ม.สงขลานครินทร์ ตรัง คว้าที่ 1 ประกวดโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง ระดับนานาชาติ YICMG 2018

ข่าวทั่วไป Wednesday July 25, 2018 17:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ก.ค.--มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง วันนี้ ( 25 กรกฎาคม 2561) ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ นายภาณุพงศ์ โยมเรือง นักศึกษาชั้นปีที่ 5 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ นางสาวญาสุมินทร์ ตวนกู นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาภาษาอังกฤษธุรกิจ และนายอับดุลกอเดร์ ปอเลาะ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาการจัดการสารสนเทศและคอมพิวเตอร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ เผยถึงการได้รับรางวัลชนะเลิศ (First Prize) จากการประกวดโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขง ระดับนานาชาติ Lancang Mekong Youth Training Camp for Innovation and Entrepreneurship 2018 ระหว่างวันที่ 18-23 กรกฎาคม 2561 ณ มหานครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน นายภาณุพงศ์ กล่าวว่า ในปีนี้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง ได้เข้าร่วมโครงการ YICMG โดยได้ส่งผลงานในชื่อโปรเจค Eco tourism with Application ซึ่งเป็นการนำเสนอโครงการ ภายใต้หัวข้อ "การพัฒนานวัตกรรมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในพื้นที่ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง" โดยนำเสนอนวัตกรรมสื่อโลกออนไลน์ ที่เป็น Application มาเป็นตัวเชื่อมต่อวัฒนธรรมทางด้านอาหาร ที่มีลักษณะเด่นในแถบภูมิภาคนี้ นั่นคือ street food โดยตอบสนองพฤติกรรมการใช้งานของคนยุคปัจจุบัน แทนการใช้หนังสือหรือโบรชัวท่องเที่ยวแบบเก่า ด้านนายอับดุลกอเดร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แอพพลิเคชั่น (application) ที่ใช้ในการนำเสนอในครั้งนี้ มีจุดเด่นคือสามารถเข้าถึงร้านอาหารท้องถิ่นได้อย่างง่ายดาย สร้างความแตกต่างจากแอพพลิเคชั่นโดยทั่วไป เพราะเน้นเจาะกลุ่มเพียงร้าน street food ริมทางเท่านั้น โดยประกอบด้วยการใช้งาน 4 เมนูหลัก ได้แก่ ผู้ใช้สามารถสแกนร้านอาหารในรัศมีใกล้เคียงได้ เพียงแค่เดินไม่กี่ก้าว ก็นำพาไปยังร้านได้โดยง่าย มีเมนูอาหารแนะนำ ค้นหาร้านตามรีวิว และสามารถค้นหาราคาตามเงินที่มีในกระเป๋า ทั้งนี้ยังสามารถเลือกช่องทางการจ่ายเงินผ่านออนไลน์ เพียงสแกน qr code และรับสะสมแต้มไว้เป็นส่วนลดในครั้งถัดไปได้ด้วย และยังสามารถเติมเงินไว้ใช้จ่ายและผูกบัญชีธนาคารพาร์ทเนอร์ได้ สะดวกสบายเหมาะสำหรับการใช้จ่ายยุคปัจจุบัน นายอับดุลกอเดร์ ยังกล่าวอีกว่า ทีมเราพยายามจะทำให้ street food ที่ใคร ๆ ก็มองว่าไม่เป็นระเบียบ มาจัดเป็นระบบ มีหมวดหมู่ที่เข้าถึงได้ง่าย เปิดประตูการท่องเที่ยวมิติใหม่ผ่านเรื่องราวของอาหารริมทาง เป็นการท่องเที่ยวที่นำมาซึ่งวิถีชีวิต รวมถึงสถาปัตยกรรมสองฟากฝั่งถนน เสน่ห์ของการท่องเที่ยวที่ไม่เหมือนใคร สะดวก สบาย ในการใช้จ่าย สนุกและอร่อยไปกับการเพลิดเพลินชิมรสชาติ อาหารพื้นเมืองของแต่ละชนชาติ เรากำลังสร้างพื้นที่การขายให้กับพ่อค้า แม่ค้าที่ไม่มีเงินทุนในการโฆษณา และสร้างระบบการขายที่เข้าถึงคนทั่วทุกมุมโลก ภายใต้แอพพลิเคชั่น ที่มีชื่อว่า "tasty street" นางสาวญาสุมินทร์ ได้กล่าวว่า การเข้าร่วมแข่งขันในครั้งนี้ ทางคณะพาณิชยศาสตร์และการจัดการ ได้ร่วมมือกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ โดยได้รับคำแนะนำจากอาจารย์ที่ปรึกษาทั้ง 2 คณะ ประกอบด้วย อาจารย์โอปอร์ ชัยสง่าพงษ์ ที่เป็นหัวหน้าโครงการและดูแลเรื่องของการนำเสนอข้อมูล อาจารย์ ดร.ทิพวรรณ จันทมณีโชติ ดูแลด้านกลยุทธ์ในการนำเสนอ อาจารย์วิญญู วัฒนยนต์กิจ ดูแลด้านภาพลักษณ์ทางการตลาด อาจารย์แสงนภา หิรัญมุทราภรณ์ ดูแลในเรื่องของการจัดทำแอพพลิเคชั่น อาจารย์ ดร.ปิยวรรณ รุ่งวรพงศ์ ดูแลในเรื่องของภาษาที่ใช้ในการนำเสนอ อาจารย์ตรีชาติ เลาแก้วหนู ที่คอยให้การสนับสนุนข้อมูลตลอดการทำกิจกรรม รวมถึงผู้ที่คอยให้กำลังใจและสนับสนุนการดำเนินงานทั้งหมด คือ ท่านรองศาสตราจารย์ ดร.อุดมผล พืชน์ไพบูลย์ รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรัง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ