ปตท. ลงนามซื้อขายก๊าซธรรมชาติแหล่งยูโนแคล 123 เสริมความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ

ข่าวทั่วไป Monday December 17, 2007 17:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ธ.ค.--ปตท.
วันนี้ (17 ธันวาคม 2550) เวลา 14.00 น. ที่ ห้องพิมานแมน โรงแรมโฟร์ซีซั่นส์ กรุงเทพฯ ดร.คุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติแหล่งยูโนแคล 123 ระหว่าง บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดย นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ กับกลุ่มผู้ขาย ซึ่งประกอบด้วย บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด โดย นายธารา ธีรธนากร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท มิตซุย ออยล์
เอ็กซโปลเรชั่น จำกัด โดย นายโยชิยูกิ คากาว่า ประธานบริษัทและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) โดย นายมารุต มฤคทัต กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทั้งนี้เพื่อนำก๊าซธรรมชาติมาใช้เป็นเชื้อเพลิงรองรับความต้องการใช้ภายในประเทศที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องตามการเติบโตทางเศรษฐกิจ รวมทั้งเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงานให้กับประเทศในอนาคต
ดร.คุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การลงนามสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติในครั้งนี้ นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความมั่นคงทางด้านพลังงานของประเทศ เพราะจะทำให้มั่นใจได้ว่าประเทศมีปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติอย่างเพียงพอและมั่นคง โดย ปตท. สามารถจัดหาก๊าซธรรมชาติเข้ามาเพิ่มเติมเพื่อรองรับความต้องการใช้ก๊าซฯ ของประเทศทั้งในภาคการผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรม และ การขนส่ง ได้ตลอดเวลา ซึ่งนอกจากจะเป็นการนำทรัพยากรของประเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่าแล้ว ก๊าซธรรมชาติยังเป็นพลังงานที่สะอาด เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และ มีราคาที่สามารถแข่งขันได้ดีเมื่อเปรียบเทียบกับเชื้อเพลิงทดแทนชนิดอื่น ช่วยให้ประเทศประหยัดเงินตราจากการนำเข้าน้ำมันที่ปัจจุบันปรับตัวสูงขึ้นและมีความผันผวนตามสถานการณ์น้ำมันโลก
นอกจากนี้ ประเทศไทยยังจะได้รับผลประโยชน์โดยตรงจากการลงทุนพัฒนาแหล่งก๊าซฯ จากแหล่ง แหล่งยูโนแคล 123 ในรูปของค่าภาคหลวงปิโตรเลียม ส่วนแบ่งกำไรปิโตรเลียม และ ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ประมาณ 200,000 ล้านบาท ในช่วงระยะเวลา 10 ปี คือ ระหว่างปี 2555 — 2565
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. เปิดเผยถึงสาระสำคัญของสัญญาฯว่า เป็นการรวมสัญญาฯ ยูโนแคล1 และ ยูโนแคล 2/3 ที่มีอยู่ในปัจจุบันเข้าเป็นสัญญาฯ ฉบับเดียวกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และ สามารถนำทรัพยากรธรรมชาติขึ้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เนื่องจากแหล่งก๊าซฯ ทั้งสองมีทำเลที่ตั้งในบริเวณเดียวกัน จึงสามารถวางแผนในการดำเนินการผลิตร่วมกันได้ ทั้งนี้เมื่อรวมสัญญาฯทั้งสองแล้ว จะมีปริมาณสำรองก๊าซฯ ที่เหลือประมาณ 5 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ซึ่งปริมาณซื้อขายก๊าซ ฯ จะสามารถเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ 740 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็น 1,240 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตั้งแต่ประมาณปี 2555 เป็นต้นไป
สำหรับราคาก๊าซฯ ยังคงมีโครงสร้างสูตรปรับราคาตามสัญญาฯเดิม และ มีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับภาวะต้นทุนของผู้ผลิตที่เปลี่ยนแปลงไปตามสถานการณ์ราคาน้ำมันโลก โดยราคาก๊าซฯ เฉลี่ยอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับแหล่งไพลินและบงกช และสามารถแข่งขันกับเชื้อเพลิงทางเลือกอื่น ๆ เช่น น้ำมัน และถ่านหิน สำหรับภาคการผลิตไฟฟ้าได้ นอกจากนี้ยังมีเงื่อนไขส่วนลดราคาร้อยละ 4 สำหรับปริมาณก๊าซฯ ที่รับเกินกว่าร้อยละ 115 ของปริมาณรับก๊าซฯ ขั้นต่ำในแต่ละปีสัญญาฯ รวมมูลค่าซื้อขายก๊าซฯ ตลอดอายุสัญญาฯ เป็นเวลา 10 ปี คิดเป็นเงินประมาณ 1 ล้านล้านบาท (สมมติฐานราคาน้ำมันเตา 50 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล อัตราแลกเปลี่ยน 35 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ)
กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. กล่าวเสริมว่า ปตท. มีนโยบายในการจัดหาก๊าซธรรมชาติให้เพียงพอและทันเวลากับความต้องการใช้ก๊าซฯ ในราคาที่เหมาะสม ซึ่งในปัจจุบัน ปตท. ได้เร่งดำเนินจัดหาก๊าซฯ จากแหล่งในอ่าวไทยและประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อขยายขีดความสามารถในการส่งก๊าซฯ ไปถึงลูกค้าที่มีความต้องการใช้ก๊าซฯ เพิ่มมากขึ้นในปริมาณประมาณร้อยละ 5 ต่อปี ทั้งนี้นอกจากจะเป็นการสนองความต้องการใช้พลังงานของประเทศที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจแล้ว ยังช่วยให้ประเทศประหยัดเงินตราจากการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ