บอร์ดภาพยนตร์ฯเห็นชอบเสนอตั้งคณะกรรมการระดับชาติดูแลกรณีช่วยเหลือทีมหมูป่า 13 ชีวิต เบื้องต้นดูแล 3 เรื่องทั้งด้านลิขสิทธิ์เนื้อหาเหตุการณ์ คุ้มครองบุคคลที่เกี่ยวข้อง ผลิตภาพยนตร์-วีดิทัศน์ มอบวธ.ชงเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมครม.สัญจรในวันที่ 24 ก.ค.นี้

ข่าวทั่วไป Friday July 20, 2018 09:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ก.ค.--กลุ่มประชาสัมพันธ์ กระทรวงวัฒนธรรม บอร์ดภาพยนตร์ฯเห็นชอบเสนอตั้งคณะกรรมการระดับชาติดูแลกรณีช่วยเหลือทีมหมูป่า 13 ชีวิต เบื้องต้นดูแล 3 เรื่องทั้งด้านลิขสิทธิ์เนื้อหาเหตุการณ์ คุ้มครองบุคคลที่เกี่ยวข้อง ผลิตภาพยนตร์-วีดิทัศน์ มอบวธ.ชงเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมครม.สัญจรในวันที่ 24 ก.ค.นี้ที่อุบลราชธานี วันที่ 19 กรกฎาคม 261 ที่ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (รมว.วธ.) กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ครั้งที่ 4/2561 โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ประธานการประชุมว่า ที่ประชุมได้หารือแนวทางการส่งเสริมการจัดสร้างภาพยนตร์และสารคดีกรณีการช่วยเหลือนักฟุตบอลเด็กและผู้ช่วยโค้ชทีมหมูป่า อะคาเดมี รวม 13 ชีวิต ติดอยู่ในถ้ำหลวง ขุนน้ำนางนอน เขตวนอุทยานแห่งชาติ – ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งได้มีการปฏิบัติการระดมความช่วยเหลือทั้งคนไทยและชาวต่างชาติจนประสบสำเร็จลุล่วงในที่สุด โดยที่ประชุมได้รับรายงานจากหน่วยงานต่างๆ อาทิ กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ ขณะนี้มีบริษัทต่างชาติจำนวน 5 รายได้ติดต่อเข้ามา เนื่องจากสนใจที่จะจัดสร้างภาพยนตร์และสารคดีเหตุการณ์ดังกล่าว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวอีกว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้กระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) นำเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.)พิจารณาเห็นชอบและแต่งตั้งคณะกรรมการระดับชาติ เข้าสู่ที่ประชุมครม.สัญจรในวันที่ 24 ก.ค.นี้ที่จ.อุบลราชธานี ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้จะประกอบด้วยหน่วยงานต่างๆ อาทิ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านภาพยนตร์และวีดิทัศน์ เป็นต้น เพื่อทำหน้าที่ดูแลกรณีการช่วยเหลือนักฟุตบอลเด็กและผู้ช่วยโค้ชทีมหมูป่า อะคาเดมี รวม 13 ชีวิต ติดอยู่ในถ้ำหลวง ให้เป็นไปอย่างมีระบบ อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นจะเน้นดูแล 3 ประเด็นหลัก คือ 1.การดูแลลิขสิทธิ์เกี่ยวกับเนื้อหาเรื่องราวเหตุการณ์ 2.การคุ้มครองบุคคลด้านข้อมูลข่าวสารและความเป็นส่วนตัวของเด็ก ผู้ช่วยโค้ชทีมหมูป่าอะคาเดมีทั้ง 13 คน และบุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมถึงดูแลภาพลักษณ์และชื่อเสียงของประเทศไทย และ3.ด้านผลิตภาพยนตร์และวีดิทัศน์ นอกจากนี้ ที่ประชุมพร้อมให้การสนับสนุนผู้ประกอบการไทยและต่างชาติที่มีความสนใจผลิตภาพยนตร์และวิดีทัศน์กรณีการช่วยเหลือนักฟุตบอลเด็กและผู้ช่วยโค้ชทีมหมูป่าอะคาเดมี โดยอยู่ในภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายไทย นายวีระ กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมรับทราบวธ.จัดทำจดหมายเหตุบันทึกเหตุการณ์และภาพประวัติศาสตร์ช่วยเหลือนักฟุตบอลและผู้ช่วยโค้ชทีมหมูป่าอะคาเดมีรวม 13 คน โดยเบื้องต้นวธ.ตั้งเป้าหมายจะจัดทำจดหมายเหตุดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายในเดือนก.ค.นี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ