BGC พื้นฐานแกร่ง เผยยอดจอง IPO นักลงทุนสถาบันเกินความต้องการสูงถึง 16 เท่า

ข่าวหุ้น-การเงิน Wednesday October 10, 2018 11:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ต.ค.--บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส BGC เผยยอดจอง IPO เกินความคาดหมาย ความต้องการจองซื้อหุ้น IPO จากนักลงทุนสถาบันมีมากกว่าหุ้นที่เสนอขาย 16 เท่า ณ ราคาสูงสุดที่ 10.20 บาท สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นในพื้นฐานและศักยภาพการเติบโตที่แข็งแกร่ง ด้วยกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นที่โรงงานราชบุรี รับแนวโน้มบรรจุภัณฑ์แก้วเติบโต บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) หรือ บีจีซี (BGC) ผู้ผลิตและจัดจำหน่าย บรรจุภัณฑ์แก้วรายใหญ่ของประเทศไทย ในเครือบางกอกกล๊าส ได้เสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ไม่เกิน 194.44 ล้านหุ้น โดยมีความต้องการที่ราคาสูงสุด หุ้นละ 10.20 บาท มากกว่าปริมาณหุ้นที่จัดสรรให้ถึง 16 เท่า โดยเปิดให้นักลงทุนจองซื้อในวันที่ 8-10 ต.ค. คาดว่าจะนำหุ้นเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในวันที่ 18 ต.ค.นี้ พร้อมแต่งตั้ง บล. กสิกรไทย เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น IPO โดยมี บล. เคที ซีมิโก้, บล.ไทยพาณิชย์, บล.บัวหลวง และ บล. ทิสโก้ เป็นผู้ร่วมจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย นายศิลปรัตน์ วัฒนเกษตร กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีจี คอนเทนเนอร์ กล๊าส จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ความต้องการจองซื้อหุ้น IPO เกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยยอดจองจากนักลงทุนสถาบัน (Book Building) มีมากกว่าหุ้นที่เปิดให้จองถึง 16 เท่า จากหุ้นที่เปิดให้จองทั้งหมด 194.44 ล้านหุ้น คาดว่าเป็นผลมาจากการที่นักลงทุนเชื่อมั่นในพื้นฐานธุรกิจที่แข็งแกร่งและศักยภาพการเติบโตในอนาคต "BGC ในฐานะผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ยาวนานกว่า 40 ปี มีกำลังการผลิต 3,495 ตันต่อวัน คิดเป็นสัดส่วนการผลิตสูงถึง 39% ของอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์แก้วในประเทศไทย โดยในแต่ละปี BGC มีรายได้มากกว่าหนึ่งหมื่นล้านบาทจากการผลิตบรรจุภัณฑ์แก้ว สัดส่วนรายได้ของ BGC มาจากธุรกิจเครื่องดื่มประเภทเบียร์และเครื่องดื่มไม่ผสมแอลกอฮอล์ รวมกันมากกว่า 70% โดยลูกค้ารายใหญ่มาจากกลุ่มบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ผู้ครองส่วนแบ่งการตลาดเครื่องดื่มเบียร์เป็นอันดับหนึ่ง" นายศิลปรัตน์ กล่าวต่อว่า จุดแข็งของ BGC นอกจากกำลังการผลิตที่พร้อมรองรับความต้องการของลูกค้าแล้ว การที่มีโรงงานผลิตตั้งอยู่ในหลายพื้นที่ที่เป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่ จังหวัดปทุมธานี จังหวัดขอนแก่น จังหวัดพระนครศรีอยุธยา จังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดราชบุรี รวมทั้งหมด 5 แห่ง ส่งผลดีต่อการจัดหาแหล่งวัตถุดิบ การบริหารต้นทุนการขนส่ง และการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าในพื้นที่ต่างๆ ได้อย่างทั่วถึง "ในด้านแผนธุรกิจ BGC คาดการณ์ว่าตลาดบรรจุภัณฑ์แก้วจะมีอัตราการเติบโตสูงตามภาวะการขยายตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาค จึงเตรียมเจาะกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม พร้อมขยายการส่งออกไปยังแถบอาเซียน เช่น ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม รวมถึงคู่ค้าต่างประเทศ เช่น สวิสเซอร์แลนด์ สเปน ออสเตรเลีย แอฟริกาใต้ ศรีลังกา และเกาหลีใต้ เป็นต้น โดยตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนการส่งออกเพิ่มขึ้น จากเดิมที่ตอนนี้มีอยู่น้อยกว่า 10% ช่วยเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจให้เติบโตอย่างแข็งแกร่ง" สำหรับการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ของ BGC ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม ได้รับความสนใจและเชื่อมั่นจากนักลงทุนเป็นจำนวนมาก โดยวัตถุประสงค์การระดมทุนครั้งนี้เพื่อชำระเงินกู้ยืมสำหรับการขยายโรงงานผลิตบรรจุภัณฑ์แก้วแห่งใหม่ในจังหวัดราชบุรี และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการขยายการเติบโตของธุรกิจในอนาคต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ