กรมฝนหลวงฯ จับมือ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำบาดาล รองรับความต้องการใช้น้ำในภาวะวิกฤติ

ข่าวทั่วไป Monday July 9, 2018 09:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ก.ค.--กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ร่วมกับ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล บันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำบาดาล เพื่อบูรณาการด้านเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการน้ำบาดาล ให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติต่อไป วันที่ 5 กรกฎาคม 2561 เวลา 09.00 น. นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการเพิ่มประสิทธิภาพ การบริหารจัดการน้ำบาดาล ระหว่างกรมฝนหลวงและการบินเกษตร นำโดย นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร และนางสาวมาลินี สุทธิรัตน์ รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ด้านบริหาร กับ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล นำโดย นางอรัญญา เฟื่องสวัสดิ์ รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล และนางอรนุช หล่อเพ็ญศรี รองอธิบดีกรมทรัพยากรน้ำบาดาล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำบาดาล รองรับภาวะวิกฤติ และความต้องการใช้น้ำบาดาลในกิจกรรมต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้น รวมถึงความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในการร่วมวางแผน วิเคราะห์ ประเมินผล และติดตามผลการดำเนินงาน โดยนำเทคโนโลยีและความเชี่ยวชาญของแต่ละหน่วยงานมาบูรณาการ ในระยะเวลาความร่วมมือ 3 ปี เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อพี่น้องเกษตรกร ประชาชน และประเทศชาติต่อไป นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า กรมฝนหลวงและ การบินเกษตร เป็นหน่วยงานที่มีพันธกิจสำคัญในการบริหารจัดการน้ำในชั้นบรรยากาศ ทำให้เกิดการกระจายตัวของฝนในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อการพัฒนาด้านการเกษตร การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ และการบรรเทา ภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างบูรณาการ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่เกิดปัญหาสภาวะฝนทิ้งช่วง และการกระจายตัวของฝนไม่ครอบคลุมพื้นที่เกษตรกรรมนอกเขตชลประทาน ทำให้พื้นที่การเกษตรหลายแห่งได้รับความเสียหายจากการขาดแคลนน้ำเป็นอย่างมาก แนวทางในการบรรเทาสถานการณ์ดังกล่าว จำเป็นต้องมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่มีภารกิจด้านการบริหารจัดการน้ำและบรรเทาภัยพิบัติที่เกิดจากน้ำ ทั้งน้ำบนฟ้า น้ำผิวดิน และน้ำใต้ดิน ดังนั้น กรมฝนหลวงและการบินเกษตร จึงได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2561 เพื่อดำเนินงานด้านการบริหารจัดการน้ำอย่างบูรณาการ มุ่งเน้นความร่วมมือด้านวิชาการและวางแผนการปฏิบัติงานร่วมกัน เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเกิดมีประสิทธิภาพ สามารถรองรับภาวะวิกฤติและภัยพิบัติได้อย่างเหมาะสม ซึ่งการลงนามบันทึกข้อตกลงโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำบาดาลในครั้งนี้ ถือเป็นการต่อยอดการทำงานร่วมกันหลังจากมีการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์และขอบเขตความร่วมมือ ดังนี้ 1. ร่วมกันกำหนดพื้นที่เป้าหมายที่เหมาะสมในการเติมน้ำบาดาลลงสู่ใต้ดินตามธรรมชาติโดยการปฏิบัติการฝนหลวง 2. สร้างแนวทางการบูรณาการการทำงานร่วมกัน เพื่อร่วมวางแผน วิเคราะห์ ประเมินผล และติดตามผลการดำเนินงานภายใต้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำบาดาล 3. เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำบาดาล รองรับภาวะวิกฤติ และความต้องการใช้น้ำบาดาลในกิจกรรมต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้น ในโอกาสนี้ นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมคณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ของกรมฝนหลวงและการบินเกษตรและกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ได้นำสื่อมวลชนเยี่ยมชมการดำเนินงานในพื้นที่ศักยภาพของโครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรในพื้นที่ประสบภัยแล้ง ณ บ้านหนองระกำ หมู่ 5 ตำบลเขาชายธง อำเภอตากฟ้า จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเป็นพื้นที่การเกษตรนอกเขตชลประทาน ที่อยู่ในเขตเงาฝน เกษตรกรต้องประสบปัญหาขาดแคลนแหล่งน้ำเพื่อการเกษตรอยู่เป็นประจำ โดยพื้นที่แห่งนี้สามารถเพาะปลูกอ้อยได้เพียงหนึ่งรอบต่อปี ผลผลิตต่อไร่ตกต่ำ รายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ทำให้เกิดปัญหาหนี้สินและการละทิ้งถิ่นฐานเพื่อหารายได้มาใช้จ่ายในครอบครัว ภายหลังเข้าร่วมโครงการฯ ทำให้การปลูกอ้อย ที่ได้รับน้ำบาดาลมาช่วยเสริมมีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งนี้ จากความร่วมมือดังกล่าว กรมฝนหลวงและการบินเกษตรจะเข้ามามีส่วนร่วมในการสนับสนุนด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการ น้ำบาดาลในทุกพื้นที่ เพื่อรองรับภาวะวิกฤติและความต้องการใช้น้ำบาดาลในกิจกรรมต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้นต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ