ป้องอหิวาต์แอฟริกาสุกร...รัฐอย่าลืมเตรียมความพร้อมเรื่องเงิน

ข่าวทั่วไป Monday September 17, 2018 09:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ก.ย.--กรมปศุสัตว์ โดยสังวาลย์ สยาม การระบาดของอหิวาต์แอฟริกาในหมู (African Swine Fever : ASF) ที่เป็นภัยคุกคามอุตสาหกรรมสุกรในหลายประเทศตั้งแต่ลัตเวีย โปแลนด์ โรมาเนีย รัสเซีย ยูเครน และล่าสุดเกิดในจีน ที่สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อการเลี้ยงหมูของจีน จากมาตรการเด็ดขาดของทางการที่สั่งฆ่าหมูที่เสี่ยงต่อการติดโรคใน 6 มณฑล จำนวนเกือบ 38,000 ตัว การกำจัดสัตว์ที่ติดเชื้อถือเป็นวิธีการเดียวที่จะตัดวงจรของโรค รวมถึงควบคุมและการป้องกันการระบาดได้ ล่าสุดโฆษกกระทรวงเกษตรจีนออกมายืนยันว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้แล้ว ความสำเร็จนี้เกิดจากความร่วมมือของเกษตรกรและผู้ประกอบการเลี้ยงหมูของจีนที่ยินยอมให้เจ้าหน้าที่ทำลายหมูของพวกเขา โดยได้รับค่าชดเชยจากการที่ต้องสูญเสียหมูของพวกเขาไป ซึ่งถือเป็นความเป็นธรรมจากภาครัฐที่มีต่อเกษตรกรจีน ฮงยองฮุยนักวิเคราะห์อาวุโสจากเว็บไซต์ soozhu.com? ให้ความคิดเห็นในเรื่องนี้ว่า ถ้าเกษตรกรได้รับเงินค่าชดเชยอย่างสมเหตุสมผล พวกเขาก็ไม่ต้องลักลอบขายหมูตายหรือหมูป่วยออกไปจากฟาร์ม ที่จะกลายเป็นพาหะนำโรคไปสู่จุดอื่นๆต่อไป นั่นก็เท่ากับเป็นการกำจัดสาเหตุสำคัญของการแพร่กระจายของโรค มาตรการหยุดยั้งโรคระบาดที่จีนทำนี้ แตกต่างจากที่เคยเกิดขึ้นในหลายประเทศ ที่มีอุบัติการณ์การระบาดของเชื้อ ASF ที่แพร่ไปยังทวีปอื่นๆ ทำให้ไวรัสกระจายอยู่ในหลายประเทศในแถบยุโรปตะวันออก รัสเซีย รวมถึงแอฟริกา เนื่องจากหลายประเทศไม่ได้มีมาตรการให้เงินชดเชยให้กับเกษตรกร จากกรณีที่มีการสูญเสีย ไม่ว่าจะเกิดจากไวรัสหรือจากการที่จะต้องกำจัดหมูเพื่อหยุดการระบาดของโรค ส่งผลให้ยังคงพบการรายงานของโรคนี้และมีแนวโน้มที่จะแพร่กระจายต่อไป เนื่องจากเกษตรกรลังเลที่จะรายงานภาวะโรคแก่เจ้าหน้าที่ หรือปิดบังข้อมูลเพราะเกรงจะเกิดความเสียหายกับฟาร์มของตนเอง วันนี้แม้เราจะทราบดีว่า ASF ไม่มีอันตรายต่อสุขภาพของคน เพราะเป็นเชื้อที่ไม่ติดต่อจากหมูสู่คน แต่ถือเป็นโรคติดต่อที่รุนแรงและเป็นอันตรายต่ออุตสาหกรรมหมู เนื่องจากไม่มีวัคซีนเพื่อควบคุมโรคและไม่มียาใดใช้รักษาให้หายได้ ดังนั้นมาตรการการรักษาความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) จึงมีความสำคัญที่สุดสำหรับการปกป้องหมูไม่ให้เสี่ยงต่อการติดโรค โดยเฉพาะประเทศไทยที่ยังไม่เคยพบโรคนี้มาก่อน จะต้องถือว่าโรคนี้เป็นภัยคุกคามใหม่ ที่ต้องป้องกันอย่างถึงที่สุด เพราะไม่เพียงหายนะที่จะเกิดกับอุตสาหกรรมหมูเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมด้วย โดยต้องห้ามไม่ให้หมูจากประเทศอื่นเข้ามาในราชอาณาจักรไทยได้ แม้วันนี้กรมปศุสัตว์จะออกมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันโรค ASF แล้วก็ตาม แต่บางมาตรการนั้นไม่เพียงพอที่จะสกัดกั้นโรคนี้ได้ เช่นการชะลอนำเข้าหมูมีชีวิตและผลิตภัณฑ์หมูจากจีน รวมถึงประเทศที่มีการระบาดของโรคนี้ เป็นเวลา 90 วัน ทั้งๆที่รู้ว่าเชื้อไวรัสตัวนี้ทนทานสามารถอยู่ในสิ่งแวดล้อมได้นานหลายเดือน โดยเฉพาะข้อมูลจากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ที่ระบุว่าอยู่ในเนื้อแช่แข็งได้นานถึงเกือบ 3 ปี ดังนั้น สิ่งที่กรมฯ ควรต้องทำมากที่สุดในตอนนี้คือ "สั่งห้ามนำเข้าเนื้อหมูและเครื่องใน ไม่ว่าจะมาจากประเทศไหน เพื่อปิดประตูเสี่ยงทั้งหมด" พร้อมกับการเข้มงวดปราบปรามการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนตามแนวตะเข็บชายแดนที่ทุกวันนี้ยังพบการกระทำผิดอยู่ โดยต้องเร่งดำเนินการอย่างจริงจัง เพราะหากโรค ASF เข้ามาในประเทศเราได้ นั่นคือความล่มสลายของอุตสาหกรรมหมูไทย และวันนั้นรัฐบาลจะใช้ยาแรงและเตรียมความพร้อมเรื่องเงินชดเชยให้เกษตรกร เพื่อหยุดโรคนี้ได้อย่างที่จีนทำสำเร็จแล้วหรือไม่?.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ