สถานการณ์น้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป สัปดาห์ที่ 24-28 ก.ย. 61 และแนวโน้มสัปดาห์ที่ 1-5 ต.ค. 61

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 1, 2018 16:38 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ต.ค.--ปตท. ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นทุกชนิด โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 2.97 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 81.77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 2.06 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 72.26 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 2.88 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 79.73 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 1.84เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 91.56 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซล เพิ่มขึ้น 3.31 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 96.32 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก - อุปทานน้ำมันมีแนวโน้มตึงตัวหลังผู้นำเข้าน้ำมันอิหร่านต้องจัดหาน้ำมันดิบจากประเทศอื่นทดแทน อาทิ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ยุติการนำเข้าเพื่อปฏิบัติตามมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ (ไม่ให้ทุกประเทศนำเข้าน้ำมันดิบอิหร่าน ตั้งแต่วันที่ 4 พ.ย. 61) ทั้งนี้ บริษัท Cosmo Oil ของญี่ปุ่นแจ้งว่าจะไม่นำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่านตั้งแต่เดือน พ.ย. 61 เป็นต้นไป (ปกติทางบริษัทนำเข้าจากอิหร่านคิดเป็น 5% หรือ ปริมาณ 10,000 บาร์เรลต่อวัน) และ เกาหลีใต้หยุดนำเข้าน้ำมันดิบและคอนเดนเสทจากอิหร่าน ช่วง มิ.ย.- ส.ค. 61 ติดต่อกัน 3 เดือน (ก่อนหน้านี้เกาหลีใต้นำเข้าน้ำมันดิบจากอิหร่าน ปริมาณ 180,000 บาร์เรลต่อวัน) - การประชุม Joint Ministerial Monitoring Committee (JMMC) ของกลุ่ม OPEC กับ Non-OPEC นำโดยรัสเซีย ในการประชุมวันที่ 23 ก.ย. 61 ที่แอลจีเรีย ไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในการเพิ่มปริมาณการผลิต โดยอิหร่านเห็นว่าการเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบนอกเหนือจากข้อตกลงต้องได้รับการอนุมัติจากที่ประชุม โดยเฉพาะการมอบส่วนแบ่งตลาดของสมาชิกกลุ่ม OPEC ให้กับประเทศ Non-OPEC - การประชุม Asia Pacific Petroleum Conference (APPEC) ที่สิงคโปร์ บริษัทผู้ค้าน้ำมันเตือนราคาน้ำมันดิบอาจพุ่งขึ้น ภายในปลายปี พ.ศ. 2561 หรือต้นปี พ.ศ. 2562 เนื่องจากอุปทานน้ำมันในตลาดโลกตึงตัว ประธานบริษัท Mercuria Energy Trading นาย Daniel Jaeggi ระบุว่ามาตรการคว่ำบาตรสหรัฐฯ ต่ออิหร่าน อาจทำให้อุปทานน้ำมันดิบหายไปจากตลาดเกือบ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยผลกระทบขึ้นอยู่กับความรุนแรง และระยะเวลาของมาตรการคว่ำบาตร หากตลาดไม่สามารถจัดหาน้ำมันมาทดแทนเพียงพอ ขณะที่ประเทศในกลุ่ม OPEC มีข้อจำกัดด้านปริมาณการผลิตส่วนเกิน หรือ Spare Capacity ปัจจัยกระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ - ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีมติปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้น 0.25% มาอยู่ที่ 2 - 2.25% เพิ่มขึ้นเป็นครั้งที่ 3 ในปีนี้ และเป็นครั้งที่ 8 ตั้งแต่ Fed ยุตินโยบายผ่อนคลายทางการเงินเมื่อปลายปี พ.ศ. 2558 ขณะเดียวกัน Fed ปรับประมาณการ GDP ของสหรัฐฯ ในปีนี้เพิ่มจากประเมินครั้งก่อนที่ 2.8% เป็น 3.1% - สหรัฐฯ บังคับใช้กำแพงภาษีนำเข้าสินค้าและบริการจากจีน มูลค่า 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และจีนตอบโต้ด้วยการบังคับใช้ภาษีนำเข้าสินค้าและบริการจากสหรัฐฯ มูลค่า 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ พร้อมกันในวันที่ 24 ก.ย. 61 - Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21 ก.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.9 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 396 ล้านบาร์เรล แนวโน้มราคาน้ำมัน ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นเนื่องจากนักลงทุนยังคงวิตกต่ออุปทานน้ำมันโลกอาจตึงตัว จากการที่สหรัฐฯ กลับมาใช้มาตรการคว่ำบาตรต่อภาคอุตสาหกรรมน้ำมันของอิหร่าน ในวันที่ 4 พ.ย. 61 โดยนักวิเคราะห์ อาทิ บริษัท JP Morgan และ ANZ คาดว่าจะทำให้อุปทานน้ำมันอิหร่านลดลง 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากที่เคยส่งออกสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในเดือน พ.ค. 61 ที่ระดับ 2.71 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่ บริษัทค้าน้ำมัน Mercuria คาดว่าอาจลดลงถึง 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ล่าสุดผลสำรวจนักวิเคราะห์ 50 ราย ของ Reuters ในเดือน ก.ย. 61 คาดว่าราคาน้ำมันดิบ Brent ในปี พ.ศ. 2561 เฉลี่ยอยู่ที่ 73.48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล นับเป็นการคาดการณ์สูงสุดในปี พ.ศ. 2561 และเพิ่มขึ้นจากผลสำรวจในเดือน ส.ค. 61 ที่ 72.71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล ควรจับตามองสถานการณ์ความไม่แน่นอนในประเทศไนจีเรีย โดยสหภาพแรงงานปิโตรเลียม 2 แห่ง คือ Petroleum and Natural Gas Senior Staff Association of Nigeria (PENGASSAN) และ Nigeria Union of Petroleum and Natural Gas Workers (NUPENG), บริษัท Chevron ของสหรัฐฯ, และรัฐบาลไนจีเรีย ได้ประชุมหารือกันเพื่อแก้ไขข้อพิพาท หลังจากสหภาพแรงงาน 2แห่ง กล่าวหาว่า Chevron จะปลดพนักงานชาวไนจีเรียนับพันคน และขู่ว่าจะก่อการประท้วงทั่วประเทศ โดยตัวแทน สหภาพ PENGASSAN นาย Lumumba Okugbawa แถลงผลการเจรจาว่า Chevron จะกลับไปหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว และกลับมาเสนอต่อกระทรวงแรงงานไนจีเรีย และมีข่าวทางการเม็กซิโกรายงานปริมาณสำรองปิโตรเลียมของประเทศในปี พ.ศ. 2561 นี้ จะลดลง 7 % อยู่ที่ 8,480 ล้านบาร์เรล เทียบเท่าน้ำมันดิบ (ซึ่งลดลงมากกว่า 40 % ในช่วง 14 ปี ที่ผ่านมา) โดยบริษัทน้ำมันแห่งชาติ Petroleos Mexicanos (Pemex) จะลงทุนเพื่อการสำรวจและผลิต ในปี พ.ศ. 2561 ประมาณ 1,650 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งใกล้เคียงกับปี พ.ศ.2560 อย่างไรก็ดี นาย Jose Antonio Escalera, Chief of Exploration ของ Pemex เห็นว่าอุตสาหกรรมน้ำมันของประเทศเม็กซิโกต้องลงทุนด้านการสำรวจน้ำมัน ประมาณ 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี เพื่อลดการถดถอยดังกล่าวข้างต้น อีกทั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ นาย Donald Trump พูดคุยกับกษัตริย์ Salman ของซาอุดิอาระเบีย เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 61 เรื่องอุปทานน้ำมันโลก เพื่อให้ตลาดน้ำมันมีเสถียรภาพ และเศรษฐกิจโลกเจริญเติบโตในสัปดาห์นี้คาดว่าทางเทคนิค ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 80.0-85.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 70.5-75.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 78.0-83.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อ บาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้น เนื่องจาก บริษัท JXTG Nippon Oil & Energy Corp. มีแผนปิดซ่อมบำรุงหน่วย CDU No. 2 (กำลังการผลิต 90,200 บาร์เรลต่อวัน) ที่โรงกลั่น Mizushima-B (กำลังการผลิต180,200 บาร์เรลต่อวัน) ในญี่ปุ่น ตั้งแต่ต้นเดือน ต.ค. 61 ถึงปลายเดือน พ.ย. 61 ขณะที่ International Enterprise Singapore (IES) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 ก.ย. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 590,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 11.84 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ และ Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่ญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 22 ก.ย. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 410,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 10.07 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม Platts รายงานตลาดน้ำมันเบนซินเอเชียเงียบเหงา เนื่องจากผู้ค้าส่วนใหญ่ชะลอการซื้อขายในช่วงการประชุม Asia Pacific Petroleum Conference (APPEC) ในวันที่ 24-26 ก.ย. 61 ที่สิงคโปร์ และ ผู้ค้าในจีน เกาหลีใต้และญี่ปุ่น หยุดงานในวันที่ 24 ก.ย. 61 เนื่องในเทศกาลกลางฤดูใบไม้ผลิ (Mid-Autumn Festival) ด้านปริมาณสำรอง EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21 ก.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.6 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 235.7 ล้านบาร์เรลสูงสุดในรอบ 2 สัปดาห์ ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 89.5-94.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้น เพราะอุปทานน้ำมันดีเซล Low Sulfur Marine (LSMGO) ในเอเชียตึงตัว เนื่องจากผลกระทบจากพายุไต้ฝุ่น Mangkhut ส่งผลให้การขนส่งหลายเที่ยวเรือไม่สามารถส่งมอบสินค้าได้ตามกำหนด ประกอบกับ Platts รายงานความต้องการใช้น้ำมันดีเซลเพื่อทำความอบอุ่นในยุโรปเริ่มเพิ่มขึ้นจากอากาศเริ่มหนาวเย็น ขณะที่ EIA รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 21 ก.ย. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 2.2 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 137.9 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 3 สัปดาห์ และ PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่ญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 22 ก.ย. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 150,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 9.77 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตาม Petroleum Planning and Analysis Cell (PPAC) ของอินเดียรายงานปริมาณส่งออกน้ำมันดีเซลในเดือน ส.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 14.5% มาอยู่ที่ 682,000 บาร์เรล เนื่องจากเป็นช่วงมรสุมของอินเดียทำให้มีการใช้น้ำมันดีเซล สำหรับการทำเกษตรกรรมลดลง และ IES รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 ก.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 590,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 10.12 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์ ด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 94.0-99.0 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ