กระทรวงอุตสาหกรรม เดินเกมรุกเปิดศูนย์ ITC ด้านเทคโนโลยีรีไซเคิลและนวัตกรรมวัตถุดิบ ผลักดันผู้ประกอบการรีไซเคิลประกอบการตามหลักวิชาการและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ข่าวทั่วไป Friday September 7, 2018 14:10 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--7 ก.ย.--กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เดินเกมรุกแก้ปัญหาการจัดการขยะของประเทศ เปิด "ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิล" ของภาครัฐแห่งแรกในประเทศไทย ให้บริการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลขยะหรือของเสียภายในประเทศ พร้อมเป็นต้นแบบและถ่ายทอดองค์ความรู้เทคโนโลยีรีไซเคิล และการจัดการมลพิษให้ผู้ประกอบการรีไซเคิลประกอบการอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม วันนี้ (6 ก.ย. 2561) นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานเปิดศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิล ของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) ณ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ โดยกล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาการจัดการขยะภายในประเทศที่มีปริมาณเฉลี่ยกว่า 50 ล้านตันต่อปี ซึ่งขยะเหล่านี้หากมีระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพและครบวงจร ตั้งแต่กิจกรรม/กระบวนการที่ก่อให้เกิดขยะ กระบวนการคัดแยก การจัดเก็บรวบรวม การขนส่ง การรีไซเคิล การบำบัด และการกำจัด ขยะเหล่านี้จะเป็นแหล่งทรัพยากรทดแทนที่สำคัญของประเทศได้ ดังเช่นในประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งหลายประเทศไม่มีแหล่งแร่ธรรมชาติ โดยหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะเปลี่ยนขยะให้เป็นแร่ โลหะ และพลังงานทดแทนให้แก่ภาคอุตสาหกรรม คือ เทคโนโลยีรีไซเคิล ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรม โดย กพร. ได้ดำเนินโครงการต่อเนื่องเพื่อนำขยะหรือของเสียทั้งจากภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม รวมถึง ผลพลอยได้ (หรือ By-products) จากกระบวนการผลิต กลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ หรือที่เรียกกันในหลายประเทศว่า "การทำเหมืองแร่ในเมือง (Urban Mining)" เพื่อเป็นแหล่งทรัพยากรทดแทนให้แก่ภาคอุตสาหกรรม ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติใหม่ ลดการเกิดขยะและปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาเมืองอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ การขับเคลื่อนสู่ Zero Waste Society และ Circular Economy "ศูนย์วิจัยฯ แห่งนี้ เกิดจากการต่อยอดและขยายผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของ กพร. โดยเฉพาะการพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลต้นแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาเป็นศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี รีไซเคิลของภาครัฐแห่งแรกในประเทศไทย และเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (Industry Transformation Center, ITC) ด้านเทคโนโลยีรีไซเคิลและนวัตกรรมวัตถุดิบ ของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยเน้นให้บริการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั้งระดับห้องปฏิบัติการ (Lab scale) และระดับโรงงานต้นแบบ (Pilot scale) รวมทั้งฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอดเทคโนโลยีทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อผลักดันเทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์ สร้างผู้ประกอบการที่มีกระบวนการรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยจะเป็นต้นแบบให้ผู้ประกอบการรีไซเคิลได้ศึกษาเรียนรู้กระบวนการรีไซเคิลและการจัดการมลพิษที่เกิดขึ้นอย่างครบวงจร ถูกต้องตามหลักวิชาการ และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นอีกหนึ่งกลไกในการแก้ไขปัญหาการจัดการขยะและมลพิษของประเทศ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ที่มีใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดอย่างเป็นรูปธรรม สอดคล้องกับแนวทางการพัฒนาประเทศอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน" รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว นายวิษณุ ทับเที่ยง อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ กล่าวเพิ่มเติมว่า กพร. ในฐานะที่เป็นส่วนราชการที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีรีไซเคิล โดยเฉพาะการแยกสกัดแร่และโลหะกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ ปัจจุบัน กพร. มีเทคโนโลยีรีไซเคิลขยะหรือของเสียทั้งจากภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรม รวม 79 ชนิด โดย 49 ชนิด ได้พัฒนาเป็นเทคโนโลยีรีไซเคิลต้นแบบของ กพร. ซึ่งผ่านการพิสูจน์ความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยีแล้ว และมีศักยภาพในการถ่ายทอดเทคโนโลยีทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อเป็นการผลักดันให้ขยะหรือของเสียกลายเป็นแหล่งทรัพยากรทดแทนของภาคอุตสาหกรรมได้อย่างเป็นรูปธรรม ดังเช่นในประเทศที่พัฒนาแล้ว และมีเป้าหมายในการพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลขยะหรือของเสีย ไม่น้อยกว่า 8 ชนิดต่อปี โดยในระยะแรกของการดำเนินงาน คาดว่าจะก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มในประเทศจากการลงทุนและ/หรือการรีไซเคิลขยะหรือของเสียเป้าหมาย 200–250 ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ ยังช่วยแก้ไขปัญหาการจัดการขยะของประเทศด้วย "นวัตกรรมและเทคโนโลยีสามารถเปลี่ยนขยะหรือของเสียให้กลายเป็นแหล่งทรัพยากรทดแทนที่สำคัญ เพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายในอนาคตของประเทศได้ โดยเฉพาะกลุ่มโลหะมีค่า โลหะหายาก และโลหะพื้นฐานที่ประเทศไทยมีแหล่งทรัพยากรธรรมชาติจำกัด เช่น ทองคำ เงิน แพลทินัม แพลเลเดียม โรเดียม นีโอดีเมียม ลิเทียม ทองแดง อะลูมิเนียม เป็นต้น" นายวิษณุ กล่าวทิ้งท้าย ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิล ตั้งอยู่ในพื้นที่ของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ โทรศัพท์ 0 2202 3897 วันนี้ พร้อมให้บริการแก่ภาคอุตสาหกรรมแล้ว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ