รมช.เกษตรชูพ.ร.บ.เกษตรกรรมยั่งยืนนำศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาเกษตรกร มั่นใจผ่านสนช.ตะเกิดประโยชน์กับประชาชนทั้งประเทศ

ข่าวทั่วไป Thursday July 26, 2018 10:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ก.ค.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้จัดทำร่าง พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน โดยน้อมนำศาสตร์พระราชาขับเคลื่อนกิจกรรมไปสู่เกษตรกรอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่ง ร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ผ่านการระดมความคิดเห็น และรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มั่นใจนี่คือคำตอบสุดท้ายของการขับเคลื่อนภาคการเกษตรกรรมอย่างเป็นระบบที่สุดและยั่งยืนที่สุด แนวคิดและวิถีการทำเกษตรในระบบเกษตรกรรมยั่งยืนของประเทศไทยได้เกิดขึ้นเป็นเวลานานแล้ว ในรูปแบบต่าง ๆ ที่สอดคล้องและเป็นไปตามความเหมาะสมของแต่ภูมินิเวศของประเทศไทยรูปธรรมของการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในประเทศไทย เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นหลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ระหว่างปี พ.ศ. 2526 – 2527 ซึ่งขณะนั้นเกษตรกรต้องประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ ต้นทุนการผลิตสูง และขาดทุนจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว เกษตรกรบางกลุ่มเริ่มตระหนักและรวมตัวกันเพื่อหาทางออกจึงพัฒนารูปแบบการเกษตรสู่ระบบเกษตรกรรมยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง และได้เริ่มนำเป้าหมายของการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืนบรรจุไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 8 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน โดยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 กำหนดเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนให้ได้ 5 ล้านไร่ ในปี 2564 อย่างไรก็ตามที่ผ่านมากลับพบว่าการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนยังไม่เกิดการขยายผลที่เป็นรูปธรรมเท่าที่ควร พื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนยังคงมีสัดส่วนที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับพื้นที่เกษตรกรรมทั้งประเทศ หลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้สะท้อนปัญหาของการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนว่า "ระบบเกษตรกรรมยั่งยืน" มีความเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของเกษตรกรในทุกมิติไม่เพียงแต่เฉพาะด้านการเกษตร แต่หมายรวมถึงเรื่องของสุขภาพ สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรและอื่น ๆ ที่เชื่อมโยงอย่างเป็นองค์รวม และตลอดระยะเวลาที่ผ่านมายังไม่มีองค์กรที่กำกับดูแลเรื่องของเกษตรกรรมยั่งยืนเป็นการเฉพาะ ตลอดระยะเวลา 20 ปี ที่ผ่านมา หลายภาคส่วน มีความพยายามผลักดันให้เกิดกฎหมายที่กำกับดูแลการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนเป็นการเฉพาะ แต่ด้วยนโยบายการพัฒนาประเทศของรัฐบาลที่ผ่านมา ยังมุ่งเน้นการเกษตรเชิงพาณิชย์อยู่มาก ทำให้การผลักดันกฎหมายเกษตรกรรมยั่งยืนยังไม่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม แต่รัฐบาลชุดปัจจุบันเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน ที่จะเป็นหัวใจสำคัญในการแก้ไขปัญหาภาคการเกษตร ทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ที่สะสมมาเป็นระยะเวลานาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์และภาคีเครือข่ายจึงได้เร่งผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อเป็นกลไกและเครื่องมือในการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนที่ชัดเจน ทั้งการกำหนดนโยบาย กำกับดูแล รวมถึงการประสานและบูรณาการภารกิจระหว่างหน่วยงานให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้ รมช.กษ.กล่าวเน้นย้ำว่า "เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ โดยที่แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ มาตรา 73มาตรา 75 ประกอบกับ มาตรา 65 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ยุทธศาสตร์ชาติและ แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 12 (2560-2564) และ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ขององค์การสหประชาชาติ หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) ที่ประเทศไทยมีข้อผูกพัน ประกอบกับระบบเกษตรกรรมยั่งยืนตามแนวของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นวิถีเกษตรกรรมที่เอื้ออำนวยต่อการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และดำรงรักษาไว้ซึ่งความสมดุลของระบบนิเวศและสภาพแวดล้อม ตลอดจนสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ให้กับเกษตรกรและสังคมไทย การพัฒนาและส่งเสริมระบบเกษตรกรรมยั่งยืนจำเป็นต้องอาศัยการทำงานในเชิงระบบเป็นองค์รวมและต่อเนื่อง ตลอดจนต้องกำหนดนโยบายและแผนการพัฒนามาจากการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างแท้จริง และเพื่อให้เกิดระบบและกลไกที่มีประสิทธิภาพในการประสานการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานในทุกระดับ และทุกภาคส่วน ดังนั้นเพื่อให้มีกลไกที่เอื้อต่อการพัฒนาและส่งเสริมระบบเกษตรกรรมยั่งยืนและเพื่อแปลงนโยบายด้านเกษตรกรรมยั่งยืนไปสู่การปฏิบัติที่สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และนิเวศน์ของแต่ละชุมชนจึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งผมเชื่อว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ทำให้สามารถนำไปแก้ไขปัญหาการพัฒนาการเกษตรต่าง ๆ ได้อย่างยั่งยืนและแท้จริง"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ