เวทีเสวนา ACT ถอดบทเรียนมาเลเซีย ปราบโกงกลไกกฎหมายต้องเร็วแรง หวังกม.ป.ป.ช.ฉบับใหม่ช่วยลดขั้นตอน จัดการคดีได้เร็วขึ้น

ข่าวทั่วไป Thursday July 26, 2018 10:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--26 ก.ค.--นิโอ ทาร์เก็ต เวทีเสวนา ACT ถอดบทเรียนมาเลเซีย ปราบโกงเร็วแรง เป็นรูปธรรม ด้านดร.เจษฎ์ เชื่อพ.ร.บ.ประกอบ รธน.ใหม่ช่วยคัดคน แก้ปัญหาจากต้นทาง ฝั่งอดีตสปท.ชี้สังคมไทยโปร่งใสได้ต้องลดเรื่องดุลพินิจเบี้ยประชุมไปก่อน ขณะที่รองโฆษกอัยการมองกม.ป.ป.ช.ฉบับใหม่ ช่วยจัดการคดีได้เร็ว มีประสิทธิภาพ ด้านผอ.ฝ่ายต่างประเทศป.ป.ช. ชี้กลไกปราบทุจริตยังขาดเครื่องมืออีกมากเมื่อเทียบกับต่างชาติ 24 กรกฎาคม 2561 ที่โรงแรมเชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท กรุงเทพฯ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ร่วมกับมูลนิธิส่งเสริมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ จัดงานเสวนา หัวข้อ "ปราบโกงต้องแรงและเร็ว ถอดบทเรียนจากมาเลเซีย" นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า เราต้องยอมรับว่าคอร์รัปชั่นเป็นปัญหาใหญ่ มีการขับเคลื่อนมาเป็นเวลายาวนาน และต้องมีการติดตามใกล้ชิดต่อไป ในส่วน 4 ปีที่ผ่านมามีความคืบหน้าในระดับหนึ่ง พบว่ามีการนำผู้กระทำผิดระดับสูงมาลงโทษบ้าง รวมทั้งการทำงานของศาลมีความรวดเร็วขึ้น โดยช่วงสองปีที่แล้วที่การตั้งศาลทุจริต ทำให้กระบวนการรวดเร็วกว่าที่ผ่านมา ด้วยการออกพ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างฉบับใหม่ ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมมากขึ้น "พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญป.ป.ช.เพิ่งออกมา ทำให้ตอนนี้ทำให้ยักษ์เป็นยักษ์ที่มีกระบอง หวังว่าทำให้การปราบปรามป้องกันทุจริตมีผลจริง ๆ ซึ่งในทางทฏษฎีต้องเอาผู้กระทำการทุจริตในระดับสูงมาลงโทษให้ได้เพื่อให้เกิดตัวอย่าง เช่น ประเทศจีน เกาหลี ฮ่องกง เป็นต้น ส่วนประเทศไทยยังห่างไกลกับความหวังที่ตั้งไว้" ด้านนายกษิต ภิรมย์ อดีตสมาชิกขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ กล่าวถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในมาเลเซียว่า "การนำพาของอดีตนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัก ระยะแรกนำมาซึ่งการปฏิรูปสังคมมาเลเซีย ก่อให้เกิดการมีปากมีเสียงในเวทีโลก ในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมาใช้อำนาจไม่ชอบ พื้นที่ฝ่ายค้านเล็กลง เสรีภาพประชาชนถูกจำกัด มีการจัดตั้งกองทุน 1 MDB มีการโกงมหาศาล มีเงินไหลเข้าบัญชี นาจิบไม่สามารถตอบกลับสังคมได้ จึงเริ่มใช้อำนาจมิชอบ กลายเป็นยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อประชาชน เมื่อรัฐบาลขาดธรรมาภิบาล ก็เริ่มถูกวิจารณ์ โดยเฉพาะจากมหาเธร์ ซึ่งเป็นคนที่ปั้นเขาขึ้นมา" นายกษิต กล่าวว่า เมื่อมหาเธร์เริ่มวิพากษ์ ในการประชุมสมัชชาพรรค ฝ่ายนาจิบไม่ยอมให้ขึ้นกล่าวสุนทรพจน์ อีกไม่กี่วันต่อมา มหาเธร์ก็ลาออก เริ่มเกิดการแตกแยกในพรรค ฝ่ายคนธรรมดา อดีตราชการตั้งกลุ่ม G24 เกิดอาการทนไม่ไหวของรัฐบาลนาจิบ จึงมีกระบวนการภาคประชาสังคมที่ตั้งเพื่อให้มาเลเซียใสสะอาด ซึ่งมหาเธร์เข้าร่วมด้วย ภาคประชาสังคมแข็งแรงขึ้น บวกกับการแพร่กระจายของโซเชียลมีเดีย ทำให้มีการลงขันการต่อต้านคอร์รัปชั่น แต่แทนที่นาจิบจะอ่อนกลับเริ่มเล่นงานด้วยข้อหาความมั่นคงภายใน "โดยองค์รวมได้สร้างบรรยากาศในการล้มรัฐบาล โดยภาคประชาชนไม่มีกำลังพอ ไม่สามารถโค่นล้มรัฐบาลที่ใช้อำนาจไม่ชอบ โอกาสทองได้เกิดขึ้นเมื่อมีการเลือกตั้งทั่วไป"นายกษิต กล่าวและว่า มหาเธร์นั้นฉลาด ยื่นมือไปจับกับอันวา อิบราฮิม โดยเอาเรื่องของชาติเป็นตัวตั้ง ความรู้สึกส่วนตัวเก็บไว้ก่อน เมื่อบริบทสุกงอมอยู่แล้ว ในการที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลง มันต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเป็นสำคัญ ที่ผ่านมาทำไม่ได้ เพราะเมื่อก่อนนาจิบครอบงำ แต่พอมีการเลือกตั้งจึงเป็นโอกาสสำคัญในการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นสิ่งที่เราต้องการคือกลุ่มผู้นำที่กลับมาสร้างชาติเป็นสำคัญ "ประเทศไทยจะลดคอร์รัปชั่น เรื่องดุลพินิจ เบี้ยประชุม รางวัลนำจับ ประเทศไทยจะให้โปร่งใสต้องเลิกสิ่งเหล่านี้ให้หมด และเอาไปเพิ่มเป็นสวัสดิการ เงินเดือน" ด้าน รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก คณะกรรมการปฏิรูปประเทศ กล่าวถึงการปราบปรามการทุจริตในทางสากลว่า บริบทสากลไม่มีความซับซ้อนไม่ว่าการทำธุรกิจ การทำการศึกษา การเมือง หรือว่างานประเภทไหน ไม่มีใครยอมรับการทุจริต บางประเทศเขียนไว้ง่าย ๆ ไม่ให้เข้าสู่งานอีกตลอดชีวิต รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวว่า มองเรื่องของมาเลเซียแล้วย้อนมาดูไทย สิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อปีพ.ศ. 2547-2548 มีรัฐบาลทุจริต ประพฤติมิชอบ แต่การเปลี่ยนแปลงของไทยไม่ได้เปลี่ยนแปลงโดยประชาธิปไตย ไม่อยู่บนพื้นฐานของประชาชนในการเปลี่ยนแปลง มีข้อครหา มีประเด็นไม่สามารถสรุปได้ว่าท้ายที่สุดการเปลี่ยนแปลงมาจากประชาชนหรือไม่ "พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญต่าง ๆ ทำอย่างไรให้ประชาชนมีความเข้มแข็งให้ประชาชนเข้ามาช่วยในการป้องกันทุจริตตั้งแต่ต้นทาง การไม่ให้คนที่มีแนวโน้มว่าจะโกงมันคือจุดเริ่มต้น อย่างนาจิบ ชัดเจน เลยว่าเมื่ออำนาจรัฐที่มีในมือหายไป กลไกบ้านเมืองสามารถจัดการได้เลย"รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวและว่า เรื่องต้องเร็ว ต้องแรง ในสองปีต้องทำคดีให้แล้วเสร็จ ยกเว้นบางกรณี ถ้าเราไม่สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว พยานหลักฐานจะหายไป ในกฎหมายฉบับใหม่ ถ้าหากว่ามีการดำเนินการแจ้งข้อหาผู้กระทำการผิด หากไม่มาสู้คดีสามารถดำเนินการลับหลังได้ ถ้าเริ่มหนีในอายุความสามเดือนก็จะหยุดที่ตรงนั้น หนีกี่ปีอายุความเท่าเดิม รศ.ดร.เจษฎ์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของคณะกรรมการป.ป.ช. จำเป็นไหมต้องมีคุณสมบัติสูง ไม่จำเป็น สิ่งที่ต้องสูงคือคุณธรรม จริยธรรม ต้องเห็นเป็นประจักษ์ เมื่อเราได้กรรมการที่เชื่อถือได้ ถ้าหากกรรมการป.ป.ช.เป็นพวกกันกับพวกมีอำนาจทางการเมือง แม้ว่าขั้วการเมืองจะเปลี่ยนก็ทำอะไรไม่ได้ ถ้าหากการเอื้อประโยชน์ที่สามารถรักษาฐานอำนาจเอาไว้ได้ "ในหลักการมีเทวดานางฟ้า แต่ถ้ามีมารอยู่ในรายละเอียด สมมุติคนใช้อำนาจทางการเมืองทุจริต และสามารถตรึงผู้ปฏิบัติได้ อย่างป.ป.ช. การได้อำนาจรัฐมาทำให้ราชการไม่กล้าขยับ และถ้ายังมีกรรมการที่ไม่ดูแลให้ ตรงนี้จะเป็นปัญหาต่อไป" ด้าน นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษกอัยการสูงสุด กล่าวว่า อำนาจเป็นทั้งมิตรและศัตรูกับคอร์รัปชั่น เราคงเห็นตัวอย่างในประเทศมาเลเซีย สำนักอัยการคือมือกลาง กฎหมายคือตัวหนังสือจะสัมฤทธิ์ผลหรือไม่ อยู่ที่การบังคับใช้ การที่ผู้มีอำนาจลงมือทำเสียเอง ไม่มีใครไปแจ้งความในสิ่งที่ตัวเองทำ ผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่าสามารถที่จะครอบหน่วยงานที่ไม่กล้าออกมาพูด "วันนี้มีโลกโซเชียลสำคัญมาก จะนำสู่การตรวจสอบต่อไป กฎหมายป.ป.ช.ฉบับใหม่ที่สามารถสืบพยานลับหลังได้ มีประโยชน์มาก ถ้าเราสืบไม่ได้ ผ่านไปสิบปีพยานจะเริ่มลังเล หรือเสียชีวิต ทำให้คดีอยู่ในความเสียหาย การสืบพยานที่รวดเร็วจึงจำเป็น" นายโกศลวัฒน์ กล่าวด้วยว่า อายุความเรื่องคดีคอร์รัปชั่นอยากให้ไม่มีอายุความ สามารถขุดมาดำเนินคดีได้ตลอด แต่ในเมื่อมีกฎหมายออกมาอย่างไรหน้าที่เราคือทำตาม สิ่งที่เราจะแก้ได้สร้างคนรุ่นใหม่ให้ไม่คอร์รัปชั่น คอร์รัปชั่นเริ่มต้นที่บ้านเรา อีกประการกฎหมายยิ่งมาก ยิ่งเพิ่มคอร์รัปชั่นในสังคม ด้านนายนิติพันธุ์ ประจวบเหมาะ ผู้อำนวยการสำนักการต่างประเทศ สำนักงานป.ป.ช. กล่าวว่า ทั่วโลกมองว่าอาชญากรรมทุจริตใช้กลไกปกติไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าจะทำเรื่องนี้ต้องแยกหน่วยงานอิสระออกมา ในการปรับปรุงกฎหมายป.ป.ช.ต้องยอมรับว่ามีหวังอย่างข้อสำคัญที่ระบุว่าคดีต้องเสร็จภายในสองปีขยายเวลาไม่เกิน 3 ปีสำหรับคดีที่ยาก โดยเฉพาะเรื่องการรวบรวมพยานหลักฐาน ต่อไปนี้หน่วยงานต่าง ๆ ไม่สามารถบอกได้ว่าหาหลักฐานไม่เจอ จะเป็นความผิดในตัวเอง "อาชญากรรมทุจริตเป็นเรื่องร้ายแรง การทำหน้าที่ในการสืบสวนพิเศษเช่น อำนาจสำคัญดักฟังโทรศัพท์ การบันทึกวีดีโอ เป็นต้น ซึ่งประเทศมาเลเซียมีครบทุกข้อ ขณะที่ประเทศไทยไม่มีเลย กลไกการทำงานมีส่วนสำคัญ กระนั้นเรามีความหวังในพ.ร.บ.ใหม่" ทั้งนี้ในช่วงท้าย นายนิติพันธุ์ กล่าวถึงคดีการรับสินบนข้ามชาติว่า ในต่างประเทศมีกฎหมายที่ใช้จัดการเรื่องสินบนข้ามชาติแล้วได้ผลนั่นคือการมีกฎหมายต่อรองยอมรับเพื่อเสียค่าปรับ ถ้าประเทศไทยมีตรงนี้เราจะสามารถปลดล็อคได้ ระบบเศรษฐกิจจะไม่ล้ม เราเล่นแต่คดีอาญากระทบหนักและการดำเนินคดีช้า.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ