สปส.แจงปรับเพิ่มอัตราค่าบริการทางการแพทย์

ข่าวทั่วไป Tuesday December 18, 2007 15:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ธ.ค.--สปส.
สำนักงานประกันสังคม (สปส.) แจงการปรับเพิ่มอัตราค่าบริการทางแพทย์ปี 2551 ให้แก่สถานพยาบาลในอัตราเหมาจ่ายรายหัวเป็น 1,306 บาทต่อคนต่อปี และค่าภาระเสี่ยงตามการใช้บริการของผู้ประกันตนเป็น 233 บาทต่อคนต่อปี พร้อมทั้ง เพิ่มค่าบริการทางการแพทย์อื่นๆ เพื่อกระตุ้นให้สถานพยาบาลมีการพัฒนาคุณภาพการบริการทางการแพทย์ที่ดีขึ้นแก่ผู้ประกันตน
นายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า สำนักงานประกันสังคมได้มีการปรับเพิ่มอัตราค่าบริการทางการแพทย์ให้กับสถานพยาบาล ตามมติคณะกรรมการการแพทย์ โดยผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการประกันสังคมในการประชุมเมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2550 ที่ผ่านมา ซึ่งได้ปรับเพิ่มอัตราเหมาจ่ายรายหัวปี 2551 จากเดิม 1,284 บาทต่อคนต่อปี เป็น 1,306 บาทต่อคนต่อปี และเพิ่มอัตราค่าภาระเสี่ยง ซึ่งจ่ายให้โรงพยาบาลตาม การให้บริการแก่ผู้ประกันตนที่เป็นโรคเรื้อรังจากเดิม 211 บาทต่อคนต่อปี เป็น 233 บาทต่อคนต่อปี
นอกจากนี้ ค่าบริการทางการแพทย์อื่นๆ ที่สำนักงานประกันสังคมจ่ายให้กับสถานพยาบาลในการรักษาผู้ประกันตนนั้น จะมีค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลในอัตราเฉลี่ย 2,194.21 บาทต่อคนต่อปี ได้แก่ ค่าบริการทางการแพทย์ที่จ่ายให้สถานพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิการรักษาพยาบาล (อัตราเหมาจ่าย 1,306.00 บาทต่อคนต่อปี, ภาระเสี่ยง 233.00 บาทต่อคนต่อปี, ค่าบริการทางการแพทย์ตามอัตราการใช้บริการทางการแพทย์ เฉลี่ย 57.00 บาทต่อคนต่อปี, ค่าบริการทางการแพทย์นอกเหนือเหมาจ่าย เฉลี่ย 33.85 บาทต่อคนต่อปี, ค่าอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ฯ เฉลี่ย 2.10 บาทต่อคนต่อปี) และค่าบริการทางการแพทย์อื่นๆ (ค่ายาต้านไวรัสเอดส์ เฉลี่ย 62.29 บาทต่อคนต่อปี, ค่ารักษากรณีอุบัติเหตุ/ฉุกเฉิน เฉลี่ย 37.62 บาทต่อคนต่อปี, ค่ารักษากรณีไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย เฉลี่ย 45.00 บาทต่อคนต่อปี, ค่ารักษากรณีปลูกถ่ายไต เฉลี่ย 8.00 บาทต่อคนต่อปี, ค่ารักษาพยาบาลกรณีปลูกถ่ายไขกระดูก เฉลี่ย 2.00 บาท ต่อคนต่อปี, ค่าบริการทางการแพทย์กรณีทันตกรรม เฉลี่ย 28.40 บาทต่อคนต่อปี, ค่าบริการทางการแพทย์กรณีคลอดบุตร เฉลี่ย 377.00 บาทต่อคนต่อปี, ค่ารักษากรณีทุพพลภาพ เฉลี่ย 1.95 บาทต่อคนต่อปี
นายสุรินทร์ กล่าวต่อว่า การปรับเพิ่มค่าบริการทางการแพทย์ในครั้งนี้เป็นไปตามสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน ซึ่งหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะเป็นการกระตุ้นให้สถานพยาบาลมีการพัฒนาคุณภาพในการบริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป และหากนายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน มีข้อสงสัย สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่กองประสานการแพทย์และฟื้นฟูสมรรถภาพ สำนักงานประกันสังคม โทร.0-2956-2498-9 หรือสายด่วนประกันสังคม 1506 ได้ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ