กรุงศรีคาดเงินบาทสัปดาห์นี้เคลื่อนไหวในกรอบ 33.20-33.50 หวั่นผลกระทบวิกฤติค่าเงินตุรกี

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday August 14, 2018 15:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ส.ค.--ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 33.20-33.50 ต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดแข็งค่าที่ 33.27 ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50% ตามคาด ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดหุ้น 7.4 พันล้านบาทแต่ขายพันธบัตรสุทธิ 2.3 พันล้านบาท ขณะที่เงินดอลลาร์แข็งค่าเทียบกับสกุลเงินหลักส่วนใหญ่ โดยในช่วงท้ายสัปดาห์ตลาดโลกถูกกระทบจากความกังวลเกี่ยวกับวิกฤติเศรษฐกิจในตุรกี ในปีนี้ เงินลีราตุรกีอ่อนค่าลงไปแล้วถึง 40% เมื่อเทียบกับดอลลาร์ ส่วนเงินยูโรเผชิญแรงขายอย่างต่อเนื่อง ท่ามกลางความวิตกต่อความเสี่ยงของธนาคารยุโรปที่ทำธุรกรรมปล่อยกู้หรือถือครองตราสารตุรกี กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า วิกฤติการเงินในตุรกีจะกดดันราคาสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น และสกุลเงินตลาดเกิดใหม่ ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรของประเทศที่นักลงทุนมองว่ามีความเสี่ยงต่ำ เช่น สหรัฐฯ และเยอรมัน อาจปรับตัวลง เรามองว่าผลกระทบทางตรงต่อเศรษฐกิจไทยอยู่ในระดับจำกัด แต่เนื่องจากตลาดการเงินทั่วโลกเชื่อมโยงกัน ผลกระทบทางอ้อมและความผันผวนจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก โดยเฉพาะจังหวะที่เกิดวิกฤติในตุรกีครั้งนี้ ถือว่าเป็นช่วงที่กลุ่มตลาดเกิดใหม่กำลังเผชิญกับภาวะขาขึ้นของดอกเบี้ยโลกรวมถึงสงครามการค้า ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเร่งตัวของกระแสเงินทุนไหลออก ดังนั้น ในระยะสั้นเงินดอลลาร์และเงินเยนซึ่งเป็นแหล่งพักเงินที่ปลอดภัย จะยังคงได้แรงหนุนเมื่อเทียบกับสกุลเงินตลาดเกิดใหม่รวมถึงเงินบาท อย่างไรก็ดี เราประเมินว่ามีความเป็นไปได้ค่อนข้างน้อยที่วิกฤติจะขยายวงกว้างออกไป เนื่องจากปัญหาต่างๆ มีลักษณะเฉพาะตัวสำหรับตุรกี ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ขาดสมดุลในช่วงที่ผ่านมา ระดับทุนสำรองต่ำ รวมถึงการที่สหรัฐฯ ประกาศเพิ่มภาษีนำเข้าเหล็กจากตุรกี สำหรับปัจจัยภายในประเทศ กนง.มีมติด้วยเสียง 6 ต่อ 1 ให้คงดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่เราให้ความสนใจการส่งสัญญาณที่ว่าความจำเป็นของนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย "น้อยลงเรื่อยๆ" เนื่องจากเห็นว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจชัดเจนขึ้นและภาวะการเงินที่ผ่อนคลายมากเป็นเวลานานอาจนำมาซึ่งความเสี่ยงด้านเสถียรภาพ ส่วนภาวะน้ำท่วมในขณะนี้ยังมีผลกระทบจำกัดต่อด้านผลผลิต ท่าทีล่าสุดของกนง.ยังคงสนับสนุนมุมมองของเราที่ว่า ผู้ดำเนินนโยบายจะตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ