หนุนอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์เพิ่มประสิทธิการผลิต ด้วย‘เทคโนโลยี’ สำหรับทดสอบความแข็งแรงของผลิตภัณฑ์ต้นแบบ

ข่าวเทคโนโลยี Wednesday December 19, 2007 15:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ธ.ค.--สวทช.
โครงการสนับสนุนการพัมนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP)
สวทช. จับมือ สจพ. พัฒนาเทคโนโลยี และเพิ่มผลผลิตในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไทย แนะ ผู้ประกอบการไทยหันมาตระหนักถึงการออกแบบผลิตภัณฑ์แทนการรับจ้างผลิต เพื่อเปิดเกมส์รุกสู้คู่แข่งอย่างจีน และเวียดนาม เชื่อ จะช่วยเพิ่มความสามารถให้เอสเอ็มอีไทยแข่งขันได้ในตลาดโลก ขณะที่ผู้ประกอบการขานรับการนำ IE -Techniqne และโปรแกรมไฟไนต์อิเลเมนต์เข้าประยุกต์ใช้เพื่อลดต้นทุนการผลิตและใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า คาด จะเริ่มมีการใช้โปรแกรมดังกล่าวเพิ่มขึ้นในอีก 1-3 ปีข้างหน้า
จากที่ภาคอุตสาหกรรมไทยส่วนใหญ่เป็นลักษณะของผู้รับจ้างผลิต หรือ OEM ทำให้ผู้ประกอบการไทยขาดความแข็งแกร่งทางด้านการสร้างสรรค์รูปแบบของตนเอง เมื่อประเทศจีน และเวียดนามเริ่มเข้ามาเป็นคู่แข่งโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์และเครื่องเรือนที่มีราคาถูกกว่า ทำให้ออร์เดอร์ส่วนใหญ่หันไปสั่งซื้อจากต่างประเทศ ส่งผลให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไทยต่างประสบปัญหา ดังนั้น เพื่อยกระดับขีดความสามารถให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ของไทยให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้
โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ร่วมกับภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (สจพ.) จัดอบรมหัวข้อเรื่อง “ เทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาและเพิ่มผลผลิตในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไม้ ” ขึ้น เพื่อให้ความรู้ด้านเทคนิคการผลิต การทำชิ้นส่วนงานเฟอร์นิเจอร์ให้เกิดประสิทธิภาพ พัฒนาผลิตภัณฑ์ไม้ให้มีคุณภาพ โดยการนำทรัพยากรที่มีอยู่ในโรงงานมาใช้อย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพมากที่สุด และการนำโปรแกรมไฟไนต์อิเลเมนต์ ( Finite Element ) เข้ามาทดสอบแบบผลิตภัณฑ์ พร้อมแนะนำเทคนิคทางวิศวกรรมอุตสาหการ หรือ Industrial Engineering ( IE-Techniqne) มาประยุกต์ใช้กับอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไทยเป็นครั้งแรก
นายสงกรานต์ บางศรัณย์ทิพย์ หัวหน้าภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (สจพ.) กล่าวว่า เนื่องจากปัจจุบันตลาดไม่สามารถแข่งขันทางด้านต้นทุนเพียงอย่างเดียว แต่จะต้องนำเอาเทคโนโลยี และความรู้ใหม่ๆ เข้ามาช่วย ซึ่งทางสถาบันฯ ได้เล็งเห็นว่า โปรแกรมไฟไนต์อิเลเมนต์นี้ จะมีประโยชน์ต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และเครื่องเรือนของไทย เนื่องจากโปรแกรมนี้ ใช้ทดสอบความแข็งแรงของผลิตภัณฑ์ต้นแบบได้โดยผ่านคอมพิวเตอร์
ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไม่ต้องเสียเวลาในการทำผลิตภัณฑ์ต้นแบบขึ้นมาเพื่อทดสอบอีกต่อไป ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิต ลดเวลา และช่วยเพิ่มโอกาสในการแข่งขัน นอกจากนี้ยังเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าได้เป็นอย่างดี และจากการเปิดตัวในวันนี้พบว่า ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการเป็นอย่างดี คาดว่า ภายในอีก 1 - 3 ปีข้างหน้า โปรแกรมดังกล่าวจะถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น
โปรแกรมไฟไนต์เอลิเมนต์นั้น เป็นโปรแกรมที่นำมาใช้กับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องด้านความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน โดยองค์การนาซ่าเป็นผู้ริเริ่มนำมาใช้กับการออกแบบกระสวยอวกาศ ต่อมาได้ที่มีการนำมาใช้กับภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ อย่างกว้างขวาง อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ , อุตสาหกรรมทางการแพทย์ , อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ยังมีการนำมาใช้ทางด้านวิศวกรรมโยธา เพื่อทดสอบแบบโครงสร้างของตัวอาคาร แต่ยังไม่เคยมีการนำมาใช้ในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์และเครื่องเรือนแต่อย่างใด
นายสงกรานต์ เชื่อว่า “วิศวกรรมอุตสาหการ หรือ IE-Techniqne เป็นศาสตร์ที่สามารถเข้าไปช่วยผู้ประกอบการให้สามารถแข่งขันได้ เพราะเป็นศาสตร์ทางด้านการบริหารจัดการเชิงวิทยาศาสตร์ ที่สามารถพิสูจน์ได้ และเป็นวิธีการนำไปใช้ลดต้นทุนการผลิต ที่สำคัญเป็นการมุ่งเน้นการใช้ทร้พยากรการผลิตที่มีอยู่ให้คุ้มค่ามากที่สุด ซึ่งความร่วมมือระหว่าง iTAP กับ สจพ. ครั้งนี้ นับเป็นโครงการที่ดีที่จะช่วยสนับสนุนและกระตุ้นให้ผู้ประกอบการไทยเร่งปรับตัวได้เร็วขึ้นเนื่องจากทาง iTAP ( สวทช.) มีค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกอบการครึ่งหนึ่งหรือร้อยละ 50 แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการว่าจะช่วยตัวเองแล้วหรือยัง เมื่อมีเครื่องมือจากภาครัฐเข้ามาหยิบยืนให้เช่นนี้ ”
นายยุทธการ อาจารีย์ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (สจพ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อสถานการณ์เศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคและตลาดเปลี่ยนแปลงไปด้วย ผู้ประกอบการไทยจึงต้องหันมาตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างสรรค์ปรูปแบบ หรือ การออกแบบผติลภัณฑ์ของตนเองมากขึ้น เพื่อเน้นเกมส์รุก ตอบสนองความต้องการของตลาดที่ไม่มีที่สิ้นสุด ลดการลอกเลียนแบบสินค้าต่างชาติ หันมาพึ่งความสามารถที่มีอยู่จากสถาบันศึกษาและเทคโนโลยีในประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถแข่งขันและอยู่รอดได้
“ การสร้างสรรค์รูปแบบนั้น ถือเป็นกระบวนการต้นน้ำสำคัญที่ผู้ประกอบการควรใส่ใจสำหรับยุคนี้ และนักออกแบบที่ดี จะต้องรู้ถึงวิธีการผลิต และการตลาดควบคู่กัน เพื่อให้การสร้างสรรค์รูปแบบมีความเป็นไปได้ในการผลิต และการนำไปใช้งานได้จริง ไม่ใช่เพียงแค่ดูหวือหวาเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงการออกแบบที่สามารถผลิตได้ง่าย หรือออกแบบอย่างไรให้ขายได้ และให้ผู้ใช้ใช้งานได้สะดวกสบาย อย่างไรก็ดี ในการออกแบบที่มีคุณภาพจะต้องมีเครื่องมือเข้ามาช่วย ฉะนั้น โปรแกรมไฟไนต์อิเลเมนต์ ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยยืดหยุ่นในการออกแบบ และลดความเสี่ยงด้านต้นทุนสำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์ต้นแบบก่อนทดสอบจริง ”
ด้าน นายศิริ ศิริวงศ์วัฒนา ผู้จัดการทั่วไป บริษัท สยามวู้ดแลนด์ จำกัด กล่าวว่า โปรแกรมดังกล่าวถือเป็นโปรแกรมใหม่สำหรับผู้ประกอบการเฟอร์นิเจอร์ของไทย แต่เชื่อว่าจะได้รับความสนใจและมีการนำไปใช้ เพราะเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยให้ผู้ประกอบการผลิตผลิตภัณฑ์ที่คุณภาพมากขึ้น ช่วยให้กระบวนการการออกแบบผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์เกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะทำให้สามารถวางแผน และคาดการณ์ได้ล่วงหน้าว่าผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมานั้นมีความแข็งแรงอย่างไรและมีโอกาสที่จะปรับเปลี่ยนวัสดุก่อนที่จะนำมาผลิตผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถทราบว่า แบบที่ออกมานั้นสามารถใช้ได้จริงหรือไม่ ทำให้ลดความเสี่ยงและลดการสูญเสียทั้งทรัพยากรและเวลา จึงนอกจากนี้ยังช่วยเพิ่มความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์ที่จะนำไปใช้ทางด้านการตลาดได้นับว่ามีประโยชน์อย่างมาก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ