กทม. ต้อนรับปีใหม่รับชำระภาษีผ่านธนาคาร — จ่ายตรงค่ารักษาพยาบาล

ข่าวเทคโนโลยี Wednesday December 19, 2007 17:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ธ.ค.--กปส.
กรุงเทพมหานครเดินหน้าพัฒนาการให้บริการด้านการเงินด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ (BMA e-Financial Service) รับชำระค่าภาษีผ่านธนาคารกรุงไทย และให้บริการระบบเบิกจ่ายตรงสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลสำหรับข้าราชการและลูกจ้างประจำของกรุงเทพมหานคร ดีเดย์ 2 ม.ค.51 นี้ พร้อมเพิ่มทางเลือกในการใช้บริการโรงพยาบาลในสังกัด กทม.ด้วยการรับชำระค่ารักษาพยาบาลด้วยบัตรเครดิต
19 ธ.ค.50 นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นประธานแถลงข่าว “การให้บริการด้านการเงินด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกรุงเทพมหานคร” (BMA e-Financial Service) ร่วมกับนายปรีชา ภูขำ รองกรรมการผู้จัดการผู้บริหารกลุ่มธุรกิจภาครัฐ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และนายแพทย์พีระพงษ์ สายเชื้อ รองผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ ณ ร้านอาหารบ้านกลางน้ำ 2 ถนนพระราม 3 โดยมีคณะผู้บริหารและข้าราชการกรุงเทพมหานคร ให้การต้อนรับ
เพิ่มทางเลือกชำระภาษีผ่านธนาคารกรุงไทย
กรุงเทพมหานครเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนสามารถชำระค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่ และภาษีป้าย ผ่านระบบ Teller Payment ของธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) จากเดิมที่รับชำระผ่านสำนักงานเขต หรือชำระที่กองการเงิน สำนักการคลัง กรุงเทพมหานครเท่านั้น แต่ตั้งแต่ 2 ม.ค.51 เป็นต้นไป สามารถนำใบแจ้งการประเมินพร้อมใบแจ้งการชำระภาษีที่มีบาร์โค้ตไปชำระเงินได้ที่ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ทุกสาขาทั่วประเทศ คิดค่าธรรมเนียมรายการละ 10 บาท ทั้งนี้ ธนาคารจะรับชำระเงินในกรณีปกติ ไม่มีค่าเพิ่ม และไม่เกินวันที่กำหนดไว้ในใบแจ้งการชำระภาษี โดยธนาคารจะออกใบรับให้กับผู้ชำระเงินภาษี จากนั้นกองการเงิน สำนักการคลัง กรุงเทพมหานคร จะจัดส่งใบเสร็จรับเงินให้ในภายหลัง
สำหรับเงื่อนไขการชำระเงินภาษีด้วยเงินสด สามารถชำระได้ตามเวลาทำการของธนาคาร กรณีชำระเงินภาษีด้วยเช็ค วันที่ที่ระบุในเช็คต้องไม่เกินวันที่ครบกำหนดชำระ และจำนวนเงินในเช็คต้องเท่ากับค่าภาษี โดยสั่งจ่ายกรุงเทพมหานคร และชำระก่อนเวลา 12.00 น. ด้านหลังเช็คระบุชื่อ นามสกุล และหมายเลขโทรศัพท์ การชำระเงินด้วยเช็คจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อเรียกเก็บเงินได้ ธนาคารรับเฉพาะเช็คเคลียร์ริ่งในเขตสำนักหักบัญชีกรุงเทพมหานคร ในกรณีชำระภาษีเกินกำหนดและมีเงินเพิ่ม สามารถชำระได้ที่สำนักงานเขตทุกเขตและที่กองการเงิน ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร และในอนาคตจะมีการขยายช่องทางการให้บริการรับชำระภาษีผ่านทาง ATM บริการ KTB Online และบริการ Tele Banking โรงพยาบาลสังกัด กทม. รับชำระค่ารักษาพยาบาลด้วยบัตรเครดิต
กรุงเทพมหานครรับชำระเงินค่ารักษาพยาบาลด้วยบัตรเครดิต เพื่อเพิ่มความสะดวกและความปลอดภัยให้กับผู้เข้ารับบริการในโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร ทั้ง 9 แห่ง คือ วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินธโรอุทิศ โรงพยาบาลหนองจอก โรงพยาบาลลาดกระบัง โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โรงพยาบาลสิรินธร โดยรับชำระค่ารักษาพยาบาลทั้งการรักษาประเภทผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก กำหนดวงเงินขั้นต่ำ 1,000 บาท ต่อการชำระเงิน 1 ครั้ง และไม่คิดค่าธรรมเนียมการชำระเงินด้วยบัตรเครดิต ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการเชื่อมต่อระบบคอมพิวเตอร์ของธนาคารกับโรงพยาบาล คาดว่าจะให้บริการได้ในเร็วๆ นี้
2 ม.ค.51 เริ่มให้บริการระบบเบิกจ่ายตรงสวัสดิการค่ารักษาพยาบาล
กรุงเทพมหานครพัฒนาระบบการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลสำหรับข้าราชการและลูกจ้างของกรุงเทพมหานครเป็นระบบการเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลของผู้มีสิทธิและบุคคลในครอบครัว ข้อมูลการรักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาล ระหว่างกรุงเทพมหานครกับสถานพยาบาล โดยผ่านสำนักงานกลางสารสนเทศบริการสุขภาพ (สกส.) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เพียงตรวจสอบสิทธิผ่านเว็บไซต์ของกรุงเทพมหานคร (www.bma.go.th) และสมัครลงทะเบียนที่สถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการกับกรุงเทพมหานคร ก็สามารถรับการรักษาพยาบาลได้โดยไม่ต้องสำรองจ่ายและไม่ต้องขอหนังสือรับรองสิทธิ ทั้งนี้ สถานพยาบาลจะประสานงานกับกองการเงิน สำนักการคลัง เพื่อเรียกเก็บค่าใช้จ่ายรักษาพยาบาล
การเข้ารับการรักษาต้องสมัครลงทะเบียน ณ สถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการกับกรุงเทพมหานคร กรณีผู้ป่วยนอกสามารถใช้บริการได้หลังจากลงทะเบียน 15 วัน สำหรับผู้ป่วยในสามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ทันทีที่สมัครลงทะเบียน โดยเริ่มให้บริการข้าราชการ ลูกจ้างประจำ และข้าราชการบำนาญตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค. 51 ในส่วนของบุคคลในครอบครัวและข้าราชการการเมืองจะใช้บริการได้ภายในปี 2551
สถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการระบบเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลมีจำนวน 31 แห่ง โดยเป็นสถานพยาบาลของราชการ จำนวน 22 แห่ง คือ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลราชวิถี โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า โรงพยาบาลยาสูบ โรงพยาบาลเลิดสิน โรงพยาบาลทหารผ่านศึก โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช โรงพยาบาลบางใหญ่นนทบุรี โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา สถาบันประสาทวิทยา สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี สถาบันมะเร็งแห่งชาติ สถาบันโรคผิวหนัง สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา สถาบันกัลยาราชนครินทร์ สถาบันราชานุกูล สถานพยาบาลสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ศูนย์แพทย์พัฒนา และโรงพยาบาลในสังกัดกรุงเทพมหานคร จำนวน 9 แห่ง คือ วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลตากสิน โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลหลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินธโรอุทิศ โรงพยาบาลหนองจอก โรงพยาบาลลาดกระบัง โรงพยาบาลราชพิพัฒน์ โรงพยาบาลสิรินธร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ