จีดีพีเกษตร Q2 โต 6.2% ทุกสาขาขยายตัวหมด สาขาพืชนำโด่ง พุ่ง 8.4% ทั้งปีสัญญาณยังดี คาดโตต่อเนื่อง 3-4%

ข่าวทั่วไป Friday July 20, 2018 15:41 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ก.ค.--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร สศก. ระบุ ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 2 โตร้อยละ 6.2 ทุกสาขาขยายตัวหมด โดยสาขาพืช โตถึงร้อยละ 8.4 เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวยและการบริหารจัดการที่ดีตามนโยบายรัฐบาล ส่งผลพืชเศรษฐกิจหลายชนิด ปรับตัวเพิ่มขึ้น คาดทั้งปียังคงขยายตัวร้อยละ 3.0-4.0 ย้ำ ยังต้องติดตามสถานการณ์และปัจจัยต่างๆ ซึ่งอาจส่งผลต่อการผลิตทางการเกษตรในช่วงครึ่งปีหลัง นายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 2 ปี 2561 (เมษายน – มิถุนายน 2561) พบว่า ขยายตัวร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปี 2560 สำหรับปัจจัยหนุนที่ทำให้ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรในไตรมาส 2 ปี 2561 ขยายตัวได้ดีเช่นเดียวกับไตรมาสแรกของปีนี้ ยังคงเป็นปัจจัยทางด้านสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยต่อการผลิตทางการเกษตร มีการพัฒนาแหล่งน้ำและระบบการกระจายน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับการดำเนินนโยบายที่สำคัญ อาทิ การตลาดนำการผลิต การส่งเสริมเกษตรแบบแปลงใหญ่ การพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรสู่มาตรฐาน ทำให้การผลิตสินค้าเกษตรมีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานที่ดีขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตพืชเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น โดยรายละเอียดในแต่ละสาขา พบว่า สาขาพืช ไตรมาส 2 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 8.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 โดยผลผลิตพืชสำคัญที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวนาปี ข้าวนาปรัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อยโรงงาน สับปะรดโรงงาน ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ลำไย และเงาะ ซึ่ง ข้าวนาปี มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูก ทำให้เกษตรกรในพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางสามารถปลูกข้าวนาปีรอบสองได้ ข้าวนาปรัง ผลผลิตเพิ่มเนื่องจากปริมาณน้ำฝนมากกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติอยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบกับราคาข้าวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรขยายเนื้อที่เพาะปลูกในพื้นที่นาที่เคยปล่อยว่าง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาในช่วงต้นปีอยู่ในเกณฑ์ดีและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูก อ้อยโรงงาน มีผลผลิตเพิ่มขึ้น จากนโยบายภาครัฐที่สนับสนุนให้เกษตรกรปลูกอ้อยโรงงานทดแทนในพื้นที่เพาะปลูกข้าวที่ไม่เหมาะสม และโรงงานน้ำตาลให้การส่งเสริมการปลูกอ้อย สับปะรดโรงงาน มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาในปี 2558 – 2559 อยู่ในเกณฑ์ดี จูงใจให้เกษตรกรขยายเนื้อที่ปลูกในพื้นที่ปล่อยว่าง รวมทั้งปลูกแซมในสวนยางพาราและ ปลูกใหม่ทดแทนมันสำปะหลัง ยางพารา มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีเนื้อที่กรีดยางเพิ่มขึ้นซึ่งเป็นผลจากการปลูกต้นยางแทนในพื้นที่พืชไร่ ไม้ผล นาข้าว และพื้นที่ตัดโค่นต้นยางอายุมากเมื่อปี 2555 ปาล์มน้ำมันผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีเนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้นจากต้นปาล์มน้ำมันที่ปลูกใหม่ ในปี 2558 ซึ่งเริ่มให้ผลผลิตในปีนี้ ลำไย มีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากต้นลำไยที่ปลูกในปี 2558 เริ่มให้ผลผลิต ประกอบกับมีปริมาณน้ำฝนเพียงพอ และเกษตรกรมีการผลิตลำไยนอกฤดูมากขึ้น เงาะ มีผลผลิตเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศเอื้ออำนวย ทำให้ต้นมีความสมบูรณ์ออกดอกและติดผลดี ด้านราคา เมษายน – มิถุนายน 2561 สินค้าพืชที่มีราคาเฉลี่ยเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง ทุเรียน และมังคุด โดย ข้าว มีราคาเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะมีปริมาณข้าวออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้นแต่ความต้องการของตลาดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีความต้องการใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มันสำปะหลัง ราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ประกอบกับประเทศคู่ค้ามีความต้องการมันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ของไทยอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันภาคเอกชนมีการกำหนดราคาส่งออกมันเส้นขั้นต่ำ ทำให้ราคาส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังและราคามันสำปะหลังที่เกษตรกรขายได้ปรับตัวสูงขึ้น ทุเรียน ราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ มังคุด มีราคาเพิ่มขึ้น เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย สาขาปศุสัตว์ ไตรมาส 2 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปี 2560 โดยผลผลิต ไก่เนื้อ ไข่ไก่ และน้ำนมดิบ มีปริมาณเพิ่มขึ้น สำหรับการผลิตไก่เนื้อเพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่น การผลิตไข่ไก่เพิ่มขึ้น เนื่องจากจำนวนแม่ไก่ยืนกรงในระบบยังคงมีอยู่มาก เกษตรกรมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดี การผลิตน้ำนมดิบ มีปริมาณเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีจำนวนแม่โครีดนมเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีการนำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต มีระบบการบริหารจัดการฟาร์มที่ได้มาตรฐาน ด้านราคา ในช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายน 2561 ไก่เนื้อและสุกร มีราคาเฉลี่ยลดลงร้อยละ 10.6 และ 9.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 เนื่องจากมีปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้น สำหรับราคาไข่ไก่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.05 ส่วนราคาน้ำนมดิบเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.81 เนื่องจากมีการพัฒนาการผลิตและปรับปรุงคุณภาพน้ำนมดิบตามมาตรการปรับเพิ่มราคารับซื้อน้ำนมดิบตามคุณภาพน้ำนม สาขาประมง ในไตรมาส 2 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 โดยการทำประมงทะเลและประมงน้ำจืดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น สำหรับผลผลิตประมงทะเลที่สำคัญ คือ กุ้งทะเลเพาะเลี้ยงมีทิศทางเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดีขึ้นและพัฒนาระบบการเลี้ยงให้เหมาะสมกับพื้นที่ ทำให้การผลิตกุ้งมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนการทำประมงน้ำจืด ผลผลิตที่สำคัญ เช่น ปลานิล ปลาดุก มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำมีพอเพียงสำหรับการเลี้ยง ประกอบกับภาครัฐมีการดำเนินนโยบายส่งเสริมระบบการเกษตรแบบแปลงใหญ่อย่างต่อเนื่อง ด้านราคา ในช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายน 2561 ราคากุ้งขาวแวนนาไม (ขนาด 70 ตัวต่อกิโลกรัม) ที่เกษตรกรขายได้เฉลี่ยลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี2560 สอดคล้องกับราคาในตลาดโลกที่ลดลงตามภาวะอุปทานส่วนเกิน ซึ่งเป็นผลจากปริมาณการผลิตกุ้งขาวแวนนาไมในหลายประเทศเพิ่มขึ้น เช่น อินเดีย และอินโดนีเซีย สำหรับราคาปลานิลขนาดกลาง และปลาดุกบิ๊กอุย (ขนาด 2 – 4 ตัวต่อกิโลกรัม) ลดลงเช่นเดียวกันเนื่องจากมีปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น สาขาบริการทางการเกษตร ไตรมาส 2 ปี 2561 ขยายตัวร้อยละ 5.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปี 2560 โดยการจ้างบริการเตรียมดิน ไถพรวนดิน และการให้บริการเกี่ยวนวดข้าวเพิ่มขึ้น เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังเพิ่มขึ้น จากปริมาณน้ำที่เพียงพอต่อการเพาะปลูกและเจริญเติบโตของข้าว ทำให้เกษตรกรขยายเนื้อที่เพาะปลูกเพิ่มขึ้นในพื้นที่นาที่เคยปล่อยว่างไว้ นอกจากนี้ การใช้บริการรถเก็บเกี่ยวอ้อยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นค่อนข้างมาก เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกอ้อยเพิ่มขึ้นจากการส่งเสริมของภาครัฐและโรงงานน้ำตาล และหลังจากการเก็บเกี่ยวอ้อย เกษตรกรได้เตรียมพื้นที่เพาะปลูกใหม่ ทำให้มีการจ้างบริการไถพรวนดินเพิ่มขึ้น สาขาป่าไม้ ไตรมาส 2 ปี 2561ขยายตัวร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2560 เนื่องจากผลผลิตป่าไม้ที่สำคัญ ได้แก่ ไม้ยางพารา ครั่ง และรังนก เพิ่มขึ้น โดยการขยายตัวของไม้ยางพารามีปัจจัยหลักมาจากการตัดโค่นสวนยางพาราเก่าเพื่อปลูกทดแทนด้วยยางพาราพันธุ์ดีและพืชอื่น โดยไม้ยางพาราส่วนใหญ่ถูกนำไปผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนผลิตภัณฑ์ไม้อื่น ๆ เพื่อการส่งออก อีกทั้งยังมีการนำไม้ยางไปอัดเป็นไม้อัดชีวมวล (Wood Pallet) เนื่องจากมีราคาถูกกว่าไม้สนของยุโรป สำหรับผลผลิตครั่งเพิ่มขึ้นจากปัจจัยด้านสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย ขณะที่รังนกมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศจีนอนุญาตให้นำเข้ารังนกนางแอ่นหลังจากห้ามนำเข้ารังนกจากทุกประเทศ เมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา ส่วนไม้ยูคาลิปตัส มีการชะลอปริมาณการผลิตลงตามคำสั่งซื้อจากทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจการเกษตรในปี 2561 คาดว่าจะขยายตัวอยู่ในช่วงร้อยละ 3.0 – 4.0 โดยทุกสาขาการผลิตขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2560 จากสภาพอากาศและปริมาณน้ำที่เอื้ออำนวยต่อการผลิตทางการเกษตร การดำเนินนโยบายด้านการเกษตรต่าง ๆ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาเกษตรกรและประสิทธิภาพในการผลิตสินค้าเกษตร รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่มีสัญญาณดีขึ้น ส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์ของไทย ทั้งนี้ จำเป็นต้องติดตามสถานการณ์และปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรอย่างใกล้ชิด อาทิ ภัยธรรมชาติ ความผันผวนของสภาพอากาศ และโรคระบาด ซึ่งอาจส่งผลต่อการผลิตทางการเกษตรในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 อัตราการเติบโตของภาคเกษตร สาขา ไตรมาส 2/2561 (เม.ย.– มิ.ย.61) ภาคเกษตร 6.2 พืช 8.4 ปศุสัตว์ 0.3 ประมง 0.4 บริการทางการเกษตร 5.6 ป่าไม้ 1.8

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ