เที่ยวอุดรแบบเจาะลึก เส้นทางท่องเที่ยวที่เต็มไปด้วยหัวใจ สัมผัสวัฒนธรรมล้ำค่า สินค้าคุณภาพหล่อเลี้ยงชุมชน

ข่าวทั่วไป Tuesday October 16, 2018 13:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ต.ค.--สำนักพัฒนาชุมชน จังหวัดอุดรธานี ตลอดเดือนกันยายนที่ผ่านมา สื่อมวลชนทั่วทั้งประเทศได้สัมผัสประสบการณ์ที่ยิ่งใหญ่จาก โครงการ "แอ่งเล็ก เช็คอิน ทั่วถิ่นอุดรฯ" โดยสำนักพัฒนาชุมชน จังหวัดอุดรธานี ที่ยก 81 ชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี จาก 20 อำเภอ เปิดตัวเชื่อมโยงแอ่งเล็กสู่เส้นทางเมืองรองและเมืองท่องเที่ยวหลัก นำท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ดึงเศรษฐกิจฐานราก สร้างรายได้ให้กับชุมชนฐานราก ซึ่งจากนี้ สิ่งต่างๆจะเป็นหลัก เป็นรากฐานอันแข็งแกร่งให้กับจังหวัดอุดรธานี หากใครอยากเปิดประสบการณ์ใหม่ในจังหวัดอุดรธานี สามารถวางแผนตามเส้นทางเชื่อมเมืองหลักเมืองรองที่ไม่เป็นสองรองใคร สามารถทำได้ถึง 5 เส้นทาง ซึ่งทั้งหมดท่านจะได้สัมผัสวัฒนธรรมอันล้ำค่าของชุมชน สินค้าจากรากหญ้ามากมายที่มีคุณภาพมาตรฐานและยังมีชีวิตจิตใจจากการถักทอปั่นแต่งจากใจของผู้คนในชุมชน เส้นทางที่ 1 เชื่อมโยงอำเภอกุดจับ - อำเภอบ้านผือ - อำเภอน้ำโสม - อำเภอนายูง เส้นทางนี้นักท่องเที่ยวจะได้ชมและชิมถั่วคั่วทรายกุดจับ วัฒนธรรมไทยพวนภูพระบาทบ้านผือ ถ้าบ่อน้ำผุดโสมทองและน้ำตกคำชะโนดอำเภอน้ำโสม และการผจญภัยล่องแกงท่องน้ำตกห้วยช้างพลายและกินข้าวป่าคีรีวงกต อำเภอนายูง ซึ่งการท่องเที่ยวเส้นทางนี้สามารถเชื่อมต่อแหล่งท่องเที่ยวจังหวัดข้างเคียงคือ ปากชมและเชียงคาน จังหวัดเลย และสกายวอร์ค อำเภอสังคม จังหวัดหนองคาย เส้นทางที่ 2 เชื่อมโยงอำเภอประจักษ์ศิลปาคม - อำเภอหนองหาน - อำเภอกู่แก้ว - อำเภอไชยวาน สำหรับเส้นทางนี้นักท่องเที่ยวจะได้แวะชมต้นจำปาพันปี วัดหลวงปู่ก่ำและทะเลบัวแดงที่อุ่มจาน ต่อด้วยบ้านพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นหมู่บ้านต้นแบบชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีและเป็นบ้านที่เป็นต้นกำเนิดของคุณทองโบราณ แวะดูชุมชนทอผ้ามัดหมี่ที่บ้านหนองหลักอำเภอไชยวาน เส้นทางนี้นักท่องเที่ยวสามารถเชื่อมโยงไปต่อที่จังหวัดสกลนคร เส้นทางที่ 3 เชื่อมโยงอำเภอโนนสะอาด - อำเภอกุมภวาปี - อำเภอศรีธาตุ - อำเภอวังสามหมอ เส้นทางนี้เริ่มต้นที่บ้านหนองกุง ตำบลหนองกุงศรี ซึ่งเป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงเป็นฐานการเรียนรู้กลุ่ม OTOP งานผ้ามัดหมี่และผ้าไหม เป็นหมู่บ้านนี้ยังเป็นหมู่บ้านรักษาศีลห้า ต่อด้วยบ้านเชียงแหว อำเภอกุมภวาปี ที่ติดกับทะเลบัวแดง ชุมชนนี้มีผลิตภัณฑ์จากบัวแดงมากมาย เช่น ชาบัวแดง กลุ่มทอฝ้ายสีบัวแดง ส้มตำสายบัว ตำรากบัว และยังมีโฮมสเตย์ให้นักท่องเที่ยวได้อยู่เรียนรู้กับชุมชนอย่างใกล้ชิด ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากปลาชุมชนติดลำน้ำปาว เส้นทางนี้สามารถเชื่อมโยงไปจังหวัดกาฬสินธ์ เส้นทางที่ 4 เชื่อมโยงอำเภอทุ่งฝน - อำเภอบ้านดุง - อำเภอเพ็ญ - อำเภอสร้างคอม เส้นทางนี้จะเริ่มที่บ้านโนนสะอาด ชมศูนย์เรียนรู้จักสานคล้า ผลิตเป็นกระเป๋า ตะกร้า และอีกมากมาย แวะไปบ้านเหล่าหลวงใต้วัดป่าคำเจริญ ที่มี่มีผ้าทอ และงานจักสานมากมาย รวมถึงพานบายศรี เส้นทางคำชะโนดต่อด้วยบ้านสินเจริญ แวะกินปลาไหว้พระวัดป่านาไฮ สักการะพระธาตุเมืองเพ็ญที่ศรีสว่างวงศ์ฟังตำนานของแม่นางเพ็ญวีรสตรีแห่งสันติภาพที่เสียสละเพื่อให้บ้านเมืองอยู่รอด ชุมฝูงนกยูง๒๐๐ ตัวที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติและควายหากินในน้ำแวะบ้านไทย เส้นทางนี้เชื่อมต่อหนองคายที่อำเภอโพนพิสัยและลัดออกสนามกอล์ฟที่หนองสองห้อง อำเภอเมืองหนองคายได้อีกด้วย เส้นทางที่ 5 เชื่อมโยงอำเภอหนองแสง - อำเภอหนองวัวซอ - อำเภอพิบูลย์รักษ์ - อำเภอเมือง เริ่มจากภูฝอยลมลัดมาบ้านผาสิงห์แวะวัดถ้ำสหายและดูกลุ่มหัตถกรรมบ้านผาสิงห์ ไปต่อบ้านหนองแวงพัฒนาดูชุมชนแปรรูปมะม่วงถ้าและน้ำตก เช้าไปบ้านห้วยสำราญ อำเภอเมือง ซึ่งเป็นหมู่บ้านไม้ดอกไม้ประดับที่ใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เข้าเมืองที่บ้านโนนกอก ดูผ้าทอโบราณ และผ้าทอมือย้อมสีธรรมชาติที่มีความงดงามจากผลิตภัณฑ์บัวแดง ผ้ายกดอกขิดแล้วไปดูชุมชนทอผ้าย้อมครามที่บ้านดงยางพิบูลย์ก่อนแวะเข้าอุดหนุนผ้าจากตลาดผ้านาข่าซึ่งสามารถเชื่อมออกจังหวัดหนองคาย จังหวัดอุดรธานี อุดมไปด้วยสถานที่ท่องเที่ยว ธรรมชาติอันสวยงาม และเสน่ห์วัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของวิถีชีวิตคนในพื้นที่ที่มีประวัติศาสตร์เก่าแก่ล้ำค่าไปจนถึงอาหารอาหารท้องถิ่นที่โดดเด่น จากโครงการนี้ จังหวัดอุดรธานีจะพัฒนาต่อยอด จะมุ่งเน้นการสร้างรายได้ให้ชุมชน ด้วยการสนับสนุนสินค้าชุมชนให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน ดึงจุดเด่นของสิ่งที่ชุมชนมีมาต่อยอด พัฒนาการให้บริการและดึงนักท่องเที่ยวมาสัมผัสกับวิถีชีวิต วัฒนธรรมเป็นการเผยของดีและแหล่งท่องเที่ยวที่แอบแฝงของดีอยู่ทั่วทุกชุมชน และสามารถสร้างรายได้จากเส้นทางท่องเที่ยวชุมชน OTOP นวัตวิถีเชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวในอำเภอต่างๆ รอนักท่องเที่ยวมาเยี่ยมชม โครงการนี้จะสามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตและพัฒนาชุมชนให้เติบโตจากฐานรากได้อย่างยั่งยืนตามนโยบายรัฐ นอกจากการนำรายได้เข้าสู่ท้องถิ่นแล้ว โครงการนี้ยังเป็นพื้นฐานสร้างความมั่นคงให้กับชุมชน ผู้คนจากรุ่นสู่รุ่นสามารถทำมาหากินอยู่กับถิ่นฐานได้อย่างมั่นคงและภาคภูมิใจในบ้านเกิด ลดปัญหาการทิ้งถิ่นฐานสู่การหางานในเมืองหลวงและผลักดันชุมชนให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน
แท็ก อุดรธานี   otop  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ