาเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในขั้นตอนการดำเนินงาน ทั้งยังช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนเพราะความปลอดภัยและการดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชนเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญมาโดยตลอด อยากเห็นคนรุ่นใหม่ระดมความคิดสร้างสรรค์เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมก่อสร้างของไทยให้มีศักยภาพทางการแข่งขันสูง และเป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย" SA-NGARD (สงัด)นวัตกรรมลดเสียงดังจากการก่อสร้าง ด้วยชื่อ "สงัด" ที่สื่อความหมายชัดเจนอยู่แล้ว นวัตกรรมโดยทีม Petch Gap Good and Friend เกิดขึ้นเพื่อยกระดับการแก้ไขปัญหามลพิษทางเสียงที่เกิดจากการก่อสร้าง ซึ่งปกติไซต์ก่อสร้างจะใช้วิธีก่อกำแพงป้องกันเสียง อย่างไรก็ตามเสียงที่เกิดจากการก่อสร้างอยู่ในช่วงคลื่นความถี่ต่ำ ไม่อาจถูกกักให้อยู่ภายในไซต์ก่อสร้างด้วยกำแพงได้และยังคงมีเสียงดังรบกวนชุมชนบริเวณใกล้เคียงอยู่ ดังนั้น SA-NGARD จึงเข้ามาช่วยจัดการเสียงในช่วงคลื่นความถี่ต่ำ โดยประยุกต์ระบบ Active Noise Cancelling (การขจัดเสียงรบกวนโดยใช้พลังงานไฟฟ้า) ที่อยู่ในหูฟัง รับคลื่นเสียงจากการก่อสร้างเข้ามาทางไมโครโฟน ประมวลและแปลงคลื่นความถี่ผ่านชิพ และปล่อยคลื่นเสียงที่จะช่วยหักล้างเสียงดังจากการก่อสร้างออกมาผ่านทางลำโพง ทำให้เสียงรบกวนชุมชนและคนงานก่อสร้างหายไป กวิน เสริมศักดิ์สกุล นิสิตวิศวะ จุฬาฯ ตัวแทนทีมผู้พัฒนา เล่าว่า "พวกเราเคยร่วมงาน Hackathon หรือการประกวดนวัตกรรมมาบ้าง แต่ไม่เคยเจอกับโจทย์ที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง ซึ่งไม่ค่อยมีใครสนใจกับปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบการก่อสร้างเพราะมองว่ามันไกลตัวทั้งที่สิ่งต่าง ๆ รอบตัวในชีวิตประจำวัน ทั้ง รถไฟฟ้า ถนน อาคาร บ้านเรือน เกิดมาจากการก่อสร้างทั้งนั้น ผมจึงคิดว่าการพัฒนานวัตกรรมที่จะมาช่วยแก้ไขปัญหาหรือยกระดับการก่อสร้างมีความสำคัญมาก และอยากให้คนรุ่นใหม่หันมาใส่ใจกับเรื่องนี้กันมากขึ้น" คอนกรีตมวลเบาอนามัย รักษ์โลกเปลี่ยนขยะธรรมชาติให้เป็นวัสดุก่อสร้าง นวัตกรรมจากทีม MAT-E ผู้ชนะในประเภทกลุ่มบุคคลทั่วไป นำทีมโดย ผศ. ดร. อรทัย จงประทีป คณะอาจารย์และนักศึกษาจากภาควิชาวิศวกรรมวัสดุ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เกิดจากแนวคิดที่ต้องการจะลดปัญหามลพิษฝุ่นควันซึ่งเกิดขึ้นจากการระเบิดภูเขาหินปูนเพื่อเอาหินปูนหรือแคลเซียมมาทำเป็นผงซีเมนต์ที่ใช้ในการก่อสร้าง จึงพยายามหาแหล่งแคลเซียมอื่นมาทดแทนจากเศษวัสดุธรรมชาติที่ไม่ได้ใช้ เช่น เปลือกหอย กระดูกที่มีแคลเซียม หรือเถ้าแกลบที่มีซิลิกา ซึ่งในประเทศเทศไทยมีสิ่งเหล่านี้มากมาย และระบบการผลิตอิฐมวลเบาอนามัย รักษ์โลก ที่ถูกต่อยอดมาจากงานวิจัยเดิมเกี่ยวกับการสังเคราะห์เซรามิกส์ ยังใช้ความร้อนน้อยลง จาก 1,400 - 1,600 องศา เหลือประมาณ 400 – 900 องศาจึงช่วยประหยัดพลังงาน และยังสามารถใส่สารพิเศษที่ทำให้สามารถฆ่าเชื้อโรค กันฝุ่น และกันความร้อนได้ในระดับหนึ่ง หนึ่งในกรรมการตัดสินการแข่งขันปาณิศา จัตตามาศ วิศวกรสิ่งแวดล้อม จาก ช.การช่างให้ความเห็นต่อการแข่งขันครั้งนี้ว่า "เราคาดหวังที่จะได้เห็นเทคโนโลยีนวัตกรรมหรือการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่ให้ต่างออกไปจากเดิมและเหมาะสมกับอุตสาหกรรมการก่อสร้าง เป็นสิ่งที่เราตื่นเต้นและประหลาดใจที่ได้เห็นผู้เข้าแข่งขันตีโจทย์ของ ช.การช่างและนำเสนอได้อย่างหลากหลายมากทีมผู้ชนะสามารถระดมความคิด แก้ปัญหาจากโจทย์ได้ภายใน 1 วัน มีการค้นคว้าข้อมูลและทดลอง มีความเป็นไปได้ในทางธุรกิจ และมีการนำเสนอที่ดี สามารถทำให้เราเห็นภาพถึงปัญหา ที่มา การสร้างนวัตกรรมจากกระประยุกต์เทคโนโลยีที่มีอยู่ ไปจนถึงผลลัพธ์จนทำให้เราเห็นภาพรวมของไอเดียได้อย่างชัดเจนช.การช่างหวังว่ากิจกรรม Hackathon ครั้งนี้จะช่วยจุดประกายให้คนรุ่นใหม่และผู้เข้าแข่งขันเข้าใจแนวคิดของการก่อสร้างที่รักษ์โลกและมีรับผิดชอบ(Green & Responsible Construction)ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น" การเฟ้นหาสตาร์ทอัพหน้าใหม่ของวงการจึงไม่ใช่เป็นแค่เพียงการสร้างมูลค่าเพิ่มหรือเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ธุรกิจแต่เพียงเท่านั้น หากแต่เทคโนโลยีนั้นๆยังจะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในขั้นตอนการดำเนินงาน นำไปสู่การยกระดับคุณภาพในอุตสาหกรรมของประเทศและมีบทบาทในการช่วยดูแลสังคมสิ่งแวดล้อม เสริมให้ธุรกิจมีความรับผิดชอบ สร้างประโยชน์ให้กับสังคมและผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วนได้อีกด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ