ปัญหาหนี้สินครู หนี้ครัวเรือนและทางออก

ข่าวทั่วไป Monday July 23, 2018 14:55 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ก.ค.--คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ปัญหาหนี้สินครูและหนี้ครัวเรือนสะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรมมากกว่าปัญหาการขาดวินัยทางการเงิน การพักชำระหนี้ไม่ใช่หนทางแห่งการแก้ปัญหา เสนอให้มีการปรับฐานและอัตราเงินเดือนให้ครูตามคุณวุฒิและคุณภาพในการจัดการเรียนการสอนไม่ต้องขึ้นอยู่กับบัญชีข้าราชการ การยกระดับคุณภาพการศึกษา การแก้ไขปัญหาการกระจายรายได้ การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันและความสามารถในการหารายได้ คือ ทางออก 11.30 น. 22 ก.ค. 2561 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า ปัญหาหนี้สินครูและหนี้ครัวเรือนสะท้อนปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและการกระจายรายได้ที่ไม่เป็นธรรมมากกว่าปัญหาการขาดวินัยทางการเงิน การพักชำระหนี้และการปรับโครงสร้างหนี้ไม่ใช่หนทางแห่งการแก้ปัญหาและเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น เสนอให้มีการปรับฐานและอัตราเงินเดือนครูใหม่ตามคุณวุฒิวิชาการ วิชาชีพและคุณภาพในการจัดการเรียนการสอน รวมทั้งความรู้ความสามารถ สามารถจัดจ้างในลักษณะสัญญาจ้างที่มีโครงสร้างเงินเดือนมิได้ขึ้นอยู่กับบัญชีเงินเดือนข้าราชการ เพื่อให้สามารถเลือกครูที่เก่งเข้ามาสอนหรือเลือกผู้บริหารที่มีความสามารถเข้ามาบริหาร การยกระดับคุณภาพการศึกษาและผลิตภาพการผลิต การแก้ไขปัญหาการกระจายรายได้ การยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันและความสามารถในการหารายได้ คือ ทางออก ปัญหาหนี้สินครูที่มีจำนวนมากนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงมาอย่างต่อเนื่อง สภาพ "รวยกระจุก จนกระจาย" ยังเป็นสภาวะปรกติที่พบเห็นโดยทั่วไปในสังคม สภาวะดังกล่าวยังไม่ได้มีมาตรการแก้ไขอย่างจริงจังโดยยึดถือหลักความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจและประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่เกิดจากรายได้ไม่เพียงพอต่อรายจ่ายและการดำรงชีพทำให้ต้องก่อหนี้ นอกจากนี้ยังมีการก่อหนี้เพื่อผ่อนชำระบ้าน รถยนต์และสินค้าคงทนต่างๆ จากการวิเคราะห์ข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบข้อเท็จจริงว่า ค่าเฉลี่ยสัดส่วนหนี้สินต่อรายได้ครัวเรือนที่มีหนี้ปรับเพิ่มขึ้นในภาพรวมและในทุกกลุ่มรายได้ค่าเฉลี่ยโดยรวมของกลุ่มครัวเรือนที่มีหนี้เพิ่มขึ้นจาก 76% ในปี 2558 มาอยู่ที่ 89% ในปี 2560 ครัวเรือนส่วนใหญ่รวมทั้งครูชั้นผู้น้อยและไม่มีตำแหน่งบริหารไม่มีเงินออมสำหรับใช้ในยามฉุกเฉินและหลังเกษียณอย่างเพียงพอ การเพิ่มขึ้นของหนี้สินนั้นเกิดขึ้นในเกือบทุกกลุ่มอาชีพที่จัดอยู่ในกลุ่มรายได้น้อยถึงปานกลาง โดยเป็นผลจากทั้งการเพิ่มขึ้นของหนี้และการลดลงของรายได้ ขณะที่รายได้เพิ่มขึ้นในส่วนของผู้มีฐานรายได้สูงอยู่แล้ว ในภาพรวม หนี้สินของภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น 13-14% ขณะที่รายได้ลดลง 1-3% โดยมีกลุ่มครัวเรือนรายได้สูงที่มีรายได้มากกว่า 5 หมื่นบาทต่อเดือนเท่านั้นที่มีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น ขณะที่ในกลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำกว่า 50,000 บาทต่อเดือนล้วนมีรายได้เฉลี่ยน้อยลดลง อย่างไรก็ตาม แนวโน้มนี้อาจปรับตัวดีขึ้นหากทำให้ เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้มากกว่า 5% และ มีการกระจายรายได้ที่เป็นธรรมมากขึ้น ซึ่งต้องอาศัยนโยบายหรือมาตรการแทรกแซงโดยรัฐ ไม่สามารถอาศัยกลไกตลาดในการจัดสรรความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผลประโยชน์จากการเติบโตของเศรษฐกิจในช่วง 3-4 ปีภายใต้รัฐบาล คสช ที่ผ่านมายังกระจายตัวไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะในกลุ่มรายได้น้อยและปานกลาง เช่น กลุ่มเกษตรกรที่ประสบปัญหาภัยธรรมชาติและราคาสินค้าเกษตรต่ำกว่าในอดีต หรือกลุ่มแรงงานที่รายได้จากทั้งค่าแรงและค่าจ้างล่วงเวลาลดลงซึ่งเป็นผลจากการปรับโครงสร้างในภาคการผลิตโดยชั่วโมงการผลิตไม่ได้ลดลง เช่น การใช้เครื่องจักรอัตโนมัติ เทคโนโลยีหุ่นยนต์แทนแรงงานคน ทำให้ในแรงงานกลุ่มทักษะต่ำมีความจำเป็นต้องก่อหนี้เพิ่มเพื่อการใช้จ่ายเพื่อชดเชยรายได้ค่าล่วงเวลาที่ลดลง รายได้ลดลงแต่รายจ่ายจำเป็นไม่สามารถลดลงได้ การจัดสวัสดิการพื้นฐานโดยรัฐสำหรับผู้มีรายได้น้อยเพื่อลดรายจ่ายจึงไม่ควรปรับลดลงแม้นมีข้อจำกัดเรื่องฐานะการคลังเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสวัสดิการทางด้านสาธารณสุขและการศึกษา ควรปรับลดงบประมาณทางด้านการจัดซื้ออาวุธ เพิ่มบทบาทเอกชนในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อลดภาระทางการคลังลง ลดการรั่วไหลจากการจัดซื้อจัดหาได้ของแพงคุณภาพต่ำ เป็นต้น ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ ในฐานะอดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภาการศึกษา กล่าวอีกว่า หากครูมีภาระหนี้สินมากย่อมเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาการศึกษาให้มีคุณภาพที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการยกระดับรายได้และขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว คุณภาพครูมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการบรรลุเป้าหมายตามแผนการศึกษาชาติ คุณภาพครูไม่อาจดีได้หากครูยังมีปัญหาทางการเงินและไม่มีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มศักยภาพ ปัญหาหนี้สินครูเกิดขึ้นทั้งจากรายได้ไม่พอรายจ่าย ครูที่มาจากครอบครัวที่ยากจนมักมีภาระต้องดูแลสมาชิกครอบครัวคนอื่นๆทางการเงินอีกด้วย นอกจากนี้ ครูบางส่วนอาจความรู้เรื่องการบริหารเงินออมและขาดวินัยทางการเงิน การสร้างระบบการศึกษาที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพต้องอาศัยบุคลากรทางการศึกษาที่มีคุณภาพสูง การแก้ปัญหาหนี้สินครูจึงมีความสำคัญและเป็นเรื่องเร่งด่วนและไม่ควรใช้วิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการพักการชำระหนี้หรือการปรับโครงสร้างหนี้เท่านั้นเพราะจะสร้างวัฒนธรรมเบี้ยวหนี้เพิ่มขึ้นในอนาคต อีกทั้งยังเป็นการแก้ปัญหาแบบไม่ยั่งยืน ผศ. ดร. อนุสรณ์ ธรรมใจ กล่าวว่า เป้าหมายของการพัฒนาการศึกษา ๕ ประการไม่อาจบรรลุได้หากไม่มีครูและผู้บริหารสถานศึกษาที่มีคุณภาพ เป้าหมาย ๕ ประการ ได้แก่ ๑) การเข้าถึง (Access) ๒) ความเท่าเทียม (Equity) ๓) คุณภาพ (Quality) ๔) ประสิทธิภาพ (Efficiency) และ ๕) ตอบโจทย์บริบทที่เปลี่ยนแปลง (Relevancy) ภายใต้แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วม (Inclusive Growth) ที่พลเมืองส่วนใหญ่มีส่วนร่วมอย่างเท่าเทียมและทั่วถึง ภายใต้บริบทของการจัดการศึกษาเพื่อความเท่าเทียมและทั่วถึง (Inclusive Education) รวมทั้งการสร้างสังคมแห่งปัญญา (Wisdom – Based Society) การส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้ (Lifelong Learning) และการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเรียนรู้ (Supportive Learning Environment) เพื่อให้พลเมืองสามารถเรียนรู้และแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต รวมทั้งสามารถยกฐานะและชนชั้นทางสังคม อันนำไปสู่การสร้างความผาสุขร่วมกันในสังคมของชนในชาติ และลดความเหลื่อมล้ำในการกระจายรายได้ของชนชั้นต่าง ๆ ในสังคมให้มีความทัดเทียมกันมากขึ้น ผศ. ดร. อนุสรณ์ กล่าวอีกว่า การศึกษาเป็นปัจจัยทางเศรษฐกิจที่สำคัญปัจจัยหนึ่งที่ช่วยผลักดันเศรษฐกิจให้มีการพัฒนาอย่างรวดเร็วและยั่งยืน การพัฒนาการศึกษาสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 มิติใหญ่ๆ ได้แก่ มิติด้านปริมาณ ซึ่งหมายรวมถึง การพัฒนาความสามารถในการเข้าถึงการศึกษา (Mankiw, Romer and Weil, 1992) และการเพิ่มจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยให้กับนักเรียน/นักศึกษา เพื่อที่จะได้รับความรู้ที่มากเพียงพอในการสนับสนุนการทำงานในอนาคต (Barro and Lee, 1993) มิติด้านคุณภาพ ซึ่งหมายถึง คุณภาพการเรียน การสอน ที่ทำให้เด็กมีทักษะที่เข้มข้น และสอดคล้องกับการที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ในอนาคต (Hanushek and WoBmann, 2007) มิติด้านความเหลื่อมล้ำ ซึ่งหมายถึง ความแตกต่าง ในผลลัพธ์ของการศึกษา ซึ่งเป็นผลเกี่ยวเนื่องมาจากปัจจัยต่างๆที่มากกว่าแค่คุณภาพของการเรียนการสอน แต่ครอบคลุมไปถึงปัจจัยต่างๆ ที่มีความเกี่ยวข้องทั้งหมด ตั้งแต่ปัจจัยเฉพาะของนักเรียนแต่ละคน ปัจจัยทางด้านครอบครัว ไปจนถึงปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสถานศึกษา แนวทางการแก้ไขปัญหาการศึกษาที่ดี ควรที่จะต้องมีการพัฒนาในทั้ง 3 มิติไปพร้อมๆ กัน เนื่องจากการแก้ไขปัญหาในมิติเชิงปริมาณเพียงอย่างเดียว โดยไม่เน้นคุณภาพอาจจะได้แรงงานที่จบมาแล้วมีทักษะที่ไม่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน การทุ่มทรัพยากรเพื่อแก้ไขปัญหาทางด้านความเหลื่อมล้ำเพียงอย่างเดียว อาจจะเป็นการตัดโอกาสในการพัฒนากลุ่มเด็กที่มีศักยภาพที่สูง เช่นเดียวกัน การพัฒนาในมิติเชิงคุณภาพโดยไม่ได้พิจารณาในมิติความเหลื่อมล้ำ เช่น การพัฒนาคุณภาพของแต่ละโรงเรียนอย่างเป็นเอกเทศ อาจจะทำให้เกิดความแตกต่างของผลการเรียนของแต่ละโรงเรียน ซึ่งทำให้คุณภาพของผลลัพธ์ทางการศึกษามีความแตกต่าง กันมาก และนำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคมในที่สุด เมื่อย้อนกลับมาดูสถิติและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของไทย จะพบว่า ประเทศไทยยังคงมีปัญหาทั้ง 3 มิติ โดยข้อมูลสถิติจากธนาคารโลก บ่งชี้ถึงช่องว่างในการเข้าถึงการศึกษาในระดับชั้นปฐมศึกษา โดยมีเพียงร้อยละ 93 ของ เด็กในวัยเรียนที่เข้าถึงการศึกษาในระดับชั้นดังกล่าว งานวิจัยของ Prasartpornsirichoke and Takahashi (2013) บ่งชี้ถึงความสำคัญของการขยายการเข้าถึงการศึกษาให้ครอบคลุม ถึงระดับชั้นมัธยม ข้อมูลจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยของประชากรของประเทศจากฐานข้อมูลของ Barro and Lee (2013) พบว่าประชากรวัยทำงานของไทยมีจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยอยู่ที่ 7.3 ปี ซึ่งยังอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว (ซึ่งมีจำนวนปีการศึกษาเฉลี่ยอยู่ที่ 11.05 ปี) ถึง 3.75 ปี ดร. อนุสรณ์ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาการศึกษา กล่าวทิ้งท้ายว่า การดำรงตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษาควรเปลี่ยนมาเป็นระบบการสรรหาและคัดเลือกโดยกรรมการสถานศึกษา โดยผู้บริหารสถานศึกษาควรมีวาระในการดำรงตำแหน่งชัดเจน การกระจายอำนาจให้สถานการศึกษาเพิ่มขึ้นจะช่วยให้ระบบการศึกษาตอบสนองต่อท้องถิ่นและสอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่มากขึ้น สามารถแก้ปัญหาเรื่องบุคลากรทางการศึกษาและปัญหาหนี้สินครูได้ดีขึ้นอีกด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ