มรภ.สงขลา ผนึกกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เสวนามหกรรมรามเกียรติ์ในการแสดงหนังตะลุงไทย-อาเซียน

ข่าวทั่วไป Tuesday August 7, 2018 16:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ส.ค.--มรภ.สงขลา สำนักศิลปะฯ มรภ.สงขลา ห่วงนายหนังตะลุงรุ่นใหม่ละเลยการแสดงรามเกียรติ์ จับมือกรมส่งเสริมวัฒนธรรมเปิดเวทีเสวนา เทียบเชิญมาเล-อินโด ร่วมถอดบทเรียนสู่การอนุรักษ์ ส่งต่อคนรุ่นใหม่ ผศ.ดร.นิวัต กลิ่นงาม อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) กล่าวระหว่างเป็นประธานเปิดโครงการเสวนาในมหกรรม "รามเกียรติ์ในวัฒนธรรมการแสดงหนังตะลุงของไทยและอาเซียน" ณ ณ หอประชุม 1 มรภ.สงขลา เมื่อเร็วๆ นี้ว่า รู้สึกชื่นชมในกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องรามเกียรติ์ ทั้งในมิติทางประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ความเชื่อ และมิติด้านศิลปกรรมให้กับนายหนังตะลุงรุ่นใหม่และผู้สนใจทั่วไป สร้างการเชื่อมโยงระหว่างการแสดงหนังตะลุงเรื่องรามเกียรติ์กับวัฒนธรรมการแสดงหุ่นเงา ทั้งในประเทศและประเทศภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งนี้ ในนามของ มรภ.สงขลา ที่นี่จะเป็นเวทีกลางให้ผู้สนใจในศิลปะแขนงนี้ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ถอดบทเรียนทางศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น ที่สำคัญ หลังจากนี้การผลึกกำลังกันระหว่างสำนักศิลปะฯ มรภ.สงขลา และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม จะแข็งแกร่งและแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ด้าน นายโอภาส อิสโม ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรภ.สงขลา กล่าวว่า ปัจจุบันการแสดงหนังตะลุงในภาคใต้นิยมแสดงจินตนิยายเป็นหลัก หากแสดงเรื่องรามเกียรติ์ก็มักเป็นตอนสั้นๆ ในการแก้บน ในลักษณะทำพอเป็นพิธี กล่าวคือ ทำให้ผ่านพ้นไปโดยไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจในแก่นของรามเกียรติ์ในวัฒนธรรมหนังตะลุงมากนัก ส่งผลให้ความเข้มข้นที่มีในวัฒนธรรมการแสดงหนังตะลุงเริ่มถดถอยในกลุ่มของนายหนังตะลุงรุ่นใหม่ ซึ่งหากรามเกียรติ์ยังคงถูกละเลยจากนายหนังอาจมีผลต่อการแสดงหนังตะลุงในเชิงอนุรักษ์ที่สามารถอนุรักษ์ได้แค่เปลือก แต่ยังไม่ถึงแก่นที่แท้จริง ไม่สามารถเข้าถึงจิตวิญญาณของการแสดงหนังตะลุงในด้านวิถีความเชื่อ ซึ่งแฝงไปด้วยมิติทางประวัติศาสตร์และอารยธรรมของบรรพชนคนไทยภาคใต้ นายโอภาส กล่าวอีกว่า การแสดงหนังตะลุงเรื่องรามเกียรติ์จึงมีความสำคัญในการสะท้อนให้เห็นประวัติศาสตร์ ทั้งในด้านอารยธรรมและศิลปะการแสดง เป็นสื่อทางจิตวิญญาณในด้านความเชื่อของคนไทยภาคใต้ เป็นวรรณกรรมต้นแบบที่ทรงคุณค่า และยังเป็นวัฒนธรรมร่วมของศิลปะการแสดงหุ่นเงาในหลายวัฒนธรรมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้น นายหนังตะลุงยุคใหม่ผู้ซึ่งจะต้องรับหน้าที่ในการธำรงวัฒนธรรมนี้เอาไว้ในอนาคต จึงควรที่จะมีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดี เพื่อจะได้ส่งต่อคุณค่าดังกล่าวไปสู่นายหนังตะลุงรุ่นใหม่ๆ ต่อไป ขณะที่ อ.ประเสริฐ รักวงษ์ เลขานุการสมาพันธ์ศิลปินพื้นบ้านจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ในนามศิลปินแห่งชาติ อ.นครินทร์ ชาทอง ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน-หนังตะลุง) ปี 2550 ซึ่งได้รับการอุดหนุนงบประมาณจัดทำโครงการจากกองทุนส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม โดยร่วมกับสำนักศิลปะฯ มรภ.สงขลา ในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องรามเกียรติ์ รวมทั้งบันทึกและเผยแพร่การแสดงหนังตะลุงเชิงอนุรักษ์เรื่องรามเกียรติ์ในรูปแบบที่เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบททางสังคมและวัฒนธรรมในปัจจุบัน ผู้เข้าร่วมการเสวนาเป็นตัวแทนนายหนังตะลุงจาก จ.สงขลา จากสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ จาก จ.อุบลราชธานี จ.เพชรบุรี ประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ภายในงานมีการเสวนาเรื่อง รามเกียรติ์กับศิลปะการแสดงในวัฒนธรรมไทยและอาเซียน จากวิทยากร รศ.ดร.สืบพงศ์ ธรรมชาติ ผู้อำนวยการอาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ ดร.พรเทพ บุญจันเพชร รองผู้อำนวยการฝ่ายอุดมศึกษา สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ วิทยาลัยนาฎศิลป์พัทลุง กระทรวงวัฒนธรรม อ.วาที ทรัพย์สิน ผู้อำนวยการสำนักศิลปะฯ มรภ.นครศรีธรรมราช ดำเนินรายการโดย ดร.บรรจง ทองสร้าง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มรภ.สงขลา เสวนาเรื่องวัฒนธรรมการแสดง "หนัง" เรื่องรามเกียรติ์ ในประเทศไทย โดยนายหนังตะลุงในแต่ละภูมิภาค กิจกรรมนำเสนอและสาธิตหนังตะลุงเรื่องรามเกียรติ์จากภูมิภาคอาเซียน เสวนาในหัวข้อศิลปกรรมรูปหนังเรื่องรามเกียรติ์ โดยทีมวิทยากรมหาวิทยาลัยศิลปากร นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมภาคกลางคืนมหกรรมหนังตะลุงรามเกียรติ์อาเซียน 5 คณะ การแสดงหนังตะลุง เรื่องรามเกียรติ์จากนายหนังตะลุงมืออาชีพ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ