ป.ป.ช. จัดโครงการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเพื่อขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา หวังสร้างกระแสสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต

ข่าวทั่วไป Monday July 16, 2018 16:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ก.ค.--สำนักงาน ป.ป.ช. นายวรวิทย์ สุขบุญ เลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะโฆษกสำนักงาน ป.ป.ช. กล่าวว่า สำนักงาน ป.ป.ช. กำหนดจัดโครงการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานเพื่อขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา เพื่อเป็นการชี้แจงทำความเข้าใจหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เสริมสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาไปสู่การปฏิบัติและเป็นการเผยแพร่หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา ตลอดจนการสร้างให้เกิดเครือข่ายความร่วมมือในการผลักดันหลักสูตรฯ ให้เกิดเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างกระแสสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต ในวันจันทร์ที่ 23 กรกฎาคม 2561 เวลา 08.30 – 16.30 น. ณ ห้องจูปิเตอร์ 11 – 13 อาคารซาเลนเจอร์ เมืองทองธานี อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี ภายในงานได้รับเกียรติจากพลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานในพิธีเปิดพร้อมบรรยายพิเศษเรื่อง "หลักสูตรต้านทุจริตศึกษา ความหวังในการสร้างสังคมที่ไม่ทน ต่อการทุจริต" และต่อด้วยการอภิปรายในหัวข้อ "หลักสูตรต้านทุจริตศึกษาสู่การปฏิบัติ" โดย เลขาธิการ สภาการศึกษา เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ประธานที่ประชุมอธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏ ดำเนินการอภิปรายโดย รองศาสตราจารย์ ดร. มาณี ไชยธีรานุวัติศิริ ที่ปรึกษาประธานการรมการ ป.ป.ช. และในช่วงบ่ายจะเป็นการอภิปรายหัวข้อ "หลักสูตรต้านทุจริตศึกษาสู่การปฏิบัติ" อีกหนึ่งมุมมองจากเลขาธิการคณะกรรมกรข้าราชการพลเรือน ผู้บัญชาการสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ นายแพทย์ยงยศ ธรรมวุฒิ ที่ปรึกษาระดับกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข ดำเนินการอภิปรายโดย นายอุทิศ บัวศรี ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. สำหรับหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา (Anti Corruption Education) นี้ คณะรัฐมนตรี ได้มีมติ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 เห็นชอบหลักสูตรต้านทุจริตศึกษา (Anti-Corruption Education) ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้นำเสนอเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยการป้องกัน และปราบปรามการทุจริต ระยะที่ 3 (พ.ศ. 2560 – 2564) ในประเด็นยุทธศาสตร์ที่ 1 สร้างสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต โดยมุ่งเน้นให้เกิดกระบวนการปรับสภาพสังคมให้เกิดภาวะที่ไม่ทนต่อการทุจริต ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวจะต้องเริ่มต้นตั้งแต่ การปรับฐานความคิดทุกช่วงวัยตั้งแต่ปฐมวัยให้สามารถแยกระหว่างผลประโยชน์ส่วนตน และผลประโยชน์ส่วนรวม รวมถึงส่งเสริมให้มีระบบและกระบวนการกล่อมเกลาทางสังคมเพื่อต้านการทุจริต ตลอดจนการประยุกต์หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นเครื่องมือต้านทุจริต และเสริมพลังการมีส่วนร่วม ของชุมชนและบูรณาการทุกภาคส่วนเพื่อต่อต้านการทุจริต ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้หน่วยงาน ที่เกี่ยวข้องได้นำหลักสูตรต้านทุจริตศึกษาไปดำเนินการตามบทบาทและอำนาจหน้าที่ของตนเอง เพื่อสร้างให้เกิดกระแสสังคมที่ไม่ทนต่อการทุจริต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ