ความเห็นต่อกรณีรัฐบาลเตรียมเก็บภาษีลาภลอยและแนวทางปฏิรูประบบภาษี 13.00 น. 15 ก.ค. 2561 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday July 16, 2018 10:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ก.ค.--คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความเห็นกรณีรัฐบาลเตรียมเก็บภาษีลาภลอย ว่า การเก็บภาษีลาภลอยต้องมุ่งเป้าหมายไปที่การสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและสังคม การขยายฐานรายได้ภาษี มีการจัดเก็บภาษีตามประโยชน์จากการลงทุนของรัฐที่ได้รับอย่างเป็นธรรม ในเบื้องตันจะมีการจัดเก็บภาษีลาภลอยจากบุคคลหรือนิติบุคคล ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินหรือครอบครองที่ดิน ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เจ้าของห้องชุดที่ใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูงกว่า 50 ล้านบาท และ พื้นที่จัดเก็บภาษีกำหนดขอบเขตไว้ไม่เกินรัศมีสูงสุดไม่เกิน 5 กิโลเมตรรอบโครงการ สัดส่วนภาษีต่อ GDP ของไทยอยู่ที่ประมาณ 17-18% เศรษฐกิจนอกระบบมีขนาดใหญ่ มีฐานภาษีแคบ ผู้ที่อยู่ในระบบภาษีมีจำนวนน้อยกว่าที่ควรจะเป็นก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในระบบภาษี ผู้ที่เสียภาษีอยู่ต้องแบกรับภาระมากเกินไป การเก็บภาษีลาภลอยจะช่วยสร้างความเป็นธรรมทางสังคมและเศรษฐกิจเพราะเป็นการจัดเก็บภาษีจากผู้ที่ได้รับประโยชน์โดยตรงจากโครงการลงทุนต่างๆของรัฐ สังคมไทยนั้นอาจจะมีความไว้เนื้อเชื่อใจต่อภาครัฐในการนำเงินภาษีของประชาชนไปใช้ไม่สูงนัก จึงไม่เอื้อให้ประชาชนยินดีจ่ายภาษีมากนัก ทั้งที่การเสียภาษีเป็นหน้าที่และผู้จ่ายภาษีมีส่วนสำคัญในการร่วมพัฒนาประเทศ ดร. อนุสรณ์ กล่าวว่า รัฐบาลควรทำประมาณการรายได้จากภาษีลาภลอยเพื่อสามารถวางแผนงบประมาณในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานได้ดีขึ้น โดยสามารถลดการกู้เงินในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็น โครงการระบบราง ท่าเรือ สนามบิน โครงการทางด่วนพิเศษ เป็นต้น หน่วยงานจัดเก็บภาษีควรดำเนินการร่วมกันระหว่างรัฐบาลกลางและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รายได้จากภาษีลาภลอยควรแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนหนึ่ง มอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อใช้บำรุงรักษาและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจในพื้นที่ อีกส่วนหนึ่ง เก็บรายได้เข้ารัฐบาลกลางเพื่อนำไปพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจในพื้นที่ซึ่งยังไม่มีการพัฒนา เพื่อให้ความความเจริญทางเศรษฐกิจและการพัฒนากระจายตัวไปยังพื้นที่ชนบท ไม่กระจุกตัวเฉพาะในกรุงเทพฯและปริมณฑล ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวอีกว่า ภายใต้โลกาภิวัตน์ไร้พรมแดน การใช้มาตรการภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำมีข้อจำกัดมากขึ้น การลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจจึงต้องมุ่งไปที่การใช้มาตรการใช้จ่ายทางด้านสวัสดิการ การผ่านกฎหมายภาษีมรดก รัฐบาลก็แทบจะเก็บภาษีไม่ค่อยได้เพราะมีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินไปต่างประเทศ อย่างล่าสุด รัฐบาลก็ต้องอนุมัติในหลักการร่างกฎหมายทรัสต์เพื่อจัดการทรัพย์สินเพื่อช่วยลดการนำทรัพย์สินออกไปบริหารจัดการนอกประเทศ รัฐบาลควรให้ประชาชนทุกคนมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีเพื่อทำให้ทุกคนเข้ามาอยู่ในระบบ หากมีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ก็ไม่ต้องเสียภาษี หากมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน รัฐสามารถดูแลสวัสดิการกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยนี้โดยนำเอามาตรการรายจ่ายด้านสวัสดิการมาผูกกับระบบภาษีได้ด้วย เมื่อมีฐานข้อมูลตรงนี้ก็จะสามารถใช้มาตรการเงินโอนเพื่อผู้มีรายได้น้อย (Negative Income Tax) ได้ มาตรการนี้จะสร้างแรงจูงใจให้คนเข้ามาอยู่ในระบบภาษี ในเวลาที่มีรายได้น้อยยากจน ไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษีจะได้รับเงินโอนช่วยเหลือ ในอนาคตเมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้นเข้าเกณฑ์การเสียภาษีก็จะเข้าสู่ระบบเสียภาษีโดยอัตโนมัติ การมีรายได้ของคนไทยอย่างชัดเจนทำให้การจัดสวัสดิการและการใช้งบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ รัฐควรไปศึกษาการปฏิรูปภาษีให้สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจดิจิทัลด้วย เนื่องจากธุรกรรมการซื้อขายสินค้าและบริการ ระบบการชำระเงินเกิดขึ้นในโลกออนไลน์และเว็บไซต์ซึ่งก่อให้เกิดความไม่ชัดเจนในการจัดเก็บภาษีและบางครั้งก็ไม่สามารถเก็บภาษีได้จากความซับซ้อนของธุรกรรมผ่านระบบดิจิทัลเหล่านี้ และ การจะแก้ไขปัญหานี้ต้องอาศัยความร่วมมือในระดับโลกที่ต้องมีแนวทางปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน นอกจากนี้ รัฐควรศึกษาถึงความเป็นไปได้ในการลดความเป็นระบบราชการของกรมจัดเก็บภาษี โดยปรับเปลี่ยนสู่การเป็น องค์กรจัดเก็บภาษีกึ่งอิสระ (Semi-Autonomous Revenue Agency)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ