ปภ.รายงานยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 4 จังหวัด เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ พร้อมช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยโดยด่วน

ข่าวทั่วไป Monday July 23, 2018 10:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ก.ค.--กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานอิทธิพลของพายุโซนร้อน "เซินติญ" ตั้งแต่วันที่ 17 – 23 กรกฎาคม 2561 ทำให้เกิดสถานการณ์ภัยใน 19 จังหวัด สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 15 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 4 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ตาก ประจวบคีรีขันธ์ และพะเยา ซึ่ง ปภ. ได้ร่วมกับหน่วยทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลัง พร้อมติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า อิทธิพลของพายุโซนร้อน "เซินติญ" ตั้งแต่วันที่ 17 – 23 กรกฎาคม 2561 ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินถล่มใน 19 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี ตาก เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน พิจิตร นครสวรรค์ ตราด แพร่ เพชรบูรณ์ พิษณุโลก ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง เพชรบุรี กาฬสินธุ์ ลำปาง น่าน อุตรดิตถ์ อำนาจเจริญ และพะเยา รวม 31 อำเภอ 49 ตำบล 145 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,743 ครัวเรือน 6,935 คน ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 15 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 4 จังหวัด ได้แก่ กาญจนบุรี เกิดฝนตกหนักน้ำไหลหลากในพื้นที่อำเภอสังขละบุรี รวม 2 ตำบล 15 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 400 ครัวเรือน 1,042 คน วัด 1 แห่ง ถนน 2 สาย สถานที่ราชการ 7 แห่ง พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหาย 300 ไร่ จังหวัดประกาศปิดสะพานมอญชั่วคราว ปัจจุบันระดับน้ำลดลง ตาก เกิดน้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอแม่ระมาด อำเภอพบพระ อำเภอท่าสองยาง และอำเภอแม่สอด รวม 10 ตำบล 26 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 100 ครัวเรือน 300 คน ถนน 18 สาย ปัจจุบันระดับน้ำลดลง ประจวบคีรีขันธ์ เกิดน้ำไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่อำเภอหัวหิน รวม 1 ตำบล 3 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 80 ครัวเรือน 248 คน ฝาย 3 แห่ง ปัจจุบันระดับน้ำลดลง พะเยา เกิดน้ำล้นตลิ่งในพื้นที่อำเภอปง รวม 2 ตำบล 6 หมู่บ้าน พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะได้รับความเสียหาย 100 ไร่ ปัจจุบันยังคงมีน้ำท่วมขังพื้นที่ลุ่มต่ำการเกษตร ระดับน้ำลดลง ทั้งนี้ ปภ.ได้ประสานจังหวัด หน่วยทหาร องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในพื้นที่เร่งให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มกำลัง โดยแจกจ่ายถุงยังชีพ เครื่องอุปโภคบริโภค และน้ำดื่ม จัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวรองรับผู้อพยพ พร้อมระดมทรัพยากรและเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยจากศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต ทั้งรถผลิตน้ำดื่ม รถไฟฟ้าส่องสว่าง รถบรรทุก รถสุขาเคลื่อนที่ เรือท้องแบน และเครื่องสูบน้ำ สนับสนุนการแก้ไขปัญหาอุทกภัย และช่วยเหลือผู้ประสบภัย ตลอดจนประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ติดตั้งเครื่องสูบน้ำและเครื่องผลักดันน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยสามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด สำนักงานป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยจังหวัดสาขาในพื้นที่ หรือสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ