ปตท.ยืนยันปฏิบัติตามคำสั่งศาลฯ และการโอนทรัพย์สินเป็นไปอย่างโปร่งใส

ข่าวทั่วไป Monday December 17, 2007 16:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ธ.ค.--ปตท. นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีการให้ข้อมูลที่ทำให้เกิดความสับสน และเข้าใจผิด เกี่ยวกับการปฏิบัติตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม ที่มาผ่าน ดังนั้นเพื่อความชัดเจน ปตท.จึงขอชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้องให้ทราบดังนี้ 1. คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1.1 ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 4 (คณะรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และบมจ.ปตท.) แบ่งแยกทรัพย์สินส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของ บมจ.ปตท. ให้เสร็จสิ้นก่อนการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 1.2 ให้ยกคำขอของผู้ฟ้องคดีที่ให้เพิกถอนพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พ.ศ. 2544 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2550 และพระราชกฤษฎีกากำหนดเงื่อนเวลายกเลิกกฎหมายว่าด้วยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2544 2. การปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปตท. จะปฏิบัติตามคำพิพากษาตามข้อ 1.1 โดยเคร่งครัด แต่ไม่สามารถปฏิบัติเกินเลย นอกเหนือจากคำพิพากษาของศาลได้ เพราะจะทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจำนวนมาก(กว่า 10 ล้านคน) โดยเฉพาะการโอนทรัพย์สินที่สำคัญนอกเหนือไปจากคำพิพากษาของศาลจะต้องได้รับความเห็นชอบจากผู้ถือหุ้น ตาม พ.ร.บ. บริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535 และกฎเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ และสำนักงาน กลต. ในฐานะที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้ถือหุ้นกู้และเจ้าหนี้เงินกู้ มิฉะนั้น จะถือเป็นเหตุผิดนัดและผิดสัญญากับหนี้ของ ปตท. สำหรับในเรื่องอำนาจมหาชนของรัฐนั้น ปัจจุบัน ปตท.ไม่มีอำนาจนี้อยู่แล้ว 3. การโอนทรัพย์สินตามคำพิพากษาของศาล 3.1 ทรัพย์สินตามคำพิพากษา ที่ ปตท.ต้องโอนให้กระทรวงการคลังเป็นทรัพย์สินที่ได้ เนื่องจากการปิโตรเลียมฯ ใช้อำนาจมหาชนเหนือที่ดินของเอกชนและได้จ่ายค่าทดแทนโดยใช้เงินทุนของรัฐ ได้แก่- ที่ดินเวนคืน 32 ไร่ ที่การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย โอนให้กับ ปตท.- สิทธิการใช้ที่ดินของเอกชนเพื่อการวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ ที่การปิโตรเลียมฯ โอนให้กับ ปตท.- ทรัพย์สินระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ประกอบด้วยท่อส่งก๊าซ รวมทั้งวัสดุ และอุปกรณ์ที่ประกอบเป็นระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติอันเกิดจากการใช้อำนาจมหาชนเหนือที่ดินของเอกชน เพื่อวางระบบดังกล่าว ในขณะที่เป็นการปิโตรเลียมฯ และได้จ่ายเงินค่าทดแทน โดยอาศัยทรัพย์สินของรัฐซึ่งการปิโตรเลียมฯ ได้โอนแก่ ปตท. 3.2 สำหรับทรัพย์สินที่ปตท. ได้มาโดยมิได้ใช้อำนาจมหาชน แต่ได้มาโดยวิธีการอื่น เช่น การซื้อ จัดหา หรือแลกเปลี่ยน ตามมาตรา 7 (1) แห่งพระราชบัญญัติการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2521 นั้น ไม่ถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินและไม่ถือเป็นที่ราชพัสดุ 4. ปตท.มีการบันทึกบัญชี และได้รับการตรวจสอบอย่างโปร่งใสปตท.มีการบันทึกบัญชีทรัพย์สิน อย่างถูกต้อง ครบถ้วน โดยมีสำนักงานคณะกรรมการการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)เป็นผู้ตรวจสอบมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน การแบ่งแยกทรัพย์สินตามที่ศาลสั่งจึงสามารถนำข้อมูลที่มีอยู่มาใช้ได้ 5. ปตท. ยังคงมีสิทธิใช้ทรัพย์สินที่โอนให้กระทรวงการคลังศาลได้วินิจฉัยว่า ให้ ปตท.ยังคงมีสิทธิในการใช้ที่ราชพัสดุหรือสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ ปตท.เคยมีอยู่ต่อไป โดยต้องจ่ายค่าตอบแทนเป็นรายได้แผ่นดินตามที่กระทรวงการคลังกำหนด อย่างไรก็ตามเพื่อความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย การคิดค่าตอบแทนฯ ต้องคำนึงถึงภาระหนี้สินที่ ปตท.ได้กู้ยืมมาใช้ในการก่อสร้างระบบท่อส่งก๊าซฯ ดังกล่าวด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ