สหรัฐฯ เตรียมออกกฎหมายใหม่ ควบคุมความปลอดภัยอาหารนำเข้า

ข่าวทั่วไป Tuesday December 18, 2007 12:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ธ.ค.--โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์
สถาบันอาหาร เตือนไทยรับมือกฎหมายใหม่สหรัฐฯ คุมเข้มความปลอดภัยอาหารนำเข้า สร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคในสหรัฐฯ ก่อนเสียตลาดส่งออกสินค้าอันดับ 1 ของไทย มูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท ชี้กลุ่มสินค้าที่มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อน อาทิ กลุ่มสินค้าประมง ผัก และผลไม้ ถูกตรวจสอบเป็นพิเศษ ผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าอาหารเข้าตลาดสหรัฐฯ ประสบปัญหาหนัก ต้องแบกรับภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบ ทำต้นทุนสินค้าพุ่ง ผอ.สถาบันอาหาร จี้ผู้ประกอบการไทยเร่งปรับตัว ติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด ช่วงชิงความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า ขณะนี้สหรัฐอเมริกา อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับปรุงกฎหมาย เพื่อเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้าอาหารนำเข้ามากขึ้นอีกขั้น เนื่องจากในช่วงไม่กี่เดือน ที่ผ่านมาเกิดวิกฤติการณ์ด้านความไม่ปลอดภัยอันเนื่องมาจากสินค้าอาหารในสหรัฐฯ บ่อยครั้ง โดยเฉพาะสินค้าอาหารนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น การตรวจพบสารเมลามีนปนเปื้อนในอาหารสัตว์เลี้ยงจากจีน ทำให้ทุกฝ่ายมองว่า มาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานของสหรัฐฯ ล้มเหลว จนเกิดเป็นกระแสความวิตกเกี่ยวกับความไม่ปลอดภัยของอาหารขึ้น ส่งผลให้ประธานาธิบดีแห่งสหรัฐฯ ออกคำสั่ง (Executive Order) แต่งตั้งคณะทำงานด้านความปลอดภัยการนำเข้าสินค้า (Working Group on Import Safety) ขึ้นมา เพื่อทำหน้าที่ทบทวนกฎระเบียบ และหลักเกณฑ์การนำเข้า สินค้าที่ปลอดภัย ซึ่งผลจากการศึกษาการปรับปรุงระบบความปลอดภัยของการนำเข้าสินค้า เพื่อการบริโภคในตลาดสหรัฐฯ คณะทำงานดังกล่าวได้เสนอให้ปรับเปลี่ยนนโยบายการนำเข้าจากการตรวจสอบสินค้า ณ จุดนำเข้าเป็นการ ป้องกันและตรวจสอบกระบวนการนำเข้าทั้งระบบ ตั้งแต่โรงงานผลิตจนถึงผู้บริโภค ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำ ประชาพิจารณ์ เพื่อรับฟังความคิดเห็นก่อนที่จะนำไปจัดทำเป็นมาตรการความปลอดภัยด้านการนำเข้าเสนอต่อประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต่อไป
สหรัฐอเมริกา เป็นประเทศผู้นำเข้าสินค้าอาหารรายใหญ่ที่สุดของโลก ในปีพ.ศ. 2549 มีมูลค่าการนำเข้ารวม 73,680 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แหล่งนำเข้าสินค้าอาหารที่สำคัญของสหรัฐฯ ได้แก่ แคนาดา เม็กซิโก จีน ฝรั่งเศส บราซิล อิตาลี ชิลี และไทย สำหรับสินค้าอาหารนำเข้าที่สำคัญประกอบด้วย เครื่องดื่ม ปลาและอาหารทะเล ผักและผลไม้ เนื้อสัตว์ เครื่องเทศ ชา และกาแฟ เป็นต้น ทั้งนี้ ในปี 2549 สหรัฐอเมริกาเป็นตลาดส่งออกสินค้าอาหารอันดับ 1 ของไทย โดยไทยส่งออกสินค้าอาหารไปยังสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่า 103,966 ล้านบาท สินค้าอาหารที่สหรัฐฯ นำเข้าจากไทย ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ประมง ผลไม้ ผัก อาหารสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากแป้ง และเครื่องเทศ เครื่องปรุงรส เป็นต้น” นายยุทธศักดิ์ กล่าว
ในขณะที่สมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ โดยพรรคเดโมแครตและคณะกรรมการความปลอดภัยผลิตภัณฑ์ผู้บริโภคของสหรัฐฯ ได้เสนอให้มีการสร้างระบบขึ้นมาใหม่เพื่อกลั่นกรองสินค้านำเข้า โดยผลักดันร่างกฎหมายใหม่ เพื่อลดอันตรายจากสินค้านำเข้าที่ไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัยที่อาจเกิดต่อผู้บริโภคชาวอเมริกัน และสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค
ในสหรัฐฯ ว่าอาหารที่ผลิตและนำเข้ามาจำหน่ายในสหรัฐฯ เป็นอาหารที่มีความปลอดภัย โดยให้รัฐบาลกลางเป็น ผู้กำหนดระบบใหม่ และมีหน่วยงานหลักคือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐฯ (USFDA) และกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ (USDA) เป็นผู้รับผิดชอบในการเพิ่มการสุ่มตรวจสินค้านำเข้าให้เข้มข้นขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ส่วนภาระความรับผิดชอบในการรับรองความปลอดภัยของผู้บริโภคจะอยู่ที่บริษัทผู้นำเข้า
สำหรับร่างกฎหมายเกี่ยวกับอาหารปลอดภัยของสหรัฐฯ ที่ผู้ประกอบการควรติดตามได้แก่ 1.ร่างกฎหมายอาหารปลอดภัย (Safe Food Act of 2007) ซึ่งจะจัดตั้งองค์กรใหม่เป็นองค์กรอิสระด้านอาหารปลอดภัย ทำหน้าที่กำกับดูแลและบังคับใช้กฎหมายด้านอาหารปลอดภัยทั้งหมด รวมถึงการกำหนดมาตรฐานการแปรรูปอาหาร ทบทวน ตรวจสอบ และรับรองระบบการตรวจสอบสินค้าอาหารนำเข้า 2.ร่างกฎหมายอาหารและยานำเข้าปลอดภัย (Food and Drug Import Safety Act of 2007) โดยจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการนำเข้าสินค้าอาหาร 50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ รายการของการนำเข้า (line item) เพื่อนำมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายการตรวจสอบสินค้าอาหารที่ด่านนำเข้าเพิ่มขึ้น 3. ร่างกฎหมายการตรวจสอบย้อนกลับผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์และสัตว์ปีกปลอดภัย (Meat and Poultry Products Traceability and Safety Act of 2007) ซึ่งจะกำหนดระบบการตรวจสอบย้อนกลับ (traceability) ผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์และสัตว์ปีกทุกขั้นตอนเริ่มตั้งแต่การผลิต การแปรรูป การกระจายสินค้าจนถึงมือผู้บริโภค และ 4. ร่างกฎหมายประกันอาหารปลอดภัย (Assured Food Safety Act of 2007) จะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมประกันการนำเข้าสินค้าอาหาร 20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อรายการของการนำเข้า เพื่อนำมาใช้เป็นค่าใช้จ่ายการตรวจสอบสินค้าอาหารนำเข้าเพิ่มขึ้น
นายยุทธศักดิ์ กล่าวย้ำว่า สหรัฐฯ ให้ความสำคัญและจริงจังในเรื่องความปลอดภัยของอาหารนำเข้ามาก โดยจะเน้นไปที่เรื่องของการตรวจสอบสินค้านำเข้าที่เข้มงวด ณ ด่านนำเข้าและระบบการตรวจสอบย้อนกลับไปยังผู้ผลิต ผู้แปรรูป และผู้ขนส่งสินค้าอาหารตลอดห่วงโซ่อุปทานทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยสินค้าอาหารที่คาดว่าฯ สหรัฐฯ จะเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบเป็นพิเศษ คือ กลุ่มสินค้าที่มีความเสี่ยงต่อการปนเปื้อน เช่น กลุ่มสินค้าประมง ผักและผลไม้ และหากข้อเสนอดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาสหรัฐฯ และถูกประกาศออกมาเป็นกฎหมายใช้บังคับ จะส่งผลให้ประเทศไทยต้องประสบปัญหาการแบกรับภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ต้นทุนของสินค้าสูงขึ้น และอาจส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกสินค้าอาหารขนาดกลางและขนาดเล็กที่ยังผลิตสินค้าไม่ได้มาตรฐานตามกฎระเบียบสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม หากมองอีกมุมหนึ่งหากผู้ประกอบการไทยสามารถเร่งปรับตัว ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพมาตรฐานความปลอดภัยและปฏิบัติได้ถูกต้องสอดคล้องตามกฎระเบียบที่สหรัฐฯ วางไว้ โอกาสที่ไทยจะช่วงชิงความได้เปรียบเหนือคู่แข่งก็มีอยู่มาก โดยจะต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
รายละเอียดเพิ่มเติม:
บริษัท โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด
สุขกมล งามสม
โทรศัพท์ 0 89484 9894, 0 2691 6302-4, 0 2274 4961-2

แท็ก สหรัฐ   ผลไม้  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ