สวทน. จับมือ มทร.ธัญบุรี เปิดตัวโครงการพัฒนาผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมรุ่นใหม่ ตั้งเป้าเพิ่มศักยภาพและจำนวนผู้เชี่ยวชาญให้ตรงใจเอกชน ดึงนักวิจัยรุ่นพี่ถ่ายทอดองค์ความรู้ ประสบการณ์ พร้อมลุยปฏิบัติงานจริง

ข่าวทั่วไป Tuesday August 14, 2018 12:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ส.ค.--สวทน. สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) จับมือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) เปิดตัวโครงการพัฒนาผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมรุ่นใหม่เพื่อยกระดับขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในภาคเอกชน หรือ ทีเอ็ม อคาเดมี เมื่อวันอังคารที่ 14 สิงหาคม 2561 ที่ผ่านมา ณ ห้องกมลทิพย์ 3 โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ ตั้งเป้าตอบโจทย์พัฒนาศักยภาพและเพิ่มจำนวนผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมรุ่นใหม่ ผ่านการถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญรุ่นพี่เพื่อยกระดับขีดความสามารถด้านการแข่งขันในภาคเอกชน นายเพิ่มสุข สัจจาภิวัฒน์ หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเผยว่า เพื่อตอบโจทย์รัฐบาลที่มีความมุ่งมั่นในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจของประเทศไปสู่ "เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม" โดยเปลี่ยนจากการผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ ไปสู่การผลิตสินค้าเชิงนวัตกรรม เปลี่ยนการขับเคลื่อนประเทศด้วยภาคอุตสาหกรรม ไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม รวมถึงการสนับสนุนการพัฒนาระบบนิเวศนวัตกรรมของประเทศ เพื่อขับเคลื่อนประเทศให้หลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สวทน. จึงได้ดำเนินการขับเคลื่อน "โครงการส่งเสริมบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของภาครัฐ ไปปฏิบัติงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในภาคเอกชน หรือ ทาเลนต์ โมบิลิตี้" เพื่อยกระดับศักยภาพด้านการแข่งขันของภาคเอกชน ด้วยการสร้างความเชื่อมโยงที่เข้มแข็ง ระหว่างมหาวิทยาลัยและภาคเอกชน สนับสนุนการเคลื่อนย้ายบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ บุคลากร วทน. ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาจารย์และนักวิจัย ที่อยู่ในมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของภาครัฐ ไปร่วมทำวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมกับภาคเอกชนที่กำลังขาดแคลนบุคลากรกลุ่มนี้เป็นจำนวนมาก รวมถึงส่งเสริมการสร้างนักวิจัยรุ่นใหม่ซึ่งปัจจุบันยังเป็นนิสิตนักศึกษา พร้อมทั้งการเสริมสร้างศักยภาพนักวิจัยของสถานประกอบการ โดยจากการติดตามผลการดำเนินโครงการอย่างต่อเนื่องพบว่า ปัจจุบันความต้องการบุคลากร วทน. ของภาคเอกชนเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้บุคลากรที่มีประสบการณ์ดำเนินงานวิจัยพัฒนากับภาคเอกชนมีจำนวนไม่เพียงพอ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย สวทน. จึงได้ร่วมมือกับ มทร.ธัญบุรี และเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ดำเนินโครงการพัฒนาผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมรุ่นใหม่ เพื่อยกระดับขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมในภาคเอกชน หรือ ทีเอ็ม อคาเดมี ซึ่งเป็นโครงการภายใต้นโยบาย "วิทย์แก้จนและยกระดับภูมิภาค" ของกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดยหวังว่าโครงการดังกล่าวจะเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มจำนวนผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมรุ่นใหม่ ที่พร้อมดำเนินงานวิจัยพัฒนาร่วมกับสถานประกอบการ อันจะเป็นเสมือนการสร้างรากฐานที่มั่นคงด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมให้แก่ภาคอุตสาหกรรมไทยเพื่อขับเคลื่อนไปสู่ประเทศเศรษฐกิจฐานนวัตกรรมต่อไป ด้าน ผศ.ดร.พูลศักดิ์ โกษียาภรณ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ด้านนวัตกรรมการพัฒนากำลังคน สวทน. กล่าวว่า จากปัญหาที่พบระหว่างการดำเนินโครงการ ทาเลนต์ โมบิลิตี้ ในเรื่องจำนวนผู้เชี่ยวชาญที่มีองค์ความรู้และมีประสบการณ์การทำงานร่วมกับภาคเอกชนไม่เพียงพอต่อความต้องการของภาคเอกชน จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่จะพัฒนาศักยภาพและเพิ่มจำนวนผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมรุ่นใหม่ โดยร่วมกับ มทร.ธัญบุรี ในการถ่ายทอดองค์ความรู้และประสบการณ์จากผู้เชี่ยวชาญรุ่นพี่ (Mentors) แก่ผู้เชี่ยวชาญรุ่นใหม่ (New Talents) เพื่อยกระดับขีดความสามารถด้านการแข่งขันในภาคเอกชน รวมถึงส่งเสริมการเคลื่อนย้ายผู้เชี่ยวชาญรุ่นใหม่ออกไปปฏิบัติงานในโครงการ ทาเลนต์ โมบิลิตี้ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญรุ่นพี่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่สถานประกอบการและเพิ่มประสบการณ์การทำงานร่วมกับภาคเอกชนแก่ผู้เชี่ยวชาญรุ่นใหม่ เพื่อส่งเสริมการเคลื่อนย้ายบุคลากรด้าน วทน. จากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยของภาครัฐไปปฏิบัติงานในสถานประกอบการ SME วิสาหกิจชุมชน (CE) และธุรกิจประกอบการท้องถิ่น (OTOP) ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ผศ.ดร.สมหมาย ผิวสะอาด รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวว่า โครงการ ทีเอ็ม อคาเดมี มีเป้าหมายในการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มจำนวนผู้เชี่ยวชาญรุ่นใหม่ไม่น้อยกว่า 300 คน พร้อมทั้งเคลื่อนย้ายผู้เชี่ยวชาญรุ่นใหม่ออกไปปฏิบัติงานในโครงการ ทาเลนต์ โมบิลิตี้ ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญรุ่นพี่ โดยแบ่งกิจกรรมการดำเนินงานออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การอบรมองค์ความรู้พื้นฐานและประสบการณ์การทำงาน ร่วมกับภาคเอกชนใน 3 กลุ่มสาขา คือ 1) กลุ่มวัสดุศาสตร์ 2) กลุ่มสิ่งแวดล้อม และ 3) กลุ่มชีววิทยาและสมุนไพร ระยะที่ 2 การปฏิบัติงานจริงของผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมรุ่นใหม่ในสถานประกอบการ ภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญรุ่นพี่ที่มีประสบการณ์วิจัยพัฒนาร่วมกับภาคเอกชน พร้อมทั้ง ถอดบทเรียนการดำเนินงานและจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการพัฒนาแพลตฟอร์มการยกระดับศักยภาพและเพิ่มจำนวนผู้เชี่ยวชาญรุ่นใหม่โดยผู้เชี่ยวชาญรุ่นพี่ที่ต่อยอดจากแพลตฟอร์มโครงการ ทาเลนต์ โมบิลิตี้ เพื่อตอบสนองความต้องการบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมของภาคเอกชน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ