กสท หนุนศุลกากรเปิดช่องชำระภาษีผ่าน e-Payment

ข่าวเทคโนโลยี Thursday December 27, 2007 17:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ธ.ค.--กสท
กสท นำเทคโนโลยีระบบสื่อสาร ebXMLรองรับบริการ e-Payment ขานรับนโยบายกรมศุลกากรเดินหน้าสู่ระบบ Paperless เต็มรูปแบบปีหน้า ด้านกรมศุลฯ เปิดกว้างทุกธนาคารร่วมเชื่อมต่อระบบเพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าผู้ประกอบการชำระภาษีศุลกากรผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
นายสมยศ ธนพิรุณธร ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่กลุ่มบริการส่วนกลาง บมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT TELECOM) ในฐานะผู้ให้บริการ EDI Gatewayรายใหญ่ที่ดูแลการเชื่อมโยงระบบสื่อสารให้กับกรมศุลกากร เปิดเผยว่าบริษัทฯได้สนับสนุนเทคโนโลยีสื่อสารรองรับนโยบายกรมศุลกากรในการเปิดบริการ e-Payment ให้ผู้ประกอบการสามารถชำระภาษีด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ “การใช้บริการ e-Payment ความปลอดภัยของข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญสูงสุด ซึ่งบริษัทฯ
ได้นำ เทคโนโลยีสื่อสารข้อมูลระดับสูง ที่มั่นใจได้และเป็นมาตรฐานสากลคือ ebXML มาใช้เชื่อมโยงระบบข้อมูลของ e-Payment โดยระบบดังกล่าวสามารถให้บริการแล้วในวันนี้ และพร้อมที่จะพัฒนาสู่การให้บริการผ่านระบบหน้าต่างเดียวหรือ National Single Window (NSW) ซึ่งเป็นระบบใหญ่สำหรับรองรับการขยายตัวของการค้าระหว่างประเทศในระดับภูมิภาคในอนาคต”
นายอุทัย ดวงสูงเนิน นักวิชาการคอมพิวเตอร์ กรมศุลกากร กล่าวว่าระบบ e-Payment เป็นก้าวสำคัญของโครงการศุลกากรไร้เอกสารหรือ e-Customs ที่จะผลักดันพิธีการศุลกากรสู่ระบบ Paperless เต็มทั้งระบบ ซึ่งวันนี้มีธนาคารเข้าร่วมกับกรมศุลกากรและให้บริการ e-Payment แล้วสี่ราย คือ กรุงไทย ไทยธนาคาร ซิตี้แบงก์ และซูมิโตโมมิตซุย ทั้งนี้จะสามารถรองรับพิกัดภาษีใหม่ในปีหน้าตามประกาศกระทรวงการคลัง ซึ่งตัวเลขเพิ่มเป็นแปดหลักด้วย“ปีหน้าเมื่อเราใช้พิกัดใหม่ e-Payment จะเป็นช่องทางสำคัญให้ผู้ประกอบการชำระภาษีได้อย่างสะดวกและปลอดภัย โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มีภาระภาษีค่อนข้างมากจะไม่จำเป็นต้องนำเงินมาชำระที่กรมซึ่งต้องผ่านขั้นตอนเอกสารมากมาย แต่สามารถจะใช้ e-Payment ทำได้จนจบกระบวนการซึ่งรวดเร็วกว่าและทำให้การออกสินค้าเร็วขึ้นมาก”
ที่ผ่านมากรมศุลกากรได้ใช้เวลากว่าสิบปีกับการสร้างระบบ Paperless ในแต่ละกระบวนการของพิธีการศุลกากร โดยมี กสท ทำหน้าที่เชื่อมต่อระบบการสื่อสารที่ทันสมัยตลอดเวลาแปดปีของการพัฒนาร่วมกับกรมศุลกากร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ