ความคิดเห็นและข้อสังเกตของกรีนพีซต่อการดำเนินระบบการรายงานคุณภาพอากาศตาม ดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ใหม่ของกรมควบคุมมลพิษ

ข่าวทั่วไป Monday August 20, 2018 17:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ส.ค.--กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กรีนพีซแสดงความยินดีที่กรมควบคุมมลพิษได้เริ่มดำเนินการทดสอบระบบการรายงานคุณภาพอากาศตามดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ใหม่ ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา โดยปรับปรุงดัชนีคุณภาพอากาศโดยใช้ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ในการคำนวณ นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า "กรีนพีซเห็นว่าการนำเอา PM2.5 เข้ามาคำนวณในดัชนีคุณภาพอากาศ เป็นหมุดหมายสำคัญในการต่อกรกับวิกฤตมลพิษอากาศที่ส่งผลต่อสุขภาวะของผู้คน และเป็นขั้นตอนสำคัญในการสื่อสาร "คุณภาพอากาศ" และระบุผลกระทบต่อสุขภาพของคนกลุ่มต่างๆ ได้อย่างถูกต้องและสะท้อนถึงความเป็นจริง ความพยายามในการพัฒนาการรายงานดัชนีคุณภาพอากาศของกรมควบคุมมลพิษในครั้งนี้ จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดี และเป็นการเริ่มต้นที่ดีที่จะปกป้องสุขภาพคนและสิ่งแวดล้อม" อย่างไรก็ตาม กรีนพีซมีข้อสังเกตว่าการรายงานคุณภาพอากาศ (Air Quality Reporting) ใหม่นี้เป็นการรายงานดัชนีคุณภาพอากาศโดยใช้ค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง ทำให้ประชาชนเข้าใจว่าคุณภาพอากาศเป็นเช่นนั้นตลอดทั้ง 24 ชั่วโมง ซึ่งจะแตกต่างอย่างมากจากการรายงานดัชนีคุณภาพอากาศรายชั่วโมง ซึ่งจะระบุถึงคุณภาพอากาศ ณ ชั่วโมงดังกล่าว เมื่อมีเหตุการณ์วิกฤตมลพิษทางอากาศเกิดขึ้นและ/หรือการที่ระดับมลพิษทางอากาศเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาจากอิทธิพลของกระแสลมจะส่งผลให้ดัชนีคุณภาพอากาศเปลี่ยนแปลงขึ้นลงอย่างมากในระยะเวลาอันสั้น ทำให้การรายงานค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมงไม่สามารถตอบรับต่อวิกฤตมลพิษทางอากาศที่ส่งผลต่อสุขภาพของผู้คนได้ทันท่วงที ด้วยเหตุนี้ กรีนพีซเสนอแนะให้กรมควบคุมมลพิษมีการรายงานดัชนีคุณภาพอากาศที่รวม PM2.5 โดยใช้ค่าเฉลี่ยรายชั่วโมงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตมลพิษทางอากาศขึ้น ในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมา กรีนพีซทำงานรณรงค์ภายใต้โครงการ "ขออากาศดีคืนมา (Right to Clean Air)" ด้วยความเชื่อมั่นว่าทุกคนมีสิทธิในการเข้าถึงอากาศสะอาด โดยทำงานร่วมกับชุมชนและภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญเพื่อขับเคลื่อนให้รัฐบาลลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังต่อปัญหาเร่งด่วนด้านสุขภาพและสร้างแผนปฏิบัติการที่หนักแน่นกว่าที่เป็นอยู่เพื่อทำให้อากาศดีขึ้น ลดมลพิษและปกป้องชีวิตคน ข้อเรียกร้องของกรีนพีซต่อหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องรวมถึง - ใช้ค่าฝุ่นละออง PM2.5 มาคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศ - ติดตั้งตรวจวัดและรายงาน PM2.5 ทุกสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศทั่วประเทศ - ปรับปรุงมาตรฐานการปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2), ออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) และฝุ่นละออง ขนาดเล็กทั้ง PM10 และ PM2.5 ให้สอดคล้องกับข้อแนะนำขององค์การอนามัยโลก - กำหนดค่ามาตรฐาน PM2.5 และปรอทที่แหล่งกำเนิดที่อยู่กับที่รวมถึงการตรวจวัดและรายงานการปล่อย PM2.5 และปรอทจากปล่องโรงไฟฟ้า - ส่งเสริมให้มีการใช้เชื้อเพลิงสะอาดในภาคการขนส่งและระบบขนส่งมวลชนให้มากขึ้นบริหารจัดการอุปสงค์เพื่อลดการเดินทางที่ไม่จำเป็น - พัฒนาและส่งเสริมระบบขนส่งสาธารณะและรูปแบบการขนส่งสินค้าที่ประหยัดพลังงานที่สนับสนุนและเอื้อให้ประชาชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปใช้มากขึ้น - จัดการสิ่งแวดล้อมด้านการขนส่งทางถนนโดยการส่งเสริมให้มีการพัฒนาและใช้พลังงานสะอาด สนับสนุนการใช้จักรยาน การเดิน ยานพาหนะไฟฟ้าและการส่งเสริมการขับขี่ที่ประหยัดเชื้อเพลิง (Eco driving) - ดำเนินการทางด้านนโยบายภายใต้วิสัยทัศน์ภูมิภาคอาเซียนปลอดหมอกควันภายในปี 2563 (Haze-free ASEAN by 2020) นอกเหนือจากการควบคุมและป้องกันการเผาวัสดุการเกษตรในพื้นที่เพาะปลูก ป่าไม้ และพื้นที่สงวนแล้ว - จะต้องรับประกันว่ามีการติดตามตรวจสอบและรายงานความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน(PM2.5) และสารมลพิษทางอากาศอื่นๆ ที่เป็นภัยคุกคามสุขภาพอนามัยของประชาชน เช่น โพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน(PAHs) โดยสาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ ร่วมเป็นเสียงหนึ่งเพื่อ "ขออากาศดีคืนมา (Right to Clean Air)" ที่ act.gp/2qba6PN

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ