นักวิชาการพลังงาน เตือน ปีหน้า ไทยหมดสิทธิ ส่งออก ก๊าซหุงต้ม หากยอดใช้ในภาคขนส่ง ยังเพิ่มไม่หยุด ชี้วิกฤตปลายปี 51

ข่าวทั่วไป Wednesday December 12, 2007 16:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ธ.ค.--สนพ.
นักวิชาการพลังงาน เตือน ปีหน้า ไทยหมดสิทธิ ส่งออก ก๊าซหุงต้ม หากยอดใช้ในภาคขนส่ง ยังเพิ่มไม่หยุด ชี้วิกฤตปลายปี 51 ไทยอาจต้องเสียงบประมาณมหาศาลนำเข้า ก๊าซหุงต้ม เพื่อให้เพียงพอต่อการใช้ในประเทศ
นายเทียนไชย จงพีร์เพียร นักวิชาการด้านพลังงาน เปิดเผยว่า จากยอดการใช้ก๊าซหุงต้มในภาคขนส่ง โดยเฉพาะในกลุ่มรถยนต์บ้าน ที่มียอดการปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์มาใช้ก๊าซหุงต้มแทนน้ำมัน ซึ่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้ตั้งแต่ปี 2549 เป็นต้นมาที่มียอดการใช้ก๊าซหุงต้มเพิ่มสูงถึง 51% และในปี 2550 นี้น่าจะมียอดการใช้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 30% นั้น จะทำให้ยอดการผลิตและยอดการใช้มาถึงจุดที่ใกล้เคียง และส่งผลกระทบต่อการส่งออกก๊าซหุงต้ม โดยในปี 2550 มีการผลิตก๊าซหุงต้ม 40 ล้านตัน แต่มียอดการใช้สูงถึง 38 ล้านตัน ซึ่งเหลือผลผลิตในการส่งออกไปต่างประเทศเพียง 2 ล้านตัน
ทั้งนี้ หากยอกการใช้ก๊าซหุงต้ม ในภาคขนส่งยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในระดับดังกล่าว เชื่อว่า ประเทศไทย จะมียอดการผลิตไม่เพียงพอต่อปริมาณการใช้ที่เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน และจะทำให้ ในปลายปี 2551 ประเทศจำเป็นต้องนำก๊าซหุงต้มเพื่อใช้ในประเทศ และต้องเสียงบประมาณเพิ่มขึ้นจำนวน เนื่องจากหากต้องนำเข้าก๊าซหุงต้มจากต่างประเทศ ซึ่งคาดว่าในเวลานั้น จะมีราคาสูง 800 เหรียญสหรัฐต่อตัน
“เวลานี้ ถึงเวลาที่ต้องปรับโครงสร้างราคาก๊าซหุงต้ม ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงแล้ว และเห็นด้วยที่ ภาครัฐ จะทยอยปรับราคาก๊าซหุงต้มขึ้นไป เพื่อให้ชะลอการใช้ลง โดยเฉพาะในภาคขนส่ง ซึ่งจะเป็นปัญหาสำคัญ หากยังไม่สามารถหยุดการใช้ในภาคขนส่งที่เพิ่มขึ้นได้ โดยเวลานี้ต้องยอมรับความจริงว่า หากเกิดการขาดแคลนก๊าซหุงต้มขึ้นมาจริง ๆ จะมีปัญหาใหญ่กว่าหลายเท่าตัว” นายเทียนไชยกล่าว
นายเทียนไชย กล่าวเพิ่มว่า นโยบายการปรับลอยตัวราคาก๊าซหุงต้มที่รัฐบาลได้เริ่มดำเนินการในช่วงนี้ ถือว่ามีความเหมาะสม โดยเฉพาะการปรับราคาก๊าซหุงต้มขึ้นไป 1.20 บาทต่อกิโลกรัม นอกจากจะช่วยทำให้ราคาก๊าซหุงต้ม ทยอยไปสู่การลอยตัวราคาที่แท้จริงแล้ว ยังเป็นการลดการชดเชยของกองทุนน้ำมัน ที่จะช่วยให้โครงสร้างราคาน้ำมัน มีความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ