1 ก.ย.- 29 พ.ย.นี้ เตรียมเอกสารให้พร้อม !! กรมประมงเตรียมเปิดให้ขึ้นทะเบียนสัตว์น้ำ 12 ชนิด หลังถูกประกาศขึ้นบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครอง

ข่าวทั่วไป Tuesday July 17, 2018 15:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ก.ค.--กรมประมง จากสถานการณ์สัตว์ป่าในประเทศไทยหลายชนิดมีจำนวนลดน้อยลง เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติถูกทำลายและบางชนิดถูกล่าจากความต้องการของมนุษย์ จึงมีการออกกฎหมายเพื่อคุ้มครองสัตว์ป่ารวมถึงสัตว์น้ำบางชนิด เพื่อป้องกันไม่ให้สูญพันธุ์หรือหมดไปจากประเทศไทย นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมงเปิดเผยว่า จากการที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ออกประกาศกฎกระทรวงกำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง (ฉบับที่4) พ.ศ.2561 และกฎกระทรวง กำหนดชนิดของสัตว์ป่าคุ้มครองให้เป็นสัตว์ป่าชนิดที่เพาะพันธุ์ได้ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2561 โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง และมาตรา 6 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ตามความเห็นชอบของคณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าแห่งชาติ ได้เพิ่มพันธุ์สัตว์น้ำอีก 12 ชนิด ในบัญชีสัตว์ป่าคุ้มครองท้ายกฎกระทรวงกำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ.2546 ได้แก่ ปลากระเบนปีศาจครีบโค้ง(Mobula thurstoni) ปลากระเบนปีศาจครีบสั้น (Mobula kuhlii) ปลากระเบนปีศาจแคระ (Mobula eregoodootenkee) ปลากระเบนปีศาจหางหนาม (Mobula japanica) ปลากระเบนแมนต้าแนวปะการัง (Manta alfredi) ปลากระเบนแมนต้ายักษ์ (Manta birostris) ปลากระเบนราหูน้ำจืด หรือปลากระเบนเจ้าพระยา (Himanturachaophraya) ปลาโรนิน หรือปลากระเบนท้องน้ำ (Rhina ancylostoma) ปลาฉนากเขียว (Pristiszijsron) ปลาฉนากปากแหลม (Anoxypristiscuspidata) ปลาฉนากฟันเล็ก (Pristis pectinata) และปลาฉนากยักษ์ (Pristis pristis) ซึ่งปกติสัตว์ป่าและสัตว์น้ำที่ได้รับการคุ้มครองนั้น เป็นสัตว์ที่ห้ามทำการเพาะพันธุ์ เว้นบางสายพันธุ์เท่านั้นที่ทำการเพาะพันธุ์ได้ ซึ่งสัตว์น้ำตามกฎกระทรวงฉบับนี้มี ปลากระเบนราหูน้ำจืด หรือปลากระเบนเจ้าพระยา (Himantura chaophraya) ที่อนุญาตให้ประชาชนเพาะพันธุ์ได้ ตามกฎกระทรวง กำหนดชนิดของสัตว์ป่าคุ้มครองให้เป็นสัตว์ป่าชนิดที่เพาะพันธุ์ได้ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2561 จากประกาศดังกล่าว กรมประมงในฐานะหน่วยงานซึ่งมีหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ วิจัยข้อมูลด้านการค้าสัตว์น้ำหายาก และใกล้สูญพันธุ์ ควบคุม ตรวจสอบ ออกใบอนุญาต ใบรับรองต่างๆ ตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขภายใต้กฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า และกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง จึงขอแจ้งประชาชนว่า หากท่านใดครอบครองสัตว์น้ำดังกล่าว ทั้งที่มีชีวิตหรือมีซากไว้ครอบครอง รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง ต้องทำการแจ้งการครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองชั่วคราว ซากของสัตว์ป่าคุ้มครองหรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าคุ้มครองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยปฏิบัติตามประกาศกรมประมง เรื่อง แบบและวิธีการแจ้งการครอบครอง แบบหนังสือกำกับการจำหน่าย การนำพยานเอกสารหรือหลักฐานมาพิสูจน์ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ การออกใบอนุญาตให้ครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองชั่วคราว การออกใบรับรองการครอบครองซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือผลิตภัณฑ์ที่ทาจากซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง พ.ศ.2558 อย่างไรก็ดี การเพาะพันธุ์ปลากระเบนราหูน้ำจืดนั้น ต้องดำเนินการแจ้งขอเพาะพันธุ์สัตว์ป่าคุ้มครองด้วย อธิบดีกรมประมง กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับการแจ้งการครอบครองสัตว์ป่าคุ้มครองชั่วคราว ซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือผลิตภัณฑ์ที่ทำจากซากของสัตว์ป่าคุ้มครอง ขอให้ประชาชนที่ครอบครองพันธุ์สัตว์น้ำตามที่ประกาศในกฎกระทรวงฉบับดังกล่าว ได้จัดเตรียมเอกสาร หลักฐานการได้มา ภาพถ่าย หรือสิ่งอื่นใดที่สามารถยืนยัน เพื่อนำมาแจ้งครอบครองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยสามารถแจ้งการครอบครองสัตว์น้ำที่เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎกระทรวงกำหนดให้สัตว์ป่าบางชนิดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2561 รวมถึงการแจ้งขอเพาะพันธุ์ปลากระเบนราหูน้ำจืดหรือปลากระเบนเจ้าพระยา ณ ท้องที่ที่ครอบครอง โดยในเขตกรุงเทพมหานคร สามารถแจ้งได้ที่ กองบริหารจัดการทรัพยากรและกำหนดมาตรการ กรมประมง เกษตรกลาง เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร สำหรับในท้องที่จังหวัดอื่นๆ สามารถแจ้งได้ที่สำนักงานประมงจังหวัดในท้องที่นั้นๆ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2561 - 29 พฤศจิกายน 2561 ทั้งนี้ สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มได้ที่ https://www4.fisheries.go.th/fishmanagement สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ กองบริหารจัดการทรัพยากรและกำหนดมาตรการกลุ่มคุ้มครองพันธุ์สัตว์น้ำตามอนุสัญญาโทรศัพท์ 0 2579 9767 โทรสาร 0 25614689

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ