3 ทศวรรษ 'พัฒนาชุมชน’ มรภ.สงขลา ผนึก 20 องค์กรเครือข่ายปั้นนักพัฒนารุ่นใหม่

ข่าวทั่วไป Monday September 24, 2018 15:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ก.ย.--มรภ.สงขลา พัฒนาชุมชน มรภ.สงขลา ครบรอบ 3 ทศวรรษ ลงนามความร่วมมือ 20 องค์กรเครือข่าย ขับเคลื่อนการทำงาน เดินหน้าสร้างนักพัฒนารุ่นใหม่ สอดคล้องบริบทพื้นที่ นายณัฏฐาพงศ์ อภิโชติเดชาสกุล ประธานโปรแกรมวิชาการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยถึงงานสัมมนาทางวิชาการ 3 ทศวรรษ พัฒนาชุมชนราชภัฏสงขลา เมื่อเร็วๆ นี้ว่า หลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการพัฒนาชุมชน เปิดการเรียนการสอนมาครบ 3 ทศวรรษ โดยตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาได้ทำหน้าที่ใน 4 มิติ ทั้งการเรียนการสอน การวิจัย การบริการวิชาการ และ ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม จนแพร่หลายและเป็นที่ยอมรับของสังคม ดังนั้น เมื่อหลักสูตรฯ กำลังก้าวเข้าสู่ทศวรรษที่ 4 จึงมีแนวคิดที่จะจัดสัมมนาทางวิชาการ เนื่องในโอกาสครบรอบ 3 ทศวรรษฯ เพื่อระดมความเห็น แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านการพัฒนาชุมชน ภายใต้แนวคิด "3 ทศวรรษพัฒนาชุมชนราชภัฏสงขลา 30 ปีแห่งการเรียนรู้ มิตรภาพ และเครือข่าย" ด้วยการเชิญภาคีเครือข่ายด้านการพัฒนาชุมชน สังคม ท้องถิ่น มาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และลงนามความร่วมมือในการขับเคลื่อนองค์ความรู้ด้านการพัฒนาชุมชน นายณัฏฐาพงศ์ กล่าวว่า สาระสำคัญของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ มีดังต่อไปนี้ 1. แลกเปลี่ยนและพัฒนาหลักสูตรในงานพัฒนาชุมชน เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และความต้องการของพื้นที่ 2. จัดทำวิจัยด้านการพัฒนาชุมชน เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ให้สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่และเหมาะสมกับสถานการณ์ 3.ร่วมมือบุคลากรในงานพัฒนาชุมชน ทั้งนักศึกษาในสังกัดของ มรภ.สงขลา รวมถึงบุคลากรและกลุ่มเป้าหมายในความรับผิดชอบของภาคีเครือข่ายด้านการพัฒนาชุมชน สังคม และท้องถิ่น เพื่อให้สามารถทำหน้าที่นักพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ 4. ดำเนินกิจกรรมอื่นๆ ที่มหาวิทยาลัยมีความคิดเห็นเพิ่มเติมร่วมกับภาคีเครือข่ายด้านการพัฒนาชุมชน สังคม และท้องถิ่น ในการพัฒนากิจการด้านงานพัฒนาชุมชนที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติในอนาคต ด้าน ดร.อัจฉรา วงศ์วัฒนามงคล รองอธิการบดี มรภ.สงขลา ซึ่งเข้าร่วมงานสัมมนาในครั้งนี้ด้วย กล่าวว่า หลักสูตรการพัฒนาชุมชนมีความสำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบัน เพราะเป็นหลักสูตรที่มีภูมิรู้เกี่ยวกับการทำงานชุมชนอย่างเข้มข้น อีกทั้งยังเป็นหลักสูตรหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยที่มุ่งหวังเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น ในอนาคตเราจำเป็นที่ต้องขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชนแบบพหุภาคี เพื่อให้สามารถตอบโจทย์การพัฒนาที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ขณะที่ นายชาคริต โภชะเรือง ผู้จัดการมูลนิธิชุมชนสงขลา ภาคีเครือข่ายด้านการพัฒนาชุมชนฯ กล่าวว่า การก้าวสู่ทศวรรษที่ 4 ของหลักสูตรการพัฒนาชุมชน มรภ.สงขลา ได้สร้างความเคลื่อนไหวเชิงรุกด้วยการทำงานในรูปแบบเครือข่ายกับภาคีที่เกี่ยวข้องร่วม 20 องค์กร ชักชวนมาลงนามความร่วมมือ (MOU)แสดงให้เห็นความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะจับมือทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างบัณฑิตนักพัฒนาชุมชนรูปแบบใหม่ที่มีความสามารถ มีศักยภาพในการทำงานด้านการพัฒนาชุมชนให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง นายอภิศักดิ์ ทัศนี ผู้ประสานงานเครือข่ายเยาวชนพลเมืองสงขลา (ศิษย์เก่าพัฒนาชุมชน มรภ.สงขลา) กล่าวถึงการพัฒนาชุมชนว่า เป็นศาสตร์วิชาที่ใกล้ชิด คลุกคลีกับความเป็นมนุษย์มากที่สุด ปรัชญาพัฒนาชุมชนคือการเคารพ เชื่อมั่นในความเป็นมนุษย์ที่มีสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และเชื่อมั่นว่ามนุษย์พัฒนาได้เมื่อเขาได้รับโอกาส วิชานี้ สาขานี้ จึงเป็นเรื่องของความเป็นมนุษย์โดยแท้จริง ตนทำงานเรื่องหาดทรายมาตั้งแต่ปี 2555 มีสงขลาฟอรั่มเป็นพี่เลี้ยงที่ช่วยให้เรียนรู้จากเรื่องจริงสถานการณ์จริง ลงมือทำ เกิดสำนึกพลเมืองที่ติดตัวเรามา จุดมุ่งหมายของการเรียนในศาสตร์แขนงนี้ไม่ได้อยู่ที่ความรู้ในหัวสมอง แต่เป็นจิตใจของนักพัฒนาชุมชนที่จะยกระดับงอกงาม เป็นมนุษย์ที่เห็นคุณค่าของตนเอง ผู้อื่น และเข้าใจความเป็นชุมชนทุกๆ รูปแบบ ดังนั้น การเรียนพัฒนาชุมชนคือการกลับมารับใช้ชุมชน สังคม รับใช้ผู้อื่นด้วยหัวใจที่ใหญ่ขึ้นและมีความเป็นพลเมือง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ