สถาบันปิดทองหลังพระฯอนุมัติงบ 50 ล้านบาทส่งเสริมการผลิตทุเรียนคุณภาพในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ตั้งเป้าขยายผลการผลิตให้ได้ไม่น้อยกว่า 3 พันตัน หวังส่งเสริมรายได้ให้เกษตรกรในพื้นที่

ข่าวทั่วไป Monday September 17, 2018 16:22 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ก.ย.--มูลนิธิปิดทองหลังพระ คณะกรรมการบริหารสถาบันปิดทองหลังพระ ฯอนุมัติ 50 ล้านบาทพร้อมจับมือกระทรวงเกษตรและกระทรวงมหาดไทยขยายผลการผลิตทุเรียนคุณภาพดีเพื่อการส่งออกให้ได้เป้าหมาย 3,000 ตัน หวังฟื้นฟูเศรษฐกิจ ฐานรากในสามจังหวัดชายแดนใต้ นาย การัณย์ ศุภกิจวิเลขการ ผู้อำนวยการสถาบันปิดทองหลังพระ ฯ เปิดเผยว่า โครงการต้นแบบพัฒนาทุเรียนคุณภาพดีในจังหวัดยะลาปีแรกทีผ่านมาประสบความสำเร็จอย่างน่าพอใจ กล่าวคือเกษตรกร 18 รายที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาผลผลิตทุเรียนจนมีรายได้เพิ่มขึ้นรายละไม่ต่ำกว่า 150,000 บาท ซึ่งภายหลังจากได้เรียนรู้วิธีการดูแลผลทุเรียนและมีการเอาใจใส่อย่างจริงจัง ทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการมีรายได้จากทุเรียนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นคิดเป็นสามเท่าต่อต้นเมื่อเทียบกับราคาตลาดและจากการที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ยังยินดีสนับสนุนด้านการรับซื้อ ทำให้เกิดความมั่นใจในการขยายโครงการดังกล่าว โดยคณะกรรมการปิดทองหลังพระ ฯ อนุมัติให้เพิ่มการดำเนินงานทั้งในยะลา ปัตตานีและนราธิวาส โดยมีเป้าหมายผู้เข้าร่วม 1,250 ราย จำนวนทุเรียน 25,000 ต้น ผลผลิตทุเรียนเกรดเอบี ไม่ต่ำกว่า 3,000 ตัน โดยทางสถาบันปิดทองหลังพระฯจะระดมความร่วมมือจากทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงมหาดไทย ซึ่งนายพีรพันธ์ คอทอง ผู้ช่วยปลัดกระทรวงเกษตร ฯ ให้ความสนใจและยินดีร่วมสนับสนุนโครงการดังกล่าว นอกเหนือจากโครงการพัฒนาทุเรียนคุณภาพแล้ว สถาบันปิดทองหลังพระ ฯยังจะร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อยกระดับการพัฒนาในทุกพื้นที่ให้สอดคล้องกับความเห็นและความต้องการของประชาชนในแต่ละแห่ง ประกอบด้วย การร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตรพัฒนาแปลงดอกไม้ในพื้นที่ปิดทองหลังพระแก่นมะกรูด อุทัยธานี เพื่อส่งเสริมธุรกิจและรายได้จากการท่องเที่ยวให้แก่ประชาชนในพื้นที่ติดกับอุทยานห้วยขาแข้ง ร่วมมือกับกรมชลประทานในการซ่อมแซมและบำรุงแก้มลิงหนองเลิงเปือย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เพื่อส่งเสริมอาชีพเกษตรให้แก่ประชาชนในพื้นที่ ร่วมมือกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ส่งเสริมอาชีพการเกษตรแก่ชาวกระหร่างบ้านโป่งลึกและบางกลอย อุทยานแห่งชาติ แก่งกระจาน รวมถึงได้ร่วมมือกับอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและนักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรมในพื้นที่ และร่วมมือกับกรมส่งเสริมการเกษตรในการพัฒนาพืชผักปลอดภัยในพื้นที่อ่างเก็บน้ำห้วยคล้ายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ รวมถึงการเพิ่มความเข้มแข็งให้แก่โรงสีชุมชนเพื่อตอบความต้องการอาหารปลอดภัยที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างมากในจังหวัดอุดรธานี ส่วนโครงการร่วมมือกับกรมประมงในการส่งเสริมอาชีพประมงในพื้นที่ปิดทองหลังพระ ฯ ซึ่งจะเริ่มต้นในพื้นที่ที่มีน้ำเพียงพอตลอดปี ได้แก่ บริเวณฝายสากอ จังหวัดนราธิวาส และบ้านโป่งลึก แก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ