ศุลกากร จับกุม อายัด พร้อมผลักดันตู้สินค้า เศษอิเล็กทรอนิกส์ เศษพลาสติก และเศษโลหะ รวมกว่า 100 ตู้

ข่าวทั่วไป Wednesday June 27, 2018 09:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 มิ.ย.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง วันนี้ (วันอังคารที่ 26 มิถุนายน 2561) เวลา 13.30 น. นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร ร่วมกับนายบรรจง สุกรีฑา รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม แถลงข่าว จับกุม อายัด พร้อมผลักดันตู้สินค้าเศษอิเล็กทรอนิกส์ เศษพลาสติก และเศษโลหะ รวมกว่า 100 ตู้ ของสำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ ณ ศูนย์เอกซเรย์และเทคโนโลยีศุลกากร สำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ ตามที่นายกุลิศ สมบัติศิริ อธิบดีกรมศุลกากร มีนโยบายด้านการควบคุมทางศุลกากรและปกป้องสังคมอย่างเคร่งครัด จึงสั่งการให้ทุกหน่วยงานเข้มงวดเกี่ยวกับงานด้านพิธีการศุลกากรเป็นพิเศษ เพื่อสกัดกั้นป้องกันและปราบปรามสินค้าลักลอบ หลีกเลี่ยง ข้อห้าม ข้อจำกัด เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการจัดเก็บภาษี ปกป้องสังคมและสิ่งแวดล้อม จึงได้สั่งการให้ นายกิตติ สุทธิสัมพันธ์ รองอธิบดี และนายบุญมา สิริธรังศรี ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ เข้ามากำกับดูแล อย่างเข้มงวดในการสกัดกั้น และปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการนำเข้าส่งออกสินค้าประเภท ขยะอิเล็กทรอนิกส์ เศษพลาสติก และเศษโลหะ นายชัยยุทธ คำคุณ ที่ปรึกษาด้านพัฒนาระบบควบคุมทางศุลกากร ในฐานะโฆษกกรมศุลกากร กล่าวว่า สำนักงานศุลกากรท่าเรือกรุงเทพ ได้มีการอายัดสินค้าประเภทขยะอิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 4 ตู้ ซึ่งสำแดงบัญชีสินค้าสำหรับเรือเป็น Metal Scrap โดยประเทศต้นทางบรรทุกเป็นประเทศสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไม่มาดำเนินการผ่านพิธีการทางศุลกากรภายในระยะเวลาที่กำหนด จึงได้ดำเนินการเปิดตู้สินค้าเพื่อตรวจสอบ พบขยะอิเล็กทรอนิกส์ประเภทหม้อแปลงไฟฟ้าเก่าที่ใช้แล้ว ซึ่งจัดเป็นวัตถุอันตรายตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง บัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย พ.ศ.2556 ตามบัญชีรายชื่อวัตถุอันตราย ประเภท 5.2 ซึ่งต้องมีใบอนุญาตในการนำเข้าตามอนุสัญญาบาเซล โดยการนำเข้าการเคลื่อนย้าย จะต้องดำเนินการขออนุญาตกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมก่อนการนำเข้า สำหรับสถานการณ์การนำเข้าสินค้าประเภท เศษพลาสติก ในเขตท่าเรือกรุงเทพ มีสินค้าที่สำแดงบัญชีสินค้าสำหรับเรือเป็น Plastic Scrap มาจากประเทศต้นทางต่าง ๆ เช่น ประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น อังกฤษ สิงคโปร์ ฮ่องกง และจีน มีรายละเอียดของการดำเนินการ ดังนี้ 1.สินค้ามาถึงทำเนียบท่าเรือเกินกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย (30 วัน) กรณีแจ้งตัวแทนเรือ รอเพื่อให้มาดำเนินการผ่านพิธีการ (LIST A) จำนวน 47 ตู้ ส่วนกรณีแจ้งตัวแทนเรือ แล้วไม่มาดำเนินการผ่านพิธีการ (LIST F) อยู่ในระหว่างการเปิดตู้ร่วมกัน 3 ฝ่าย คือ กรมศุลกากร การท่าเรือกรุงเทพและตัวแทนเรือ จำนวน 42 ตู้ 2. สินค้าอยู่ในเขตทำเนียบท่าเรือ ซึ่งอยู่ในระหว่างระยะเวลา 30 วันที่ผู้รับของตามบัญชีสินค้าสำหรับเรือ จะดำเนินการผ่านพิธีการทางศุลกากร จำนวน 339 ตู้ รวมการนำเข้าสินค้าประเภท เศษพลาสติก ในเขตท่าเรือกรุงเทพ ทั้งสิ้นจำนวน จำนวน 428 ตู้ ทั้งนี้ ในการนำเข้าเศษพลาสติก ผู้ประกอบการจะต้องมีใบอนุญาตในการนำเข้าจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมและกรมการค้าต่างประเทศ ในส่วนของการนำเข้าสินค้าประเภทเศษโลหะ เช่น เศษทองแดง เศษทองเหลือง เศษอลูมิเนียม เศษสแตนเลส ที่ไม่ต้องมีใบอนุญาตขณะนำเข้า แต่เจ้าหน้าที่พบข้อสงสัยจึงได้ดำเนินการอายัดตู้สินค้า รวมทั้งสิ้นจำนวน 40 ตู้ มีรายละเอียด ดังนี้ กรณีได้ดำเนินการเปิดตู้สินค้าร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมแล้ว และอยู่ในระหว่างรอผลการตรวจสอบจากกรมโรงงานอุตสาหกรรม จำนวน 11 ตู้ สำหรับกรณีที่อยู่ระหว่างการอายัดและรอการตรวจสอบสินค้าร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม มีจำนวน 29 ตู้ ซึ่งการดำเนินการในกรณีของสินค้าประเภทประเภท ขยะอิเล็กทรอนิกส์ เศษพลาสติก และเศษโลหะ ที่ไม่ตรงตามใบอนุญาต ผิดเงื่อนไข หรือ ไม่มีใบอนุญาตของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนั้น กรมศุลกากรร่วมกับกรมโรงงานอุตสาหกรรมมีนโยบายที่จะผลักดันกลับประเทศต้นทางโดยทันที ทั้งนี้ กรมศุลกากรและกรมโรงงานอุตสาหกรรม ยังคงยืนยันที่จะดำเนินการร่วมกันตามมาตรการ ดังนี้ (1) จัดทำฐานข้อมูลร่วมกันระหว่างกรมศุลกากรและกรมโรงงานอุตสาหกรรม (Big Data) เพื่อทำการแลกเปลี่ยนข้อมูล และนำมาวิเคราะห์บริหารความเสี่ยง (Risk Management) (2) กรมศุลกากรจะนำระบบควบคุมทางศุลกากร โดยใช้ระบบเอกซ์เรย์ เข้ามาตรวจสอบตู้สินค้าทุกตู้ ซึ่งเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรและเจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม จะทำงานร่วมกันโดยจะทำการเปิดตรวจตู้สินค้าดังกล่าว ซึ่งหากท่าหรือที่ที่มีการนำเข้าหรือส่งออกสินค้าเศษอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก ในปริมาณมาก กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปประจำ ณ ท่าหรือที่ดังกล่าว (Contact Person/Contact Point) อาทิ สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง สำนักงานศุลกากรกรุงเทพ สำนักงานศุลกากรตรวจสินค้าลาดกระบัง เป็นต้น (3) เมื่อพบการกระทำความผิดจะทำการผลักดันสินค้าเศษอิเล็กทรอนิกส์และเศษพลาสติก ออกไปและให้ผู้นำเข้ารับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมด (4) ทำการตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) สำหรับบริษัทที่ได้รับใบอนุญาตในการนำเข้า เมื่อผ่านพิธีการศุลกากรตรวจปล่อยของออกจากอารักขาของศุลกากรแล้ว กรมศุลกากรจะทำการแจ้งไปยังกรมโรงงานอุตสาหกรรมให้ไปทำการตรวจสอบ ณ โรงงานต่อไป (5) ตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างกรมศุลกากรและกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในประเด็นข้อกฎหมาย เพื่อกำหนดมาตรการอุดช่องโหว่ ในการนำเข้า นำส่ง นำผ่านไปยังปลายทาง และกำหนดมาตรการเพิ่มโทษในกรณีที่มีการกระทำความผิด (6) กรณีบริษัททำกระทำความผิด ทางกรมศุลกากรจะส่งข้อมูลให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อยกเลิกใบอนุญาตต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ