สปส.แจงหลักเกณฑ์การอนุมัติสิทธิรักษาโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย โดยวิธีการบำบัดทดแทนไต

ข่าวทั่วไป Thursday December 27, 2007 18:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ธ.ค.--สปส.
สำนักงานประกันสังคม (สปส.) แจงหลักเกณฑ์การอนุมัติสิทธิรักษาตัวของผู้ประกันตนที่ป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย โดยวิธีการบำบัดทดแทนไต พร้อมทั้ง เงื่อนไขการเข้ารักษาตัวของผู้ป่วย
นายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า “สปส.เริ่มให้ความคุ้มครองผู้ประกันตนที่เจ็บป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายมาตั้งแต่ปี 2542 โดยปัจจุบัน สปส. ได้ให้ความคุ้มครองแก่ผู้ประกันตนกลุ่มนี้ ด้วยการบำบัดทดแทนไต ซึ่งประกอบด้วยการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม ในอัตราไม่เกิน 1,500 บาทต่อครั้ง และไม่เกิน 3,000 บาทต่อสัปดาห์ การล้างช่องท้องด้วยน้ำยาอย่างถาวรในอัตราไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน และการปลูกถ่ายไต เป็นค่าใช้จ่ายก่อนผ่าตัดในอัตราไม่เกิน 30,000 บาท ค่าใช้จ่ายระหว่างผ่าตัด เหมาจ่ายในอัตรา 230,000 บาท และค่ายากดภูมิภายหลังการผ่าตัดในปีแรก เหมาจ่ายเดือนละ 20,000 — 30,000 บาท ปีที่ 2 เหมาจ่ายเดือนละ 15,000 บาท และตั้งแต่ปีที่ 3 เป็นต้นไป เหมาจ่ายในอัตรา 10,000 บาทต่อเดือน”
สำหรับหลักเกณฑ์การอนุมัติสิทธิให้เป็นผู้ได้รับสิทธิการบำบัดทดแทนไตของผู้ประกันตน ที่ป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายนั้น เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม เรื่องหลักเกณฑ์และอัตราสำหรับประโยชน์ทดแทนในกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยอันมิใช่เนื่องจากการทำงาน แก้ไขเพิ่มเติม ลงวันที่ 22 พฤศจิกายน 2547 ข้อ 3 ซึ่งระบุว่า “ผู้ประกันตนที่เป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ที่มีสิทธิรับบริการทางการแพทย์โดยการบำบัดทดแทนไต ต้องเป็นผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังที่มีหน้าที่การทำงานของไตเสียไปอย่างถาวร เกินกว่าร้อยละ 95 โดยใช้หลักเกณฑ์ในการพิจารณาจากผลเลือด ผลปัสสาวะ และขนาดของไต”
นายสุรินทร์ กล่าวอีกว่า ในการพิจารณาอนุมัติสิทธิฯ แต่ละครั้งเป็นไปด้วยความรอบคอบ โดยต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการแพทย์หรือผู้ที่คณะกรรมการการแพทย์มอบหมายก่อนทุกราย ทั้งนี้ ผู้ประกันตนที่ต้องการรักษาโดยบำบัดทดแทนไต ทั้งกรณีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม กรณีการล้างช่องท้องด้วยน้ำยาอย่างถาวร และกรณีการปลูกถ่ายไต สามารถยื่นคำขอรับสิทธิการบำบัดทดแทนไตต่อสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่หรือสำนักงานประกันสังคมจังหวัดได้ ซึ่งผู้ที่มีสิทธิยื่นคำขอรับการบำบัดทดแทนไตต้องเป็นผู้ประกันตนที่เป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายตามหลักวิชาการแพทย์ และไม่เป็นโรคดังกล่าวมาก่อนการเป็นผู้ประกันตน คราวที่ยื่นขอใช้สิทธิการบำบัดทดแทนไตด้วย
สำหรับ ผู้ประกันตนที่ได้รับการอนุมัติให้มีสิทธิรักษา สามารถเข้ารับบริการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมหรือล้างช่องท้องด้วยน้ำยาแบบถาวรได้ ในสถานพยาบาลที่ขึ้นทะเบียนเป็นสถานพยาบาลบำบัดทดแทนไตกับสำนักงานประกันสังคม ส่วนการผ่าตัดปลูกถ่ายไต ผู้ป่วยต้องได้รับการอนุมัติและจัดสถานพยาบาลที่จะทำการปลูกถ่ายไตให้ก่อนที่จะทำการผ่าตัด โดยสถานพยาบาลที่ทำความตกลงกรณีปลูกถ่ายไตกับ สปส. ในปัจจุบันมีจำนวน 14 แห่ง ได้แก่ 1.โรงพยาบาลรามาธิบดี 2.โรงพยาบาลศิริราช 3.โรงพยาบาลราชวิถี 4.โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ 5.โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า 6.โรงพยาบาลตำรวจ 7.โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช 8.โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ 9.โรงพยาบาลชลบุรี 10.โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ 11.โรงพยาบาลศรีนครินทร์ จังหวัดขอนแก่น 12.โรงพยาบาลวชิระพยาบาล 13.โรงพยาบาลสงขลา และ14.โรงพยาบาลพุทธชินราช จังหวัดพิษณุโลก
ทั้งนี้ ณ เดือนสิงหาคม 2550 สปส.ให้การดูแลผู้ประกันตนกรณีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมไปแล้วจำนวน 2,443 ราย กรณีล้างช่องท้องด้วยน้ำยาอย่างถาวรจำนวน 17 ราย และกรณีปลูกถ่ายไต โดยผู้ประกันตนที่ได้รับอนุมัติสิทธิแล้ว จำนวน 1,277 ราย ได้รับการผ่าตัดแล้ว จำนวน 111 ราย และได้รับอนุมัติสิทธิรับยากดภูมิคุ้มกันจำนวน 182 ราย และหากผู้ประกันตนมีข้อสงสัย สามารถสอบถามข้อมูลที่กองประสานการแพทย์และฟื้นฟูสมรรถภาพ สำนักงานประกันสังคม โทร.0-2956-2498-9 หรือสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่/จังหวัด หรือสายด่วนประกันสังคม 1506 ได้ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ