มาตรการภาษีเพื่อการจัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทย ตามที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีตามข้อผูกพันที่ได้ทำขึ้น

ข่าวทั่วไป Monday October 8, 2018 16:52 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ต.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2561 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... และร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่กำหนดมาตรการภาษีเพื่อการจัดตั้งสำนักงานเศรษฐกิจและการค้าที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยตามที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีตามข้อผูกพันที่ได้ทำขึ้นโดยมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้ 1. กำหนดให้ใช้อัตราร้อยละ 0 ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม สำหรับการประกอบกิจการการขายสินค้าหรือการให้บริการกับองค์การสหประชาชาติ ทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ สถานเอกอัครราชทูต สถานทูต สถานกงสุลใหญ่ สถานกงสุล องค์การระหว่างประเทศอื่นๆ ที่ประเทศไทยมีพันธกรณีตามความตกลงที่จะต้องให้ผลปฏิบัติเท่าเทียมกับสถานเอกอัครราชทูต องค์การสหประชาชาติ หรือทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ สำนักงานเศรษฐกิจและการค้าที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทย ตามที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ตามข้อผูกพันที่ได้ทำขึ้น ทั้งนี้ เฉพาะการขายสินค้าหรือการให้บริการที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด 2. กำหนดให้ยกเว้นบรรดารัษฎากรประเภทต่างๆ ซึ่งเรียกเก็บตามประมวลรัษฎากรแก่สำนักงานเศรษฐกิจและการค้าที่จัดตั้งขึ้นในประเทศไทยตามที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีตามข้อผูกพันที่ได้ทำขึ้น และเจ้าหน้าที่ของสำนักงานนั้นในส่วนของ (2.1) สถานทำการของสำนักงาน ที่อยู่ของหัวหน้าของสำนักงาน (2.2) ยานพาหนะของสำนักงาน และรถยนต์นั่งส่วนบุคคลของเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน (2.3) เงินเดือน ค่าตอบแทน และค่าเบี้ยเลี้ยงที่เจ้าหน้าที่ของสำนักงานได้รับจากสำนักงาน เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทย ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามข้อผูกพันที่ประเทศไทยมีกับรัฐบาลหรือหน่วยงานของต่างประเทศ มาตรการดังกล่าว จะเป็นการสร้างความสัมพันธ์และส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและการค้าระหว่างรัฐบาลต่างประเทศอันจะส่งผลดีต่อประเทศไทยในการขยายการค้าและเพิ่มการลงทุนระหว่างประเทศต่อไป ศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร. 1161

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ