กระทรวงพลังงาน ประสบความสำเร็จในการจัดตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าเสร็จไปแล้วกว่า 10 กองทุน ใน 7 จังหวัด

ข่าวกีฬา Thursday December 20, 2007 14:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ธ.ค.--ก.พลังงาน
กระทรวงพลังงาน ประสบความสำเร็จในการจัดตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าเสร็จไปแล้วกว่า 10 กองทุน ใน 7 จังหวัด และมีเม็ดเงินไหลเข้ามากกว่า 606 ล้านบาท ระบุ กฟผ. พร้อมโอนเงินเข้ากองทุนพัฒนาชุมชนทันทีเมื่อมีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารกองทุนแล้วเสร็จ
นายณอคุณ สิทธิพงศ์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้การจัดตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าเสร็จแล้วกว่า 10 กองทุน ใน 7 จังหวัด ได้แก่จังหวัดขอนแก่น กาฬสินธุ์ อุตรดิตถ์ อ่างทอง ฉะเชิงเทรา กระบี่ และอยุธยา ส่วนกองทุนฯที่เหลือคาดว่าจะแล้วเสร็จในเร็ว ๆ นี้
นายณอคุณ กล่าวว่า รู้สึกพอใจที่เห็นการจัดตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้ามีความคืบหน้าไปมากแล้ว และต้องขอขอบคุณผู้ว่าราชการจังหวัดที่ให้ความร่วมมือในการจัดตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าเป็นอย่างดี ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้จัดเก็บเงินจากผู้ผลิตไฟฟ้าเพื่อเข้ากองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2550 ได้มากกว่า 606 ล้านบาท โดยกระทรวงพลังงานมอบหมายให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ( กฟผ.) ดูแลเงินในส่วนนี้ไปก่อนจนกว่าจะมีการจัดตั้งกองทุนฯ จากนั้น กฟผ.ก็จะโอนเงินดังกล่าวให้แต่ละกองทุนฯไปดำเนินการบริหารงาน
“จากประมาณการเบื้องต้นของโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบัน คาดว่าในปี 2551จะมีเงินเข้ากองทุนฯ รวมประมาณ 1,887 ล้านบาท เพื่อจัดสรรให้กับชุมชนรอบโรงไฟฟ้าทั่วประเทศนำไปใช้ประโยชน์เพื่อส่วนรวมในชุมชนเป็นหลัก ได้แก่ การพัฒนาอาชีพ การศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม กีฬา และดนตรี หรือการสาธารณสุขและพัฒนาสิ่งแวดล้อม การพัฒนาพลังงานหมุนเวียน หรือเป็นเพื่อบรรเทาความเสียหายทันทีหากเกิดผลกระทบที่มีสาเหตุมาจากโรงไฟฟ้า หรือาจใช้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าให้กับครอบครัวในชุมชนที่อยู่รอบโรงไฟฟ้าก็ได้” นายณอคุณกล่าว
ส่วนหลักเกณฑ์การเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนฯ กำหนดให้โรงไฟฟ้าจ่ายเงินเข้ากองทุนฯ เป็นประจำทุกเดือน ตามหน่วยพลังงานไฟฟ้าที่ขายเข้าระบบ ซึ่งจะแตกต่างกันตามประเภทของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า อาทิเช่น ก๊าซธรรมชาติจ่าย 1 สตางค์ต่อหน่วย น้ำมันเตา/ดีเซลจ่าย 1.5 สตางค์ต่อหน่วย ถ่านหิน/ลิกไนต์จ่าย 2 สตางค์ต่อหน่วย และหากเป็นเชื้อเพลิงที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ได้แก่ ชีวมวล กาก เศษวัสดุเหลือใช้ และขยะ เรียกเก็บ 1 สตางค์ต่อหน่วย และพลังน้ำ เรียกเก็บ 2 สตางค์ต่อหน่วย ตัวอย่างเช่น โรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 700 เมกะวัตต์ จะมีเงินเข้ากองทุนฯได้ถึงปีละ 100 ล้านบาท ในขณะที่โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติขนาด 700 เมกะวัตต์ จะมีเงินเข้ากองทุนฯได้ปีละ 50 ล้านบาท

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ